ความสำเร็จของตลาดหุ้นพลวัต 2016
ภารกิจหลักอย่างหนึ่งของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ไม่ว่าที่ไหน คือการเติมสินค้าใหม่ๆ เข้ามาในตลาด นอกเหนือจากการพัฒนาระบบงานและสาธารณูปโภคทั้งหลาย เพื่อเอื้ออำนวยให้ตลาดแข็งแกร่งในอนาคต
วิษณุ โชลิตกุล
ภารกิจหลักอย่างหนึ่งของผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ไม่ว่าที่ไหน คือการเติมสินค้าใหม่ๆ เข้ามาในตลาด นอกเหนือจากการพัฒนาระบบงานและสาธารณูปโภคทั้งหลาย เพื่อเอื้ออำนวยให้ตลาดแข็งแกร่งในอนาคต
การระดมทุนของบริษัทจดทะเบียน วัดจากจำนวนบริษัท และมูลค่าเงินที่ระดมทุน บ่งบอกแนวโน้มของตลาดได้ดี ว่าปีหนึ่งๆ ตลาดหลักทรัพย์มีความก้าวหน้าหรือรุ่งเรืองมากน้อยแค่ไหน…เพียงแต่สำหรับผู้บริหารแล้วตลาดหลักทรัพย์ฯมีความหมายมากกว่านั้น
ปีนี้ ผู้บริหารตลาดฯนัดกันมาแถลงล่าสุดวานนี้พร้อมหน้า โดยนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่ามูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ (IPO) ในปี 59 จะอยู่ที่ 155,605 ล้านบาท และประมาณการในปี 60 อยู่ที่ 280,000 ล้านบาท
ส่วนบริษัทจดทะเบียนระดมทุนปี 59 เพิ่มขึ้นถึง 279,344 ล้านบาท ขณะที่ประมาณการในปี 60 อยู่ที่ราว 270,000 ล้านบาท
ในปี 2560 ตลาดหลักทรัพย์ฯคาดว่า จะมีการเติมสินค้าใหม่ ได้ขยายโอกาสสำหรับบริษัทขนาดเล็กโดยเปิดตัวดัชนี sSET Index ที่จะเริ่มเผยแพร่ดัชนีอย่างเป็นทางการ 4 มกราคม 60 และเพิ่มสินค้ายางพาราล่วงหน้า รวมถึงพัฒนาสินค้าใหม่ TFEX Gold-D เพื่อให้ตลาดทุนไทยมีสินค้าเพื่อการลงทุนและบริหารความเสี่ยงที่หลากหลาย ตอบรับความต้องการของทุกกลุ่ม ขณะเดียวกันยังสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการใหม่ (Startup) เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ Startup พบกับแหล่งทุน เดินหน้าต่อยอดพัฒนา platform เพื่อ Startup ในปีหน้า
ในเชิงคุณภาพ ตลอดทั้งปีนี้บริษัทจดทะเบียนไทยได้เข้าคำนวณใน Global index เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย MSCI เพิ่ม 5 บริษัท รวมเป็นทั้งหมด 34 บริษัท และ 7 บริษัทจดทะเบียนไทย คว้า 14 รางวัลยอดเยี่ยมด้านนักลงทุนสัมพันธ์ จากทั้งหมด 24 รางวัลในระดับภูมิภาคอาเซียน จาก IR Magazine Award
สำหรับในปีนี้ ตลาดทุนไทยแสดงศักยภาพแข็งแกร่งต่อเนื่องในระดับภูมิภาค โดยดัชนี SET Index ปิดที่ 1,519.65 จุด สร้างผลตอบแทนเติบโตถึง 17.98% และสภาพคล่องสูงเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ที่ 53,208 ล้านบาท/วัน (ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2559)
ด้านผู้ลงทุน สร้างเสถียรภาพและสมดุลอย่างต่อเนื่อง ในปี 59 สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของผู้ลงทุนบุคคลและสถาบันอยู่ที่ 53% ต่อ 47% โดยมีผู้ลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ (ม.ค.-15 ธ.ค.) มูลค่า 78,264 ล้านบาท สำหรับจำนวนผู้ลงทุนรายย่อยใหม่ (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 79,723 ราย ขณะที่บัญชีซื้อขายอนุพันธ์ใหม่อยู่ที่ 10,785 ราย ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ฯ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม และพันธมิตร ในกิจกรรมให้ความรู้ผู้ลงทุนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงทาง online และ social media
ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ ตลท. เปิดเผยว่า มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) สิ้นเดือนพ.ย. ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 4.24 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตขึ้น 21.5% จากปี 58 ที่มีมาร์เก็ตแคป 3.49 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากในปีนี้มีบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนใหม่ (IPO) และบริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนเพิ่มหลากหลายรูปแบบ ประกอบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.98% ช่วยให้มาร์เก็ตแคปในปีนี้ขยายตัวได้ค่อนข้างมาก
เหตุผลหนึ่งที่โดดเด่นคือ บริษัทจดทะเบียนไทยเองมีความสามารถในการบริหารจัดการ และขยายกิจการไปยังต่างประเทศ จึงเชื่อว่าจะยังมีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำ เพียง 1.1-1.2 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ และมีความสามารถในการลงทุนเพิ่มเติมได้
ด้านนายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาด mai ในปี 60 คาดว่าจะมีบริษัทเข้ามาระดมทุนไม่ต่ำกว่า 15 บริษัท และมีมาร์เก็ตแคปราว 2 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เรียบร้อยแล้ว 5 บริษัท และอีก 10 บริษัทจะยื่นไฟลิ่งในปีหน้า ซึ่งในปีหน้าบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจบริการและอุตสาหกรรม โดยจากนี้คุณภาพของบริษัทจดเบียนจะสูงขึ้น สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของพ.ร.บ.หลักทรัพย์ใหม่ อีกทั้งทางด้านที่ปรึกษาทางการเงินมีดีลในมือกว่า 100 บริษัทที่รอจะเข้าจดทะเบียนกว่า 5-7 ปี ทำให้คุณภาพในการเลือกบริษัทเข้ามาดูแลค่อนข้างสูงขึ้น
ข้อมูลดังกล่าว ล้วนเจตนาคัดสรรเรื่องที่ดีๆ ทั้งนั้น ไม่มีด้านมืดของพัฒนาการมาปรากฏให้เห็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะด้านมืดของตลาด คงไม่มีผู้บริหารตลาดที่ไหนสรรหามาพูดให้เป็นอัปมงคลแก่ตัวเอง
การขาดทุน-กำไรของนักลงทุน รวมทั้งราคาหุ้นเข้าใหม่จะหลุดจองหรือไม่ ไม่ใช่ด้านมืดของตลาด แต่ด้านมืดที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ปริมาณซื้อขายของตลาดที่หดตัวลงเข้าข่าย “ตลาดวาย” ถือว่าเป็นความถดถอยมากที่สุด
ที่ผ่านมาปีนี้ หุ้นใหม่ที่เข้ามาในตลาดทุกรายได้ ไม่เคยมีรายการ “หลุดจอง” ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะแต่ละปีมักจะมีหุ้นที่หลุดจองปรากฏให้เห็นกันเสมอ ถือว่าปีนี้มีความรอบคอบในการตั้งราคาหุ้นจองกันอย่างได้คุณภาพอย่างแท้จริง
สำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่แล้ว ประเด็นที่สำคัญอยู่ที่ว่า หลังจากเข้ามาระดมทุนในตลาดในฐานะบริษัทมหาชนจดทะเบียนแล้ว ชะตากรรมของบริษัทหลังจากการเข้าซื้อขายวันแรกผ่านไปแล้ว ซึ่งถูกตัดสินด้วยผลการดำเนินงานทั้งปกติ และรายได้พิเศษ ซึ่งอยู่ในกำมือของผู้บริหารเป็นสำคัญ มีความหมายสำคัญกว่าตัวเลขทั้งหลายที่ผู้บริหารตลาดนำมากล่าวอ้างเป็นผลงาน
สูตรความสำเร็จของตลาดหุ้นในมุมมองของผู้บริหารตลาด และนักลงทุน ไม่จำเป็นต้องสอดรับหรือไปด้วยกันเสมอไป