พาราสาวะถี อรชุน
กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองได้รับการแก้ไขตามข้อเรียกร้องของพรรคการเมืองในส่วนที่เป็นกระพี้ เช่น เงื่อนไขระยะเวลาในการสรรหาสมาชิกของพรรคการเมือง เม็ดเงินในการบริจาคหรือระดมทุนตั้งพรรค จนถูกค่อนขอดจากฝ่ายการเมืองว่าเป็นการแก้แบบเสียมิได้ แค่พอเป็นพิธี อย่างน้อยก็ให้สังคมรับรู้ว่า ทำตามที่มีการเสนอมาแล้ว
กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองได้รับการแก้ไขตามข้อเรียกร้องของพรรคการเมืองในส่วนที่เป็นกระพี้ เช่น เงื่อนไขระยะเวลาในการสรรหาสมาชิกของพรรคการเมือง เม็ดเงินในการบริจาคหรือระดมทุนตั้งพรรค จนถูกค่อนขอดจากฝ่ายการเมืองว่าเป็นการแก้แบบเสียมิได้ แค่พอเป็นพิธี อย่างน้อยก็ให้สังคมรับรู้ว่า ทำตามที่มีการเสนอมาแล้ว
ขณะที่กฎหมายลูกว่าด้วยกกต. ทำท่าว่าสิ่งที่ 5 เสือยื่นเงื่อนไขจะไม่ได้รับการตอบสนอง วาระสำคัญคือ ขอให้ทบทวนการมีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทนกกต.จังหวัด ล่าสุด ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ออกมายืนยันอย่างไรเสียก็ต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพราะดีกว่ากกต.จังหวัด หากจะมีการแก้ไขก็จะเป็นเพียงแค่รายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น
ทั้งหลายทั้งปวงอย่างที่บอกเงื่อนไขของกฎหมายที่จะนำมาบังคับใช้ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญจนไปถึงกฎหมายลูกมันถูกล็อกไว้ด้วยมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 นั่นหมายความว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามธงที่คณะผู้ยึดอำนาจได้วางหมากเกมไว้หมดแล้วเท่านั้น จะบิดเบี้ยวหรือเต้นตามเสียงทักท้วงใดๆ ไม่ได้
เมื่ออ้างกติกาตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำให้ต้องเขียนรัฐธรรมนูญตามนั้น เมื่อมาร่างกฎหมายลูกก็ต้องอ้างมาตราที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดซึ่งก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนด นี่แหละที่ วิษณุ เครืองาม บอกว่าลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ ทุกอย่างมันถูกวางไว้ให้เป็นไปตามความปรารถนาของผู้มีอำนาจอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าข้อเสนอของฝ่ายใดจะมีเหตุผลหนักแน่นแค่ไหน ก็ยากที่จะได้รับการตอบสนอง
นั่นเป็นเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญกับกฎหมายลูก มันเป็นสิ่งที่ปรับแก้อะไรไม่ได้ แต่กรณีของกฎหมายคอมพิวเตอร์ ไม่ได้มีระเบียบ กติกาอะไรเป็นเงื่อนไขให้ต้องเดินตาม นั่นหมายความว่า เสียงทักท้วงของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยจึงต้องเป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการยกมือผ่านกฎหมายอย่างสนช.จะต้องรับฟัง ขีดเส้นใต้ให้เข้าใจกันชัดๆ อีกครั้ง กลุ่มเคลื่อนไหวคือกลุ่มคัดค้านไม่ใช่กลุ่มต่อต้านไม่เอากฎหมายฉบับนี้
เพราะสิ่งที่เขาเรียกร้องนั้น ไม่ได้บอกว่ากฎหมายคอมพิวเตอร์ไม่ดีและไม่ยอมรับ หากแต่เขามองเห็นช่องโหว่และการใช้ถ้อยคำที่จะมาบังคับใช้มันถูกทำให้ตีความกว้างเกินไป ซึ่งฝ่ายผู้มีอำนาจไม่ได้ตอบในประเด็นนี้ มีแต่ยืนยันหัวชนฝาว่าทุกอย่างเป็นประโยชน์ ขอให้กฎหมายได้บังคับใช้ไปก่อน แล้วค่อยมาเสนอแก้ทีหลัง นั่นยิ่งตลกสิ้นดี เพราะหากกฎหมายมันดีจริง แล้วทำไมจะต้องแก้ไขอีก นี่แหละตรรกะย้อนแย้งแจ่มชัด
หากเห็นว่าฝ่ายคัดค้านมีเบื้องหลัง ก็แฉกันมาให้ชัดว่าใครคอยบงการ แต่คำถามที่ชวนกระตุกสำนึกความผิดชอบชั่วดีของผู้มีอำนาจก็คือ คนอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ไม่เห็นด้วยเช่นกันว่ามีเบื้องหลังหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ออกมาเตือนให้ผู้มีอำนาจและฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยเหตุผลที่น่ารับฟัง
อยากเห็นกฎหมายคอมพิวเตอร์มีการมารับฟังความคิดเห็นของคนที่ไม่เห็นด้วย อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องการบิดเบือน อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่ให้มองว่าข้อห่วงใยของคนที่คัดค้านจำนวนมากซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีต่อปัญหาว่าจะมีการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขตหรือไม่ จะแก้ไขกันอย่างไร ทักท้วงเช่นนี้จะเป็นการเตือนด้วยความหวังดีมากกว่าให้ร้าย
หรือหากยังเห็นว่าความเห็นของอภิสิทธิ์ก็ยังเจือปนกลิ่นอายการเมือง ถ้าเช่นนั้นลองฟังข้อคิดจาก นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีไอซีทีที่บอกว่า การสร้างความรู้ความเข้าใจและการยกระดับบุคลากรด้านไอซีทีทุกระดับ รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกใช้บริการของมืออาชีพเพื่อรับผิดชอบเรื่องนี้
ต้องยอมรับว่ามีการตั้งคำถามอยู่พอสมควรเมื่อรัฐบาลตีปี๊บป่าวประกาศว่า Digital Economy จะเป็นเครื่องมือวิเศษในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และท่านผู้นำสูงสุดพูดเรื่อง Thailand 4.0 หลายครั้ง แต่สภาพข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่เราเห็นยังห่างไกลความเป็นจริงแบบไม่น่าเชื่อ ในขณะที่ผู้มีอำนาจป่าวประกาศว่ากำลังวางแผนพาประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 แต่เชื่อหรือไม่ว่าเรายังเห็นการประชุมของทางราชการเกือบทุกระดับแจกเอกสารต่างๆ กองเต็มโต๊ะไปหมด
ทั้งที่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและลงทุนเปลี่ยนชื่อกระทรวงไอซีที เราไม่น่าจะเห็นภาพเหล่านี้อีกแล้ว การทำงานแบบ Analog ที่สวนทางกับนโยบาย Digital เช่นนี้นี่เองที่กลายเป็นคำถามว่า ผู้บริหารประเทศทั้งหลายมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้มากแค่ไหน ท่านผู้มีอำนาจที่เป็นผู้กำหนดนโยบายเพื่อพาคนไทยทั้งประเทศเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลมีความจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้บ้าง เพราะสิ่งที่ท่านประชุมถกแถลงนั้นเป็นเรื่องของโลกยุคใหม่ทั้งสิ้น
ลองนึกภาพตามก็แล้วกัน ถ้าเรากำลังคุยกันเรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรมด้านการเงินผ่านทางออนไลน์ แต่คนที่ต้องตัดสินใจไม่เคยใช้ Internet Banking, Mobile Banking หรือแม้แต่ PayPal ส่วนคนที่ต้องตัดสินใจเรื่องนโยบายการทำธุรกิจออนไลน์ก็ไม่เคยรู้จัก eBay, Amazon, AliExpress หรือเจ้าอื่นๆ ประชุมหารือกันเพราะกังวลการก้าวเข้ามาของธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ แต่ไม่เคยจองตั๋วเดินทางที่พักออนไลน์ ไม่เคยใช้ Uber, GrabTaxi
ถกเถียงกันว่าจะมีนโยบายทำงานร่วมกันแบบบูรณาการอย่างไร แต่ตัวท่านไม่เคยใช้ Google Calendar, Collaboration Tools, Skype, LinkedIn แต่เดี๋ยวนี้อาจดีขึ้นมาหน่อย เพราะ Line กับ Facebook คงช่วยท่านได้บ้าง ไม่เคยอ่าน eBook ไม่เคยอ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ไม่เข้าใจว่า PDF คืออะไร ข้อนี้คงไม่ต้องสงสัย เพราะประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ใช้กระดาษเปลืองเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
บทสรุปที่น่าสนใจของอดีตรัฐมนตรีไอซีทีรายนี้ก็คือ หากรัฐบาลยืนยันจะบังคับใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ฉบับนี้โดยไม่ฟังเสียงจากประชาชน ก็เชื่อได้ว่าผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและผู้ที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องเกิดความขัดแย้งวุ่นวายขึ้นในอนาคตแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว ถ้าไม่เชื่อก็คอยดูกันต่อไป เว้นเสียแต่ว่าจะใช้มาตรา 44 ไปตลอดชาตินั่นก็อีกเรื่อง