พาราสาวะถี อรชุน

ยังคงปฏิบัติการต่อเนื่องสำหรับกลุ่มแฮกเกอร์ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของสนช. ล่าสุด เป็นคิวของกระทรวงการต่างประเทศตามคำกล่าวอ้างของ แฮกเกอร์ในนาม Anonymous ที่ระบุว่า ได้แฮกข้อมูลบัตรประจำตัวของเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศและเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศกว่า 3,000 รายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ยังคงปฏิบัติการต่อเนื่องสำหรับกลุ่มแฮกเกอร์ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของสนช. ล่าสุด เป็นคิวของกระทรวงการต่างประเทศตามคำกล่าวอ้างของ แฮกเกอร์ในนาม Anonymous ที่ระบุว่า ได้แฮกข้อมูลบัตรประจำตัวของเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศและเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศกว่า 3,000 รายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่ทางฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือปอท.ยังไม่ขยับดำเนินการเอาผิดหรือไล่ล่าจับกุมกลุ่มก่อเหตุดังกล่าว โดยระบุว่าจะต้องรอให้เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายคอมพิวเตอร์ 2550 ซึ่งยังไม่มีผู้เสียหายร้องเรียนเข้ามาและยังไม่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา

ปัญหาของเรื่องดังกล่าวก็คือ ในเมื่อผู้มีอำนาจอ้างว่าการแก้ไขกฎหมายคอมพิวเตอร์เพื่อที่จะปกป้องการถูกล้วงข้อมูลทั้งของภาครัฐและเอกชนรวมถึงประชาชน แต่ผลจากการลงมือของกลุ่มต่อต้านผ่านแฮกเกอร์แล้วพบว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถจับมือใครดมได้หรือจะมีแผนอะไรก็ตามในการป้องกันกลุ่มที่เคลื่อนไหวดังกล่าว

ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมใหม่หมาดอย่าง พิเชฐ ดุรงควิโรจน์ ที่บอกว่าสังคมไม่ต้องการแฮกเกอร์ป่วนเว็บไซต์รัฐและการกระทำดังกล่าวเป็นแค่ยุงกัด ก็หวังว่ามันจะเป็นเช่นนั้น คงไม่ขยายผลบานปลายจนกลายเป็นว่าข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงานรัฐถูกล้วงความลับและกระทบต่อการบริหารงาน

ส่วนที่ออกมาเรียกร้องอีกรายคือ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.โดยสื่อสารกับฝ่ายต่อต้านว่าขอให้กฎหมายบังคับใช้ไปก่อนแล้วค่อยแก้ไข ซึ่งตนจะเป็นผู้รับหน้าที่ในการประสานเพื่อให้เกิดการแก้ไขดังกล่าว ยิ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ท่วงทำนองดังกล่าวก็เท่ากับว่าเป็นการยอมรับกฎหมายฉบับนี้มีปัญหา

ถ้ายืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้มีความถูกต้อง โปร่งใสและเป็นประโยชน์แก่ส่วนร่วม ไม่จำเป็นที่รองประธานสนช.จะต้องแสดงท่าทีใดๆ เมื่อออกมาในลักษณะเช่นนี้นั่นย่อมหมายความว่า ยังมีข้อบกพร่องอยู่จึงจะต้องได้รับการแก้ไข แล้วเหตุใดจึงไม่ยืดเวลาในการพิจารณาของสมาชิกสนช. ปล่อยให้เกิดการถกเถียงจนตกผลึกแล้วค่อยยกมือหนุนมันน่าจะดูสง่างามกว่ามิใช่หรือ

การเร่งรีบดำเนินการด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ จึงไม่เห็นความจำเป็นที่คนอย่างสุรชัยจะต้องมาเรียกร้องให้ฝ่ายต่อต้านหยุดเคลื่อนไหวและรับปากจะแก้ไขให้ สุดท้ายการทำหน้าที่เช่นนี้ก็หนีไม่พ้นข้อครหา “สภาตรายาง” ไม่รับฟังเสียงของฝ่ายเห็นต่างและไร้การอภิปรายทักท้วงหรือคัดค้านเพื่อให้เกิดความรอบคอบ อย่างที่บอกงานถนัดที่ทำกันเป็นประจำคือเยินยอผู้มีอำนาจและยกมือผ่านกฎหมายตามใบสั่ง

ผลการปฏิบัติงานของสนช.จากร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์ยังเกิดแรงกระเพื่อมตามมา ล่าสุด ทางฟากฝั่งของสปท.ที่เร่งดำเนินการโปรโมตผลงานการสร้างสรรค์การปฏิรูปกันยกใหญ่ ก็ทำท่าว่าจะมีปัญหาอยู่เหมือนกับยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ

เพราะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านด้วยการยื่นหนังสือทักท้วงพร้อมเสนอร่างปฏิรูปวงการสื่อไปประกบของ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ เนื่องจากทั้งหมดเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้อยู่บนพื้นฐานหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่เน้นการควบคุมสื่อมวลชนโดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน

เป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยอิสระ และปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ เนื้อหาสาระของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อในอนาคตจะต้องยื่นขอใบอนุญาตในการประกอบอาชีพ และมีคณะกรรมการที่มี 4 ปลัดกระทรวงเข้ามาเป็นกรรมการ ซึ่งเท่ากับมอบอำนาจให้รัฐเข้ามาแทรกแซง

นอกจากนั้น กรรมการชุดนี้ยังมีอำนาจที่จะให้หรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพสื่อ ซึ่งเป็นเรื่องของการขัดสิทธิเสรีภาพ จะว่าไปแล้ว 6 องค์กรวิชาชีพสื่อน่าจะตระหนักในเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ 10 กว่าปีที่ผ่านมาแล้ว เพราะมันได้เกิดกระบวนการนำเสนอข้อมูลสารบิดเบือน ผิดเพี้ยน ไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานของหลักการ จริยธรรมและจรรยาของสื่ออย่างแท้จริง

เนื้อหาสาระที่มีการนำเสนอนั้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามุ่งโจมตีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่ตัวเองเกลียด หรืออีกด้านก็เป็นเครื่องมือของฝ่ายผู้มีอำนาจที่ทำตัวเป็นอีแอบอยู่เบื้องหลัง กลายเป็นสื่อเลือกข้างอย่างชัดเจน ไม่เว้นแม้กระทั่งคนที่เขียนการ์ตูนล้อการเมือง เรื่องเช่นนี้หากองค์กรวิชาชีพได้ตระหนักกันอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงของการเกิดวิกฤติแล้วก็คงไม่มีใครหน้าไหนที่จะสะเออะมาวุ่นวาย เรียกร้องให้ปฏิรูปได้

ความเป็นจริงอีกประการก็คงหนีไม่พ้นผู้บริหารองค์กรวิชาชีพสื่อเองนั่นแหละ ที่ไม่ได้ตัดสายสัมพันธ์ส่วนตัวหรือความเชื่อมโยงกับอำนาจบางอย่าง มิหนำซ้ำ หลังการรัฐประหารยังเข้าไปรับตำแหน่งจากอำนาจที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง เมื่อเลือกที่จะเป็นกลางกระเท่เร่เสียอย่างนั้น มันย่อมถูกคนที่เขามองไม่เห็นหัวและมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดูแคลนและพร้อมที่จะกระทำย่ำยีได้ตลอดเวลา

เราจะเห็นได้จากอารมณ์ด่ากราดของผู้มีอำนาจหลายรายที่สะท้อนให้เห็นว่า สื่อเป็นตัวปัญหา เป็นการดูถูกดูแคลนกันต่อหน้าสาธารณชน มองไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญ ถึงขั้นมีการขู่จะปฏิรูปกันเช้าเย็น เพียงแต่ว่าช่วงที่ผ่านมาบรรดาผู้บริหารองค์กรวิชาชีพสื่อไม่ได้ตระหนักหรือให้ความสนใจเท่านั้นเอง หรือจะเป็นเพราะอคติมันบังตา

ประเด็นเรื่ององค์กรวิชาชีพสื่อนั้น ไม่ได้พูดเฉพาะหนนี้แต่ตลอดระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมาได้กระทุ้งกันมาโดยตลอด หากไม่ยึดโยงเอาความถูกต้อง เป็นกลางเสียแล้ว สักวันจะต้องถูกผู้มีอำนาจ (ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) ที่มองไม่เห็นคุณค่าเข้ามาจัดการ แล้ววันนั้นก็มาถึง ต้องตามลุ้นกันต่อไปว่าบทสรุปสุดท้ายมันจะเหมือนกฎหมายคอมพิวเตอร์หรือเปล่า หรือเอาเข้าจริงมันก็แค่ปาหี่ที่รอการเกี้ยเซียะกันก็เท่านั้น 

Back to top button