นายทุนชอบเสรีชนชังทายท้าวิชามาร
นายกรัฐมนตรีปรับ ครม. “ประยุทธ์ 4” วันเดียวกับที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ผ่าน สนช.มติเอกฉันท์ ไม่แยแสคนลงชื่อค้าน 3 แสนกว่าคน
นายกรัฐมนตรีปรับ ครม. “ประยุทธ์ 4” วันเดียวกับที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ผ่าน สนช.มติเอกฉันท์ ไม่แยแสคนลงชื่อค้าน 3 แสนกว่าคน
บางคนบอกเผด็จการรัฐสภา เฮ้ย ไม่ใช่ นี่รัฐประหารแล้วตั้ง สนช.มากับมือ เรียกเผด็จการรัฐสภาได้ไง ใช้คำพูดกลับหัวกลับหาง
ครม.ชุดใหม่ดูเหมือนดีที่ไม่เพิ่มทหาร มีแต่นักธุรกิจเอกชนและข้าราชการ แม้มีคำถาม สลับเก้าอี้เพื่ออะไร เอาคนใหม่มานั่ง รมช.พาณิชย์และคมนาคม เอาคนเก่าไป รมต.สำนักฯ เอา รมว.อุตสาหกรรม อดีตปลัดฯ ไปเป็น รมว.วิทยาศาสตร์ เอานักวิทยาศาสตร์ไปเป็น รมว.ดิจิทัล เอาปลัดพาณิชย์ไปนั่ง รมช.เกษตรฯ เอาเหลนกรมพระยาดำรงฯ ไปเป็น รมช.ศึกษาฯ
แต่ก็มีคนแสนรู้ช่วยอธิบายว่านี่แหละ “บูรณาการ” โดยไม่ยักถาม คนเหมาะกว่านี้ไม่มีหรือ ทำไมต้องปรับแบบ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ไม่ให้ใครอกหักผิดหวังเลยสักคน ทั้งที่เห็นอยู่ว่าทำงานไม่ได้ผล
ในภาพรวม ไทยรัฐพาดหัว “เอกชนขานรับ ปรับครม. ภาพดีไม่มีทหาร” หอการค้าไทยยกข้อดีไม่เสียเวลาเรียนรู้งาน สภาอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์มติชน นักลงทุนและภาคเอกชนเกิดความมั่นใจ การโยกคนข้ามกระทรวงเป็นมุมมองที่เฉียบคม ฯลฯ
นี่ไม่แปลกอะไร ตลอด 3 ปี ภาคธุรกิจเอกชนสนับสนุนให้ความร่วมมือรัฐบาลรัฐประหารอย่างแข็งขัน เต็มอกเต็มใจ ทั้งที่เต็มไปด้วยการใช้อำนาจละเมิดสิทธิปิดกั้นเสรีภาพ ใช้ประกาศคำสั่งที่เรียกว่า “กฎหมาย” ปราบปรามคนเห็นต่าง
แต่ดูเหมือนคนจำนวนมากยังพึงพอใจ “บ้านเมืองสงบ ได้ทำมาหากิน” บางคนยังตั้งความหวังว่ารัฐบาลทหาร โดยทีมสมคิด จะวางรากฐานเศรษฐกิจ “ไทยแลนด์ 4.0” ให้รุ่งเรืองโดยไม่ต้องมีประชาธิปไตยในแบบเดียวกับจีน ยิ่งร่างรัฐธรรมนูญผ่าน วางโครงสร้างอำนาจมั่นคง “การเมืองนิ่ง” ไปอีกไม่น้อยกว่า 5 ปี ก็ยิ่งเชื่อมั่น
กระนั้น การบริหารประเทศก็ไม่ง่ายอย่างพูด ปัญหาปากท้องชาวบ้าน นอกจากแก้ไม่ตก หลังปีใหม่ยังน่าจะแย่ลงไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน ขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองยิ่งสั่งสม รัฐทหารผลักคนยืนตรงข้ามมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่นักการเมือง เสื้อแดง นักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ รอบนี้ยังไล่คนรุ่นใหม่ 3 แสนกว่าคนในโลกออนไลน์ ไปเป็น “เหยื่อผู้ไม่หวังดี”
นี่ยังไม่นับ NGO ภาคประชาสังคม ที่เคยไล่ยิ่งลักษณ์ทักษิณมาก่อน กำลังโวยวาย ม.44 ย้าย ผอ.พอช. ยุบสภาพัฒนาการเมือง ขณะที่เรื่องอื้อฉาวอย่างรถเมล์ NGV หรือไทยเบฟจ่ายค่าที่ปรึกษา ผบช.น. ก็ผุดขึ้นมา โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ที่มาจากหอการค้าผู้แข็งขัน) ไม่ทวงถามจริยธรรมสักแอะ
พูดอย่างนี้ไม่ใช่รัฐบาล คสช.จะแย่หรอก ระบอบอำนาจนี้ยังยืนยงอีกหลายปี แต่จะอยู่ท่ามกลางความแตกแยกและการต่อต้านที่กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ
ที่น่าสังเกตคือ ไม่ว่าจงใจหรือไม่ก็ตาม วันนี้ภาพลักษณ์ของภาคธุรกิจเอกชน ผนึกแนบแน่นกับรัฐบาล คสช. แล้วก็กำลังจะถูกต่อต้านไปด้วยกัน เช่น มีคนย้อนไปเอาภาพ 24 เจ้าสัวผนึกรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขึ้นมาประณามมากขึ้นๆ มีคำถามว่า กลุ่มธุรกิจใหญ่ได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.คอมพ์ใช่ไหม ไม่ต่างกับ NGO ตั้งแง่การใช้ ม.44 เขตเศรษฐกิจพิเศษ “เอื้อนายทุน”
พูดอย่างนี้ไม่ได้บอกว่ากระแสต้านถูกไปเสียหมด บางคนอาจเหมาโหล แต่ภาคเอกชนก็ควรทบทวนตัวเองว่าอยากเป็น “ผู้ร้าย” ในความแตกแยกนี้หรือเปล่า
ใบตองแห้ง