พาราสาวะถี อรชุน
มันช่างเป็นความบังเอิญของการสอดคล้องในแง่ข้อมูลจากนักคิดที่แสดงความเห็นในห้วงเวลาที่ต่างกันถึง 6 ปีกว่า คนแรก ประวิตร โรจนพฤกษ์ เขียนบทความไว้ตั้งแต่สมัยสังกัดเนชั่น เมื่อคราวม็อบเสื้อแดงยึดเมืองเมื่อปี 2553 ให้หัวว่า “สงครามชนชั้นความจริงที่สื่อกระแสหลักปฏิเสธ” โดยเขาฉายภาพให้เห็นการเกิดขึ้นและคงอยู่ของม็อบชนชั้นล่างในนามคนเสื้อแดง ณ พ.ศ.นั้น
มันช่างเป็นความบังเอิญของการสอดคล้องในแง่ข้อมูลจากนักคิดที่แสดงความเห็นในห้วงเวลาที่ต่างกันถึง 6 ปีกว่า คนแรก ประวิตร โรจนพฤกษ์ เขียนบทความไว้ตั้งแต่สมัยสังกัดเนชั่น เมื่อคราวม็อบเสื้อแดงยึดเมืองเมื่อปี 2553 ให้หัวว่า “สงครามชนชั้นความจริงที่สื่อกระแสหลักปฏิเสธ” โดยเขาฉายภาพให้เห็นการเกิดขึ้นและคงอยู่ของม็อบชนชั้นล่างในนามคนเสื้อแดง ณ พ.ศ.นั้น
เป็นการชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยนั้นไม่มีความเท่าเทียมทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้ว ไม่ว่า ทักษิณ ชินวัตร จะอยู่หรือไม่ สามเกลออันหมายถึง วีระกานต์ มุสิกพงศ์ จตุพร พรหมพันธุ์ และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จะยังคุมอำนาจนำมวลชนเสื้อแดงได้อีกนานแค่ไหน การตื่นตระหนักของชนชั้นล่างต่อการกดขี่จากกลุ่มชนชั้นนำเก่านั้นมันได้เกิดและไปไกลเสียเหลือเกินแล้ว
ไกลขนาดที่เรียกว่าสถาบันสำคัญบางสถาบันในสังคมไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักอย่างไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่การสิ้นสุดสงครามคอมมิวนิสต์เมื่อหลายทศวรรษที่แล้ว สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่อาจมัวหมกมุ่นเขียนแต่เรื่องทักษิณจนมองไม่เห็นการตื่นทางชนชั้น หรือมิเช่นนั้นพวกเขาก็คงไม่กล้าแม้กระทั่งจะยอมรับว่าสงครามทางชนชั้นได้คุกรุ่นขึ้นแล้ว และคุกรุ่นมาตั้งนานก่อนที่สามเกลอจะประกาศการเริ่มต้นสงครามทางชนชั้นเมื่อเดือนมีนาคมในปีนั้นเสียอีก
ทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างอีลีท ชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างผิวเผินยิ่ง เพราะส่วนใหญ่ความสัมพันธ์จำกัดอยู่ในลักษณะเจ้านายกับลูกน้อง ผู้สั่งกับผู้รับคำสั่ง เป็นได้เพียงแค่คนใช้ แม่บ้าน คนกวาดถนน บ๋อย แท็กซี่ มาร์กกี้ เด็กเดินเอกสาร มอเตอร์ไซค์รับจ้าง โสเภณี ฯลฯ ที่ต้องคอยรับใช้ตอบสนองต่อคำสั่ง จึงไม่น่าแปลกที่ว่าพอชนชั้นกลางกับอีลีทไม่เอาทักษิณแล้ว พวกเขาจึงไม่ลังเลใจที่จะสนับสนุนการจัดการกับทักษิณโดยวิธีการรัฐประหาร ซึ่งเท่ากับเป็นการตบหน้าคนจนเมืองและชนบทฉาดใหญ่
มิหนำซ้ำ คนเหล่านี้ยังเชื่อว่าคนจนนั้นโง่ดักดาน ถูกหลอกซ้ำซากจากคนโกงอย่างนายทักษิณ (ซึ่งก็โกงจริง) เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองเทียบเท่าพวกเขา อย่างไรก็ตาม การบริหารบ้านเมืองภายใต้ชนชั้นนำเก่าและกลุ่มชนชั้นกลางที่มีการศึกษา ก็มิได้ช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจไปแค่ไหนเลยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เทียบไม่ได้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ที่ช่องว่างทางชนชั้นแคบกว่าและสิทธิทางการเมืองของชนชั้นล่างมีมากกว่า
นั่นเป็นบทความของประวิตรเมื่อ 18 มีนาคม 2553 ล่าสุด เอกสิทธิ์ หนุนภักดี ได้เขียนบทความชื่อธรรมกับปีศาจ เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นชี้ให้เห็นว่าในรอบศตวรรษที่ผ่านมา คำถามสำคัญของการเมืองไทยได้มุ่งเข้าสู่คำถามทางธรรมมากขึ้น โดยขยับเปลี่ยนจากการตัดสินใจเลือกระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับระบอบรัฐธรรมนูญ ระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ มาสู่การเลือกระหว่าง “ความดี” กับ “ความชั่ว”
ดังที่จะสังเกตได้ว่าการถกเถียงทางการเมืองสำคัญเกี่ยวกับที่มาและขอบเขตของอำนาจนั้น ท้ายที่สุดมักตัดสินด้วยเกณฑ์ความดีมากกว่าเกณฑ์เรื่อง “ความเป็นธรรมหรือสิทธิเสรีภาพ” พูดง่ายๆ คือคนไทยจำนวนหนึ่งกำลังเสนอว่าเผด็จการที่ดี เป็นทางออกสำหรับปัญหานานาประการในสังคมไทย ทั้งที่เผด็จการมักมีปัญหากับเสรีภาพ
เมื่อมีการหยิบยกประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพเพื่อทัดทานคัดค้านการใช้อำนาจรัฐที่เกินขอบเขต ข้อถกเถียงหลักของเผด็จการคือ ปัจเจกชนควรสละเสรีภาพบางประการเพื่อความสงบสุขของสังคมโดยรวม ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดเผด็จการที่ดีอย่างเหนียวแน่นจำนวนหนึ่ง อาจจะไม่ให้ความสนใจกับเงื่อนไขและที่มาดังกล่าว เนื่องจากไม่สนใจแยกแยะว่าเสรีภาพในการบริโภคอันได้แก่การที่รัฐสนับสนุนการบริโภคประเภทต่างๆ อย่างไร้ขีดจำกัดนั้นแตกต่างจากเสรีภาพพื้นฐานที่มนุษย์มีอย่างไร
ถ้าเปรียบประเด็นนี้กับแนวคิดเรื่องการคิดด้วยตนเอง จากบทความเรื่องอะไรคือการรู้แจ้งของ อิมมานูเอล ค้านท์ หนึ่งในนักปรัชญามีชื่อของโลกแล้ว ค้านท์คงจะตีความเสรีภาพในการบริโภคคล้ายกับการให้โคเทียมแอกกินหญ้าได้อย่างเต็มที่ตราบใดที่ไม่เดินออกจากแอก
ชีวิตสโลว์ไลฟ์ โลกสวย ทุ่งลาเวนเดอร์ ฮิปสเตอร์ ฯลฯ เป็นเสรีภาพด้านการบริโภคที่สอดคล้องกับวิถีเผด็จการ คือการหันเหความสนใจของผู้ถูกปกครองไปยังกิเลสส่วนตัวและชี้ให้เห็นว่าปัญหาชีวิตเป็นเรื่องส่วนบุคคล ที่สามารถหาทางออกได้ด้วยความสามารถส่วนบุคคลที่ตัดขาดความเชื่อมโยงจากระบบเศรษฐกิจการเมือง
เผด็จการจึงต้องการผูกขาดกระบวนการสร้างความหมายอันมีช่องทางการสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญด้วย แม้จะกุมอำนาจเกือบเด็ดขาดในสื่อทางการของรัฐทั้งแบบเรียน วิทยุ โทรทัศน์ตลอดจนเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐ แต่ก็มักหวาดระแวงความหมายนอกคอกที่ไม่จำเป็นต้องผลิตโดยผู้เห็นต่างจากรัฐเพราะความหมายนอกคอกจำนวนมากนั้นบ่อยครั้งผลิตโดยเผด็จการเสียเอง
การผลิตความหมายและสื่อความหมายอย่างพ้นขอบเขตการกำกับของรัฐในยุคโซเชียลมีเดีย จึงเป็นปัญหาของรัฐบาลเผด็จการ ยิ่งรัฐมีความเปราะบางต่อข้อเท็จจริงและความเป็นเหตุเป็นผลมากเท่าใดก็ยิ่งหวาดกลัวช่องทางการสื่อความหมายที่ควบคุมไม่ได้มากขึ้นเท่านั้น
การที่ สนช.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก็เป็นอีกความพยายามหนึ่งของผู้ปกครองที่จะควบคุมความหมายตั้งแต่ต้นทาง ทั้งที่มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยเกือบสี่แสนรายพร้อมด้วยอีกหลายองค์กร วิธีคิดเรื่องการใช้อำนาจละเมิดกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ หรือเขียนกฎหมายให้อำนาจพิเศษแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อผดุงความเป็นธรรมหรือปราบปีศาจนั้นไม่ได้เป็นของใหม่และมีอยู่ในแต่สังคมไทยเท่านั้น
แต่เป็นแนวคิดที่มีมานานแล้วและดำรงอยู่ในสากลโลก เพียงแต่ว่าเหล่าประเทศที่พัฒนาแล้วต่างมีประสบการณ์และได้เรียนรู้ว่าวิธีการดังกล่าวมีต้นทุนต่อสังคมสูง ทว่าในประเทศไทยกว่าจะเรียนรู้ว่าต้นทุนที่จะต้องจ่ายไปนั้นมันสูงขนาดไหน อาจต้องรอให้เกิดหายนะจนยากจะเยียวยาเสียก่อน เพราะชนชั้นล่างที่เรียกว่ารากหญ้านั้นมีได้แค่ความรู้สึกไม่พอใจที่ถูกกดทับไว้ ทว่าก็ไร้พลังและเสียงไม่ดังเท่าชนชั้นอีลิทและชนชั้นกลางที่พร้อมใจกันเมินเฉยต่อข้อกังวลต่างๆ ที่มีคนทักท้วง