ใกล้จบพักฐานพลวัต 2016
แม้ว่ามูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยวานนี้จะหดบางลงตามเทศกาลใกล้วันหยุดยาวสิ้นปี เพราะต่างชาติพักยาวกัน แต่การที่ดัชนี SET วานนี้ ปิดลบเพียงเล็กน้อยและมีความพยายามรีบาวด์กลับระหว่างวันหลายระลอกแต่ไม่ได้ผลดีนัก แต่ก็ส่งสัญญาณทางเทคนิคชัดเจนแล้วว่า การพักฐานที่เหนือแนวรับ 1,500 จุดเริ่มสิ้นสุดลงแล้ว เหลือแต่การพลิกกลับขึ้นไปในลักษณะที่เรียกว่า breaking out (ผ่าทางตันกลับขั้ว)
วิษณุ โชลิตกุล
แม้ว่ามูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยวานนี้จะหดบางลงตามเทศกาลใกล้วันหยุดยาวสิ้นปี เพราะต่างชาติพักยาวกัน แต่การที่ดัชนี SET วานนี้ ปิดลบเพียงเล็กน้อยและมีความพยายามรีบาวด์กลับระหว่างวันหลายระลอกแต่ไม่ได้ผลดีนัก แต่ก็ส่งสัญญาณทางเทคนิคชัดเจนแล้วว่า การพักฐานที่เหนือแนวรับ 1,500 จุดเริ่มสิ้นสุดลงแล้ว เหลือแต่การพลิกกลับขึ้นไปในลักษณะที่เรียกว่า breaking out (ผ่าทางตันกลับขั้ว)
การวิ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากราคาน้ำมัน ตามมาด้วยราคายางพารา ทองแดง อะลูมิเนียม สังกะสี ดีบุก น้ำตาล ฝ้าย กาแฟ ถั่วเหลือง และน้ำส้ม สะท้อนภาพการฟื้นตัวของกำลังซื้อในชาติส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นสัญญาณบวกชัดเจนในปีหน้าขึ้น เป็นสถานการณ์ของอุปสงค์และอุปทานของตลาดอย่างที่เลี่ยงไม่พ้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าว บ่งบอกล่วงหน้าว่า ตลาดหุ้นในระยะยาวจะต้องเป็นขาขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความเสมอไปว่า ภาวะ breaking out จะเป็นจังหวะที่ทำให้ตลาดเป็นขาขึ้นอย่างฉับพลันยาวนาน แต่บางครั้งหมายถึงเพียงแค่ การถอนหายใจชั่วคราวของตลาดขาลงตามปกติก็ได้
โดยทั่วไปแล้ว ในยามที่ตลาดพักฐานหรือปรับฐานลง ดัชนีหรือราคาหุ้นจะดูดซับข่าวร้ายมากขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง จนกระทั่งแรงขายแทบหมดหน้าตักเข้าเขตขายมากเกิน แรงซื้อจะกลับมาโดยอัตโนมัติไม่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานปัจจัยของตลาดหรือคุณภาพของสินค้าหรือหลักทรัพย์แต่อย่างใด
ในทางกลับกัน หากเป็นตลาดขาขึ้น แรงซื้อที่มากเกินจากภาวะ breaking out สัญญาณทางเทคนิค จะเข้าสู่เขตซื้อมากเกินเร็วกว่าปกติเสมอ ซึ่งนักลงทุนที่ชาญฉลาดจะต้องตัดสินใจขายเมื่อมีกำไรโดยไม่ต้องสนใจราคาสูงสุดคือ margin of safety ที่ดีสุดตามสูตรของเบนจามิน แกรห์ม แต่ก็จะมีนักลงทุนจำนวนหนึ่งที่หลงระเริงจะกลายเป็นแมงเม่าปีกหักง่ายดายมาก กว่าจะรู้ตัวเงินหน้าตักก็ไม่เพียงพอให้แก้ตัวใหม่ เว้นแต่จะตัดขาดทุนขายที่ติดเอาไว้บางส่วน
เดือนเศษที่ผ่านมา นักลงทุนในสหรัฐพากันแสดงความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่า โดนัลด์ ทรัมป์และทีมงาน จะสามารถกลับมาสร้างความคึกคักให้กับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจสหรัฐครั้งใหม่ โดยเฉพาะการใช้นโยบายการคลังทุ่มเงินสร้างสาธารณูปโภคที่จะทำให้เกิดผลพวงตามมาเป็นห่วงโซ่เศรษฐกิจเต็มที่หลายทอด
แนวทางดังกล่าว เคยประสบความสำเร็จในยุคของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกนมาแล้วในเวลาประมาณ 30 ปีก่อน ที่เรียกกันว่าเรแกนโนมิกส์ ก่อนที่จะทิ้งปัญหาตามหลังให้แก้มากมาย รวมทั้งสร้างความปั่นป่วนให้ชาวโลกจากการแข็งค่าของดอลลาร์
เรแกนโนมิกส์ (ที่โดนัลด์ ทรัมป์ มีท่าจะตามรอย จนมีคนเรียกว่า ทรัมโปโนมิกส์ Trumponomics) คือ นโยบายเศรษฐกิจแบบซัพพลายไซด์ (supply-sided economics) ที่เน้นการสร้างอุปทานเพื่อขับเคลื่อนอุปสงค์ของตลาดสินค้าและบริการ ด้วยมาตรการหลัก 2 ด้านพร้อมกัน คือ 1) ลดภาษีธุรกิจและคนรวย (แต่อ้างว่าลดให้คนชั้นกลางเป็นหลัก) 2) ผลักดันให้มีผู้ว่าการเฟด “สายเหยี่ยว” ออกมาตรการดันดอกเบี้ยสูง เพื่อให้ดอลลาร์แข็งค่าเพื่อรักษาความได้เปรียบทางการเงินของตลาดเงินและวอลล์สตรีท ด้วยข้ออ้างเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อที่รุนแรง ทำให้เงินทุนทั่วโลกไหลกลับเข้าสหรัฐเพื่อทำแครี่ เทรด
ความมั่นใจดังกล่าว ทำให้ดัชนีดาวโจนส์วิ่งบวกขึ้นจนเกือบจะทะลวงแนวต้านเหนือ 20,000 จุดไปแล้ว หากไม่ใช่เพราะมี “จิ้งจกร้องทัก” จาก มอร์แกน สแตนเลย์ วาณิชธนกิจชื่อดังที่มีนักวิเคราะห์ออกมาเตือนว่า ความเชื่อมั่นเกินเหตุอาจจะเป็นมายาคติปกติของตลาดที่ว่า คำมั่นสัญญาของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ให้ไว้มากมายกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะบรรลุเป้าหมายทั้งหมด ทั้งที่หากพิจารณาจากเหุตผลและข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติของการเมืองสหัรฐและของโลกแล้ว หากทีมงานของทรัมป์ จะทำได้แค่ครึ่งเดียวก็ยังเป็นคำถามแล้วว่าจะบรรลุได้หรือไม่
ในทางกลับกัน นักวิเคราะห์หลายสำนักก็ยังคงระบุตรงกันว่า ไม่ควรละเลยตลาดเอเชีย (นอกเหนือจากตลาดญี่ปุ่น) ที่จะยังคงมีความโดดเด่นต่อไป โดยเฉพาะ 4 ตลาดในเอเชียคือ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และอินโดนีเชีย เป็นตลาดที่มีเสน่ห์น่าเข้าลงทุนมากสุดในปี 2017 ทั้งในปัจจัย 1) ค่าเงินที่ต่ำเกิน 2) ราคาพันธบัตรที่มีโอกาสขึ้น 3) นโยบายภาครัฐที่ดี และ 4) ตลาดหุ้นที่ยังมีราคาต่ำโดยเปรียบเทียบ
ข้อมูลดังกล่าว แม้ไม่พูดถึงตลาดหุ้นไทยเลย แต่หากมองจากข้อเท็จจริงที่ว่า พื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยนั้น ยังคงแข็งแกร่ง และมีสภาพเป็นกันชนรองรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกได้ดี ก็น่าจะมีแรงดึงดูดทุนข้ามชาติต่อไป
มุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสัปดาห์นี้ แม้จะยังคงแสดงความระวังระไวกับความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก โดยมีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% อย่างผ่อนปรนต่อเนื่อง เพื่อรับมือความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายเศรษฐกิจชาติอุตสาหกรรมหลัก ที่ส่งผลต่อทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยน
ในมุมมองที่ระวังระไวดังกล่าว กนง.ยังคงมองโลกในเชิงบวก โดยได้คงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าไว้ที่ 3.2% จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกปรับตัวดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้
ในอีกมุมหนึ่ง คณะรัฐมนตรีก็ยังคงเชื่อมั่นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ในปี 2560 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยอาจจะอยู่ในกรอบ 3.5-4% เนื่องจากจะมีการลงทุนของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 รถไฟทางคู่ ทางหลวงและมอเตอร์เวย์ และรถไฟฟ้า จะทำให้เงินทยอยลงสู่ระบบอย่างแท้จริง
ด้านหอการค้าไทยประเมินทิศทางเศรษฐกิจในปีหน้า ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเล็กน้อยจากปีนี้อยู่ในกรอบ 3.5-4.0% ส่วนการส่งออกในปีหน้าก็อาจจะขยายตัวในกรอบ 0-2% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากมาตรการสนับสนุนความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ
แม้มุมมองในภาพรวม อาจจะไม่ได้ชี้ชัดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะถึงเวลาขาขึ้นไปกี่มากน้อย แต่มุมมองและข้อมูลเชิงบวก น่าจะทำให้ตลาดหุ้น ผ่านช่วงเวลาทดสอบความอึดทางจิตวิทยาของนักลงทุน ในยามไซด์เวย์อัพ ซึ่งสามารถจะเกิดปรากฏการณ์ breaking outที่นักลงทุนทุกคนต้องทำความเข้าใจและรู้ให้เท่าทัน