พาราสาวะถี อรชุน

ฟัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้อนถามนักข่าวต่อประเด็นกลุ่มคัดค้านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่สภาตรายางผ่านความเห็นชอบรอการบังคับใช้ ด้วยการยกคำว่า “ศีลธรรมอันดี” มาเป็นประเด็นหลัก พร้อมด้วยคำอธิบายต่อว่า ในเมื่อเราเป็นประเทศที่เป็นพุทธเป็นส่วนใหญ่ เขาเขียนคำว่าศีลธรรมอันดี ถ้าทำอะไรผิดศีลธรรมอันดีมันก็คืออะไรล่ะ


ฟัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้อนถามนักข่าวต่อประเด็นกลุ่มคัดค้านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่สภาตรายางผ่านความเห็นชอบรอการบังคับใช้ ด้วยการยกคำว่า ศีลธรรมอันดี” มาเป็นประเด็นหลัก พร้อมด้วยคำอธิบายต่อว่า ในเมื่อเราเป็นประเทศที่เป็นพุทธเป็นส่วนใหญ่ เขาเขียนคำว่าศีลธรรมอันดี ถ้าทำอะไรผิดศีลธรรมอันดีมันก็คืออะไรล่ะ

ศีลธรรมคือความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของประเทศชาติ ถ้าไม่เข้าใจคำนี้ไม่ต้องทำอย่างอื่น แหม! เป็นคำตอบที่อธิบายได้เห็นภาพชัด แต่เมื่อนักข่าวถามกลับไปยังประเด็น พลตำรวจโทศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รับเงินเดือนจากบริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อนำเอาเรื่องศีลธรรมอันดีมาบวกเข้ากับการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังว่า มันน่าจะมีคำตอบที่ดูดีกว่าที่ได้ยิน

โดยท่านผู้นำที่เพิ่งพูดถึงเรื่องศีลธรรมอยู่แหมบๆ รีบโยนไปว่า เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ขอวิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยทุกอย่างต้องว่าไปตามกฎหมาย อ้าว!กรณีนี้นี่แหละเกี่ยวข้องกับศีลธรรมอันดีอย่างเด่นชัด เพราะโดยฐานะผบช.น.ย่อมไม่นำพาตัวเองไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำเมา เพราะต้องเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องสิ่งนี้โดยตรง

หากเป็นเรื่องส่วนตัวแต่มันเกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่ที่ปฏิบัติอยู่ ถ้าเช่นนั้นก็ต้องถามต่อไปว่า ใครเป็นผู้เสนอชื่อให้มาดำรงตำแหน่งนี้ และไม่ได้มีการตรวจสอบประวัติกันให้ถ้วนถี่ก่อนหรือ สุดท้าย จะใช้วิธีว่าให้ลาออกจากตำแหน่งที่รับเงินแล้วนำเงินไปคืนบริษัทที่จ่ายมา หรือนำไปบริจาคมันจะได้จบๆ ไป นี่คือมาตรฐานความดีที่รัฐบาลชุดนี้จะใช้และตะแบงกันอย่างนั้นใช่ไหม

เมื่อผู้มีอำนาจสูงสุดและน่าจะตัดสินใจได้ทันที เลี่ยงบาลีเช่นนี้ คงไม่ต้องไปพูดถึงกระบวนการตรวจสอบของป.ป.ช.ที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยไปยื่นเรื่องให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ติดตามจากบทสัมภาษณ์ของ สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช.แล้วน่าจะพอคาดเดาบทสรุปได้

เมื่อมีผู้ยื่นเข้ามา ทางสำนักงานป.ป.ช.จะสรุปรายละเอียดทั้งหมดว่ามีความผิดเพียงพอตามที่ผู้ร้องเรียนได้ร้องมาหรือไม่ และต้องพิจารณาว่าการเป็นที่ปรึกษามีข้อยกเว้นหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีข้อยกเว้นก็จะต้องดำเนินการตามข้อกฎหมาย โดยเฉพาะฐานความผิดตามมาตรา 103 ที่ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้ใดเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์จำนวนที่ป.ป.ช.กำหนด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาป.ป.ช.ไม่เคยดำเนินการไต่สวนในส่วนที่เป็นค่าที่ปรึกษามาก่อน ส่วนใหญ่เรื่องร้องเรียนที่ได้รับจะมีเฉพาะการรับทรัพย์สินโดยตรง ดังนั้นป.ป.ช.ต้องพิจารณารายละเอียดทั้งข้อกฎหมาย และข้อห้ามทางจริยธรรมก่อน ต้องรอดูต่อว่าบทสรุปว่าด้วยจริยธรรมของป.ป.ช.จะสอดคล้องต้องกันกับมาตรฐานด้านศีลธรรมของท่านผู้นำหรือไม่

พูดถึงร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์ เห็นท่วงทำนองของผู้มีอำนาจแต่ละคนแล้วก็อดที่จะแปลกใจไม่ได้ การเรียกร้องให้กลุ่มแฮกเกอร์หยุดก่อกวนเว็บไซต์และเจาะฐานข้อมูลของหน่วยงานรัฐ มันเสมือนการที่ตำรวจขอร้องโจรว่าอย่าปล้น อย่าลักเล็กขโมยน้อยยังไงยังงั้น ทั้งๆ ที่ตัวเองถือกฎหมาย มีอำนาจและหน้าที่จะต้องจัดการกับผู้กระทำผิด

กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อเห็นว่าแฮกเกอร์คือตัวการบ่อนทำลายความมั่นคง เป็นภัยต่อข้อมูลของภาครัฐและตัวบุคคลที่เก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ ทำไมจึงไม่ใช้กฎหมายที่มีอยู่จัดการให้เด็ดขาด แม้กฎหมายใหม่ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่เท่าที่มีอยู่ก็ต้องสามารถจัดการได้ ทำไมจึงต้องไปอ้อนวอนทำเหมือนว่ากลัวคนกลุ่มนี้

ทั้งๆ ที่ในส่วนของพวกที่กดไลค์ กดแชร์ข้อมูลซึ่งบางรายมีปัญหากับภาครัฐ บางรายดำเนินการไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ทันที มีการจับกุมกันอย่างง่ายดาย จึงทำให้หลายกรณีถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่บังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียม นี่คือความเป็นจริงที่เป็นภาพสะท้อนว่า ความสำคัญในการจัดการเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่ว่า ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นได้ดำเนินการอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรมหรือไม่ต่างหาก

ยิ่งคำอธิบายของ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ในฐานะที่ยกมือผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่อ้างว่ามีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแลเรื่องนี้ก่อนจะคลอดมาเป็นกฎหมาย จึงอยากให้ฝ่ายเห็นต่างถ้ามีข้อสงสัยก็ให้เข้ามาคุยกัน คำถามที่เกิดขึ้นแล้ววันที่เขาหอบ 360,000 รายชื่อไปยื่นคัดค้าน ทำไมจึงไม่ส่งผู้ทรงคุณวุฒิที่ท่านว่ามารับเรื่องแล้วก็นั่งคุยกันให้มันกระจ่างชัดจนสิ้นสงสั

การมาพูดไล่หลังแล้วอ้างโน่นอ้างนี่มันจึงไม่ใช่วิถีที่พึงกระทำ หรือหากเห็นว่าไม่อยากให้เกิดการเผชิญหน้า ถ้าเช่นนั้นสิ่งที่กลุ่มคัดค้านได้ยื่นไป ท่านก็จัดให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่กล่าวอ้างมาตั้งโต๊ะแจกแจงเป็นรายข้อตามที่เขาสงสัย เท่านี้ก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ไม่ใช่ใช้วิธีการตะแบงแล้วยกข้ออ้างสารพัด แต่หากคิดว่าทุกอย่างมันต้องเด็ดขาดตามวิถีเผด็จการก็ไม่ต้องออกมาแก้ต่างแก้ตัวใดๆ

วันที่ท่านผู้นำตีหน้ายักษ์ขู่ข้าราชการระหว่างการมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณ หากการเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับสีน้ำเงินช่วงเตาปูน-บางซื่อไม่มีความคืบหน้า จะต้องเข้าไปจัดการให้เด็ดขาด ถามต่อว่าท่านจะเล่นงานใคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหูกวางหรือเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่รับมอบนโยบาย

ความจริงเหตุแห่งความล่าช้าน่าจะรู้กันดี ปัญหามันอยู่ที่ว่าเจ้ากระทรวงผู้มีอำนาจเต็มได้ดำเนินการอย่างที่ควรจะเป็นแล้วหรือไม่ ไม่ใช่เอาแต่อ้างว่าสมัยนั่งเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์เคยบอกแล้วให้สร้างสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายก่อนแล้วค่อยสร้างสายสีม่วง วันนี้เลยเป็นปัญหาอย่างที่เห็น สรุปแล้วท่านจะย้อนกลับไปหาอดีตแล้วไม่แก้ไขปัจจุบันเลยใช่ไหม

หากเป็นไปอย่างที่ประกาศิตที่ท่านผู้นำว่าไว้จริง ต้องเชือดให้เห็นเป็นตัวอย่าง แต่คนที่กระทรวงหูกวางกลับมองเป็นอีกแบบ เพราะคนที่ถูกสังเวยกลับเป็นรัฐมนตรีช่วยจากปมรถเมล์เอ็นจีวี ส่วนคนที่สมควรจะโดนเพราะมีหลายเรื่องไม่ใช่แต่กรณีส่วนเชื่อมต่อรถไฟฟ้า เนื่องจากช้าไปเสียทุกเรื่อง กลับอยู่ต่อแบบสบายๆ เพราะอะไรหากไปดูสายสัมพันธ์อันเป็นเรื่องส่วนตัวและครอบครัวจะพบคำตอบที่ชัดเจน

Back to top button