KC-โซลาริส วัวพันหลักแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
ดูจากงบการเงินล่าสุดสิ้นไตรมาสสามของ บริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน) หรือ KC ไม่ได้เลวร้ายอะไรถึงขั้นขาดสภาพคล่องเข้าขั้นอันตราย เพราะค่าดี/อี ยังต่ำ เนื่องจากหนี้สินแค่ 0.25 ของส่วนผู้ถือหุ้น ดังนั้น คำชี้แจงข่าวการที่บริษัทนี้ เบี้ยวหนี้ออกตั๋วบี/อี ระยะสั้น หรือตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ที่เสนอขายแก่บุคคลในวงจํากัด จํานวน 130,000,000 บาท โดยมีคนซื้อรายเดียวคือ กองทุนเปิดโซลาริสพริวิลเลจ 3 เอ็ม 4 (S-PFI 3M4) ของ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน โซลาริส จํากัด ที่ครบกำหนดชำระไถ่ถอนวันที่ 15 ธันวาคม 2559 จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ
ดูจากงบการเงินล่าสุดสิ้นไตรมาสสามของ บริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน) หรือ KC ไม่ได้เลวร้ายอะไรถึงขั้นขาดสภาพคล่องเข้าขั้นอันตราย เพราะค่าดี/อี ยังต่ำ เนื่องจากหนี้สินแค่ 0.25 ของส่วนผู้ถือหุ้น ดังนั้น คำชี้แจงข่าวการที่บริษัทนี้ เบี้ยวหนี้ออกตั๋วบี/อี ระยะสั้น หรือตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ที่เสนอขายแก่บุคคลในวงจํากัด จํานวน 130,000,000 บาท โดยมีคนซื้อรายเดียวคือ กองทุนเปิดโซลาริสพริวิลเลจ 3 เอ็ม 4 (S-PFI 3M4) ของ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน โซลาริส จํากัด ที่ครบกำหนดชำระไถ่ถอนวันที่ 15 ธันวาคม 2559 จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ
เข้าข่าย “ไม่เห็นแผล แต่หนองแตกทะลักจากภายในตัว” ที่ไม่ธรรมดา เพราะยอดมูลค่าหนี้ ไม่ได้มากมายอะไร
คำชี้แจงของฝ่ายบริหาร KC ก็แสนประหลาดชวนตั้งคำถาม เพราะระบุว่า ตั๋วบี/อีดังกล่าวที่เป็นตราสารหนี้ที่ออกมา อายุแค่ 3 เดือน นับแต่วันออกตั๋ว 15 กันยายน 2559 มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5% ต่อปี เพราะเป็นตั๋วแลกเงินประเภท non-rating ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่กำหนดให้ขายแก่บุคคลในวงจำกัด เพียงแค่แจ้งเรื่องให้ ก.ล.ต.รับทราบเท่านั้น
ดอกเบี้ย ที่แสนแพง และเงื่อนไขการออกตราสารหนี้ บอกนัยว่า บริษัทขาดสภาพคล่องระยะสั้นเข้าขั้นรุนแรง และคนซื้อก็ “หน้ามืด” กับอัตราดอกเบี้ย โดยยอมรับความเสี่ยงจากเงื่อนไขของตั๋ว เสมือนหนึ่ง “วัวเคยขา ม้าเคยขี่”
เหตุผล ชี้แจงของ KC สั้นๆ ที่ว่า การผิดนัดเกิดจาก “….ภาวะการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ …” ดูเรียบง่ายและเป็นสูตรสำเร็จ และสอดรับกับคำชี้แจงในงบการเงินของบริษัทเมื่อสิ้นไตรมาสสาม ที่ว่าบริษัทมีรายได้จากการขายโครงการลดลง และรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างลดลงมากเกินกว่า 20% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และรายได้อื่นก็ลดลงมาก ทำให้แม้ไตรมาสสามนี้จะมีกำไรมากขึ้นแต่งวด 9 เดือนก็ยังขาดทุน
ที่น่าสนใจคือ งบการเงินไตรมาสสามของ KC เป็นงบการเงินที่ถูกผู้สอบบัญชี บริษัท ซี ดับเบิ้ลยู พี จํากัด ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต รับรองงบการเงินอย่างมีเงื่อนไข โดยระบุว่า “….ไม่สามารถให้ข้อสรุปต่อข้อมูลทางการเงินในงบ Q3/2559 ของบริษัทฯ 2กรณี …เนื่องจาก (1) ผู้สอบ บัญชีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทําธุรกรรมในการขายที่ดินและซื้อที่ดินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ภายใต้อํานาจการดําเนินการของคณะกรรมการบริหาร และ (2) ผู้สอบบัญชียังรอข้อสรุปผลการพิจารณาจากคณะกรรมการตรวจสอบในธุรกรรมดังกล่าวว่าเป็นไปตามปกติของธุรกิจหรือไม่….”
2 กรณีที่ว่าคือ
1. ธุรกรรมการขายที่ดินบึงคําพร้อย ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน) ให้แก่นางสาวสุภัทรา ทินเพ็ง และต่อมาบริษัท โมเดิร์น สตรีท จํากัด (บริษัทย่อย ถือหุ้นโดยบริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน) ร้อยละ 99.99) ได้ทําการซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวกลับคืนมาในราคาเดิม
2) ธุรกรรมการซื้อที่ดินบางปะอิน จากบริษัท สมหวังทรัพย์หมื่นแสน จํากัด และ นางศิริลักษณ์ อนุการสกุล จํานวน 10 โฉนด เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 63 ตารางวา และ นางศิริลักษณ์ อนุการสกุล จํานวน 2 โฉนด เนื้อที่ 33 ไร่ 1 งาน 26 ตารางวา ในราคารวม 190 ล้านบาท และมีเงื่อนไขการชําระเงินเป็น 4 งวด แต่ “….บริษัทฯ ได้ชําระเงินให้แก่ บริษัท สมหวังทรัพย์หมื่นแสน จํากัด โดยทําเป็นเช็คจํานวน 4 ฉบับ รวมเป็นจํานวนเงิน 38.5 ล้านบาท สั่งจ่าย นายสรรชัย อินทรอักษร (กรรมการบริหารท่านหนึ่ง) โดยไม่มีการระบุ Account Payee Only ในเช็คดังกล่าว …ไม่ได้สั่งจ่ายในนามคู่สัญญา”
การ ผิดนัดชำระตั๋วบี/อี มูลค่า 130 ล้านบาท ได้รับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการที่ KC “…. ได้ดําเนินการจดจํานองที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันให้กับกองทุนฯแล้ว เมื่อวันที่ 15 และ 16 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยที่ดินที่จํานองมีมูลค่าประเมินทรัพย์สินครอบคลุมจํานวนหนี้และดอกเบี้ย ตามตั๋วแลกเงินเป็นที่ยอมรับของบริษัทจัดการ…..” แล้วขอให้กองทุนฯยินยอม ขยายระยะเวลาการชําระหนี้เป็นวันที่ 10 เมษายน 2560 โดยคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 7.5 ต่อปีตามเดิม หากบริษัทฯ ไม่สามารถชําระหนี้ภายในวันที่ 10 เมษายน 2560 บริษัทฯ จะต้องชําระ ดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
เรื่องดูท่าจะจบลงง่ายๆ เพราะทางด้าน บลจ.โซลารีส จำกัด ก็ออกแถลงข่าววันศุกร์ที่ผ่านมาว่า 1. การเข้าซื้อตั๋วบี/อีของ KC ไม่ผิดกติกา เพราะ KC อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเปิดเผยข้อมูล จึงไม่ผิดกฎก.ล.ต. 2) หุ้นกู้ดังกล่าวมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คือที่ดิน จึงไม่มีปัญหา
เพียงแต่ คำแถลงจาก KC ที่ฟังแล้วสะดุดหูยิ่งคือการที่บอกต่อว่า “…คณะกรรมการบริษัทชุดปัจจุบัน อยู่ระหว่างดําเนินการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาเพื่อออกตั๋วและการใช้เงิน ที่ได้รับจากการออกตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวของอดีตกรรมการบริหาร ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการดําเนินธุรกิจของบริษัทฯ หรือไม่…” แสดงว่า จะต้องมีการ “ไล่เบี้ย” กันต่อแน่นอน
ฟังแค่นี้ ใครบอกว่า มีแต่ควัน ไม่มีไฟ…. คงไร้เดียงสาสิ้นดี
ผู้รู้วงนอก แต่อยู่ในแวดวงการเงิน ตั้งคำถามว่า การออกตราสารหนี้ โดยไม่จำเป็น เพื่อเอาที่ดินมาค้ำประกัน โดยมีกำหนดระยะเวลาแสนสั้นอย่างนี้ ให้จับตาดูว่า หากภายในวันที่ 10 เมษายน 2560 ทางด้าน KC ไม่สามารถชำระเงินค่าตั๋วได้ …. ก็เข้าเค้า เพราะเจ้าหนี้ จะต้องเอาที่ดินมาประมูลขาย เอาเงินสด (เงินต้น +ดอกเบี้ย) คืน ที่เหลือ คืนบริษัท
คำถามคือ คนซื้อที่ดินนั้นจะเป็นใคร….และ เป็นนอมินีของใคร
จับตาให้ดี… เพราะตามสูตรนี้ ท่าน (ไม่รู้ท่านไหน) ว่าเอาไว้…. การผ่องถ่ายทรัพย์สิน เริ่มต้นแล้วอย่างถูกกฎหมาย
นี่ไม่ได้กล่าวหาใคร เป็นแค่โจทย์ปริศนาเท่านั้น
“อิ อิ อิ”