หนี้ปัจจุบัน หนี้เก่าพลวัต2015
ปัญหาหนี้ 1.1 แสนล้านยูโร ของรัฐบาลกรีซที่มีต่อ 3 เจ้าหนี้ใหญ่ (เรียกรวมกันว่า ทรอยก้า) ประกอบด้วย สหภาพยุโรป ธนาคารกลางยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และกำลังจะเป็นตัวชี้ขาดอนาคตของยุโรปภายในสัปดาห์หน้านี้ แต่ก่อนจะถึงเส้นตายสำคัญ กลับมีเรื่องที่ดูงี่เง่าเกิดขึ้น
ปัญหาหนี้ 1.1 แสนล้านยูโร ของรัฐบาลกรีซที่มีต่อ 3 เจ้าหนี้ใหญ่ (เรียกรวมกันว่า ทรอยก้า) ประกอบด้วย สหภาพยุโรป ธนาคารกลางยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และกำลังจะเป็นตัวชี้ขาดอนาคตของยุโรปภายในสัปดาห์หน้านี้ แต่ก่อนจะถึงเส้นตายสำคัญ กลับมีเรื่องที่ดูงี่เง่าเกิดขึ้น
หนึ่งในการต่อรองเรื่องหนี้ของรัฐบาลกรีซปัจจุบันคือ การทวงถามหนี้ค้างชำระของรัฐบาลเยอรมนี ตั้งแต่ครั้งที่กองทัพนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กรีฑาทัพรุกรานประเทศกรีซนานประมาณ 5 ปี และก่อกรรมทำเข็ญเอาไว้เยอะแยะ มูลค่าหนี้ประเมินเอาไว้ที่ 1.1 หมื่นล้านยูโร
คำถามมีอยู่ว่า หนี้ปัจจุบันที่กรีซไม่มีปัญญาจ่าย 1.1 แสนล้านยูโร โครงการช่วยเหลือรอดพ้นหายนะ ไม่นับรวมหนี้อื่นที่ทับถมกันมาอีกประมาณ 3.5 แสนล้านยูโร จะหักกลบด้วยยอดหนี้ที่เยอรมนีติดค้างเอาไว้ 1.1 หมื่นล้านยูโรได้อย่างไร
ความล้มเหลวในการจัดการบริหารหนี้ของชาวกรีกนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะชาวกรีกนั้น สอบตกบัญชีมาตั้งแต่เป็นอารยธรรมสมัยโบราณ เมื่อ 3 พันปีก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องประหลาดที่นับแต่เป็นรัฐประชาชาติเป็นต้นมามาประมาณ 80 ปี รัฐบาลกรีซประสบภาวะล้มละลายมาถึง 5 ครั้ง รวมทั้งล่าสุด
ภาวะหนี้ของรัฐบาลล่าสุด ที่เริ่มจากการขายพันธบัตรในตลาด แล้วไม่มีปัญญาจ่ายชำระเมื่อครบเวลาไถ่ถอน เมื่อ 4 ปีเศษ ต้องขอรับเงินช่วยเหลือเพื่อกอบกู้สถานการณ์ 1.1 แสนล้านยูโร โดยยอมรับเงื่อนไขมหาโหดเพื่อสร้างวินัยทางการคลัง 5 ประการ คือ 1) ปลดพนักงานรัฐวิสาหกิจ 1.5 หมื่นคนทั่วประเทศ 2) ผ่อนคลายกติกากฎหมายแรงงานให้จ้างงานแบบมีเงื่อนไขปลดคนงานได้ง่ายขึ้น 3) ลดค่าจ้างขั้นต่ำลง 20% 4) เจรจากับนายธนาคารที่ถือพันธบัตรเดิมในการลดภาระหนี้ 5) ปรับปรุงเงื่อนไขในการจ่ายระบบเงินบำนาญเจ้าหน้าที่รัฐให้ต่ำลง
เงื่อนไขดังกล่าว ทำให้คนกรีกเกินกว่าครึ่งประเทศ มีคุณภาพชีวิตอยู่ใต้เส้นของความยากจนอย่างไม่มีทางเลือก ต้องทำการเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองเพื่อมาต่อรองเงื่อนไขใหม่กับชาติสมาชิกทรอยก้า ที่ยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้
ในยามคับขัน นักประวัติศาสตร์ของพรรครัฐบาลกรีซในปัจจุบัน เจอข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ที่เยอรมนียังติดค้าง จึงยกเรื่องนี้ขึ้นเรียกร้องว่า ภาระหนี้ยามสงครามที่อยู่ในรูปของการกู้เงินแบบบังคับ ต้องได้รับชำระคืน
สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีในยุคนาซี รุกรานเข้าไปยึดครองกรีซ แล้วบังคับให้ธนาคารกลางของกรีซปล่อยเงินกู้ให้กองทัพเยอรมนีที่เข้าไปยึดครอง คิดเป็นวงเงินสกุล Reichsmarks ของเยอรมันในขณะนั้น 476 ล้าน โดยระบุเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ย และอื่นๆ เอาไว้ครบถ้วน ในเอกสารหนาถึง 194 หมื่นหน้า
หลังสงครามโลก เยอรมนีถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ และเงิน Reichsmarks ก็เลิกใช้ไป ทำให้เยอรมันตะวันตกและตะวันออก ไม่ยอมชดใช้ภาระหนี้ดังกล่าว โบ้ยให้อีกประเทศหนึ่งชดใช้แทน เพราะไม่ใช่ผู้ก่อหนี้
เมื่อเยอรมนีกลับมารวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว การปฏิเสธไม่ยอมรับรู้หนี้ยามสงครามดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในปี ค.ศ. 2000 ศาลสูงของกรีซ หรือ Areopag ได้มีคำวินิจฉัยชัดเจนภายใต้สนธิสัญญาของสหภาพยุโรปว่า เยอรมนีต้องชำระค่าเงินพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าว ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งปรับเป็นมูลค่าปัจจุบัน เพื่อไถ่บาปที่ฮิตเลอร์ก่อเอาไว้
รัฐบาลและธนาคารกลางของกรีซ จึงดำเนินการทั้งทางกฎหมายและวิชาการ เพื่อประเมินหาทางเอาหนี้ดังกล่าวคืนกลับไป โดยประเมินว่า ราคาในอดีตของเงิน Reichsmarks แปลงเป็นดอลลาร์สหรัฐจะอยู่ที่ประมาณ 213 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 1941 อันเป็นปีที่มีสัญญาเงินกู้นั้น
เงินดังกล่าว หากนำมาคำนวณแปลงเป็นมูลค่าปัจจุบัน จะเป็นหนี้ที่เยอรมนีต้องชำระรวมแล้วประมาณ 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.1 หมื่นล้านยูโร
หากคิดจากมูลค่าของหนี้ที่เยอรมนีต้องจ่ายคืนกรีซ ถือว่าต่ำอย่างมาก เมื่อเทียบกับมูลหนี้ที่รัฐบาลกรีซมีอยู่กับชาติสหภาพยุโรปและเจ้าหนี้ที่ถือพันธบัตรทั้งหลาย และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเพราะเป็นหนี้คนละสัญญา
ความพยายามของกรีซที่หวังจะหากินกับประวัติศาสตร์ โดยการอ้างถึงหนี้ที่ยังไม่ได้ชำระของเยอรมนียุคสงครามโลก มาต่อรองเพื่อให้ได้รับบรรเทาที่กำลังเข้าตาจนในปัจจุบัน จะได้ผลหรือไม่ เป็นโจทย์ที่เยอรมนีอาจจะตอบได้ แต่ชาติอื่นๆ ในทรอยก้าคงจะไม่เล่นด้วย
วิธีการของรัฐบาลกรีซเช่นนี้ ไม่ต่างจากเด็กเกเรที่อยากจะทำตัวไม่ต้องรับผิดชอบ น่าเวทนามากกว่าน่าเอาใจช่วย แต่ก็เรียกคะแนนนิยมทางการเมืองจากคนกรีกที่เลือกรัฐบาลมาต่อรองเช่นนี้พอสมควรเลยทีเดียว