บทเรียนจากIFECพลวัต 2016

ปี 2556 กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ นำโดย นพ.วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ แพทย์แห่งโรงพยาบาลพระราม 9 และนายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ นักการเงิน จับมือร่วมกัน นำนักลงทุนหลากหลาย ร่วมกันลงขันซื้อหุ้นบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสต์ วิศวการ จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC จากผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมกลุ่มสหพัฒน์ฯ ที่เผชิญกับธุรกิจขาลงในธุรกิจถ่ายเอกสาร เพราะเจ้าของแบรนด์ในญี่ปุ่นอย่าง Konica Minolta Business Solution Asia Pte Ltd. (KM BSA) ไม่ต่อสัญญาให้แก่ IFEC ซึ่งสัญญาได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2557 ทำให้บริษัทเดิมไร้อนาคตกะทันหัน


วิษณุ โชลิตกุล

 

ปี 2556 กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ นำโดย นพ.วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ แพทย์แห่งโรงพยาบาลพระราม 9 และนายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ นักการเงิน จับมือร่วมกัน นำนักลงทุนหลากหลาย ร่วมกันลงขันซื้อหุ้นบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสต์ วิศวการ จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC จากผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมกลุ่มสหพัฒน์ฯ ที่เผชิญกับธุรกิจขาลงในธุรกิจถ่ายเอกสาร เพราะเจ้าของแบรนด์ในญี่ปุ่นอย่าง Konica Minolta Business Solution Asia Pte Ltd. (KM BSA) ไม่ต่อสัญญาให้แก่ IFEC ซึ่งสัญญาได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม  2557 ทำให้บริษัทเดิมไร้อนาคตกะทันหัน

หลังจากซื้อกิจการมาแล้ว คนแรก ก็ขึ้นเป็น ประธานกรรมการ  ส่วนคนหลังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมกับประกาศวิสัยทัศน์ว่า ต้องการพลิกฐานะของ IFEC ไปสู่ธุรกิจด้านพลังงานทดแทนที่กำลังเป็นขาขึ้น

เริ่มต้นด้วยความฝันในการก้าวเป็นยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานทดแทน (ด้วยความร่วมมือของที่ปรึกษาการเงิน) ด้วยเงินสดมากเกินพอที่จะพร้อมรุกเข้าไป “ซื้อเพื่อสร้าง” ประสบการณ์จริงเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถึง 4 ประเภท สอดคล้องแผนพัฒนาพลังงานของประเทศที่ต้องการโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกค่อนข้างมากถึง 1.4 หมื่นเมกะวัตต์

ในช่วงแรกนั้น นพ.วิชัย และ นายสิทธิชัยถือเป็น “ดาวรุ่งธุรกิจ” ที่ได้รับความสนใจจากนักวิเคราะห์และกองทุนต่างๆ อย่างมาก ที่มีมุมมองว่านับแต่ปี 2558 เป็นต้นไป  IFEC จะมีกำไรสุทธิโดดเด่นมาก จากการเติบโตก้าวกระโดด

คำแนะนำ “ซื้อ” ของนักวิเคราะห์ทุกสำนักในตลาดหุ้นไทยยามนั้น ทำให้ราคาหุ้น IFEC สุดแสนจะหวือหวา ดันราคาหุ้นปรับขึ้นสูงสุดเกือบ 18 บาท ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 แต่หลังจากนั้นราคาปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยกลับไปสู่จุดสูงสุดเดิมได้เลย

กลางปี 2558 ผู้บริหาร ทั้งหมอวิชัย และนายสิทธิชัย ได้ร่วมกันลงมือปฏิบัติการเบี่ยงเบนจากธุรกิจพลังงานทางเลือก ด้วยการทุ่มเงินสด 2.5 พันล้านบาท ผ่านบริษัทลูกชื่อ ICAP เข้าซื้อกิจการโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ โดยที่ไม่มีแผนธุรกิจมาก่อนเลย โดยเป็นการซื้อโรงแรมมา 1.5 พันล้านบาท และหนี้ของโรงแรมที่มีอยู่ประมาณ 1 พันล้านบาทด้วย จากเจ้าของเดิมที่แม้จะมีกำไร แต่ก็ไล่ไม่ทันดอกเบี้ยเงินกู้ ด้วยข้ออ้างว่าเป็นการซื้อที่ “ถูกมาก” และสามารถคืนกำไรได้ทันที จากการพากิจการออกจากแผนฟื้นฟูของศาลล้มละลายกลาง แถมยังอาจจะขายต่อที่ดินรอบๆ โรงแรมได้ในราคาสูง ไม่ต้องสร้างธุรกิจพลังงานทดแทนที่ “มีความเสี่ยงสูง”

การซื้อโรงแรมดาราเทวี แม้จะให้กำไรมหาศาลในงบการเงินปี 2559 แต่ก็ทำให้หมอวิชัย และนายสิทธิชัย เริ่มมองหน้ากันไม่ติด แต่ที่น่าสนใจคือ คนทั้งคู่ เริ่มแข่งขันขายหุ้นทิ้ง ตั้งแต่ปลายปี 2558 และมาชัดเจนในปี 2559 ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับข้ออ้างที่เคยประกาศว่าจะทำตามความฝันผลักดันให้ IFEC เป็นหุ้นพลังงานทางเลือกระดับหัวแถว

ลักษณะการขายมีทั้งเข้าซื้อและขายหุ้น มีทั้งรูปแบบ “ซื้อเช้า ขายบ่าย” หรือ “ซื้อบ่าย ขายเช้าวันถัดมา” สลับกันมาตลอด ในขณะที่ราคาหุ้น IFEC โรยตัวซึมยาวต่อเนื่อง จนล่าสุด คนทั้งคู่มีหุ้นในมือน้อยกว่าร้อยละ 5% โดยมีกลุ่มทุนใหม่เข้ามาถือหุ้นใหญ่แทน ก่อนที่นายสิทธิชัยจะลาออกจากทุกตำแหน่งใน IFEC 

                จากนั้น ปฏิบัติการ “สาดโคลน” ในสงครามภาพลักษณ์ก็เริ่มต้นขึ้นมาแบบกล่าวหาฝ่ายเดียว ซึ่งมิใช่ผลดีต่อ IFEC โดยเป้าหมายมุ่งไปที่นายสิทธิชัยเป็นสำคัญ ในฐานะ แพะรับบาป สำหรับด้านลบที่เคยเกิดขึ้น

ปฏิบัติการดังกล่าว ระบุปัญหาหลัก 2 เรื่อง คือ ความไม่ชอบมาพาพากลในการซื้อโรงแรมดาราเทวี ที่เชียงใหม่ และการแย่งอำนาจจัดการในบริษัทย่อย ของ IFEC ที่นายสิทธิชัยยังนั่งเป็นกรรมการต่อไป

ข้อกล่าวหาถึงความผิดปกติดังกล่าว หากเป็นกรณีของบริษัทเอกชนทั่วไป ก็น่าจะพอรับฟังได้ แต่ในกรณีของ IFEC ในฐานะที่เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหุ้น มีคำถามใหญ่ที่ตามมาทันทีคือ

หากข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง เหตุใดตอนที่นายสิทธิชัยยังนั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารอยู่ จึงไม่ปรากฏแพร่งพรายออกมาจากคณะผู้บริหาร หรือ คณะกรรมการบริษัท รวมทั้งจากหมอวิชัยที่เป็นประธานกรรมการด้วย

เหตุใด ความผิดปกติที่ถูกงัดขึ้นมากล่าวหากัน ที่สะท้อนสภาพธรรมาภิบาลบกพร่อง จึงได้ผ่านหูผ่านตาของผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตที่ตรวจสอบงบการเงินของบริษัทต่อเนื่องทุกไตรมาส  โดยไม่เคยปรากฏในหมายเหตุประกอบงบการเงิน หรือข้อสังเกตใดของผู้สอบบัญชีแต่อย่างใด น่าตรวจสอบคุณภาพของผู้ตรวจสอบบัญชีบริษัทนี้อย่างยิ่ง

ปฏิบัติการสาดโคลนดังกล่าว ที่สะท้อนถึงผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวทางธุรกิจ เป็นด้านมืดของธุรกิจที่หุ้นส่วนเข้ามาร่วมลงขันกันบนผลประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้น ที่หวังผลในรูปของส่วนต่างราคาหุ้น มากกว่าสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจในระยะยาว เมื่อใดที่ผลประโยชน์ดังกล่าวขัดกัน ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งที่ไม่อาจประนีประนอมได้ และต้องแยกทางกัน

บทเรียนของ IFEC ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่เป็นกรณีศึกษาที่ไม่รู้จบของนักลงทุนในตลาดหุ้น ที่ตอกย้ำคำพูดเก่าแก่ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ว่าการถือหุ้น ไม่ใช่การ “เล่นหุ้น” หากเป็นการลงทุนเพื่อค้นหาอนาคตของกิจการเพื่อร่วมเสี่ยงกับอนาคตร่วมกัน เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความยั่งยืนของธุรกิจแต่ละรายอยู่ที่กำไรขาดทุน และการเติบโตแข็งแกร่งทางการเงิน

ตลาดหุ้นไทยในตลอดเวลากว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้เคยเผชิญกับกรณีเลวร้ายนับแต่ ราชาเงินทุน กรณีตึกดำ กรณีธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ กรณีของฟองสบู่เศรษฐกิจแตก และ ฯลฯ จนสามารถพัฒนามาจนมีคุณภาพดีขึ้นโดดเด่นไม่แพ้ใครในเอเชีย แต่กรณีอย่าง IFEC ก็สามารถเกิดขึ้นได้อีก

เหตุผลเพราะ ความโลภและความกลัวยังคงเป็นปัจจัยหลักของตลาด ที่ต่อสู้กันไม่รู้จบนั่นเอง

 

Back to top button