พาราสาวะถี อรชุน
ยังคงถูกพูดถึงต่อเนื่องว่าด้วยเรื่องนโยบายลด แลก แจก แถมของรัฐบาลคสช.ช่วงปลายปี ไม่จำเป็นต้องนำไปเปรียบเทียบหรือตั้งคำถามว่านี่เป็นประชานิยมหรือไม่ เพราะคำตอบที่ได้หนีไม่พ้นประชารัฐหรือไม่ก็สวัสดิการของรัฐ แต่เมื่อเลือกที่จะดำเนินนโยบายให้ตกเป็นที่วิจารณ์เช่นนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมรัฐนาวาก็ต้องใจกว้างรับฟังเสียงสะท้อนเหล่านั้น
ยังคงถูกพูดถึงต่อเนื่องว่าด้วยเรื่องนโยบายลด แลก แจก แถมของรัฐบาลคสช.ช่วงปลายปี ไม่จำเป็นต้องนำไปเปรียบเทียบหรือตั้งคำถามว่านี่เป็นประชานิยมหรือไม่ เพราะคำตอบที่ได้หนีไม่พ้นประชารัฐหรือไม่ก็สวัสดิการของรัฐ แต่เมื่อเลือกที่จะดำเนินนโยบายให้ตกเป็นที่วิจารณ์เช่นนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมรัฐนาวาก็ต้องใจกว้างรับฟังเสียงสะท้อนเหล่านั้น
ขาประจำรัฐบาลที่ถูกเรียกไปปรับทัศนคติหลายหน วัฒนา เมืองสุข ยังคงต้องคำถามเชิงประชดประชันเหมือนเดิม กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ในมุมมองของอดีตรัฐมนตรียุค ทักษิณ ชินวัตร มองว่า “กลวง” โดยเจ้าตัวระบุว่า ผลพวงของรัฐประหารทำให้เศรษฐกิจได้รับความเสียหายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การบริหารที่ขาดสติปัญญาทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทุกตัวดับสนิท
ท้ายสุดต้องใช้การแจกเงินอันเป็นมาตรการสิ้นคิดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไร้ความสามารถ แจกเงินไม่ได้ตามกำหนด ความเห็นของวัฒนาสอดรับกับขาเก่าเจ้าประจำที่วิจารณ์แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลอยู่เป็นระลอกเหมือนกันอย่าง โสภณ พรโชคชัย ที่วันวานได้ออกมากระทุ้งถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกครั้ง
เริ่มด้วยการตั้งปุจฉาไปยัง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ไหนว่าจะไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแล้วในปีนี้ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่กลับ “แจกแหลก” อีก แสดงว่าเศรษฐกิจไม่ดี แน่นอนว่า ประสานักเก็บข้อมูล โสภณได้นำข่าวมาประกอบเพื่อเป็นภาพสะท้อนให้กุนซือเศรษฐกิจรัฐบาลเห็นว่าเศรษฐกิจมันย่ำแย่จริง
ข่าวดังว่า เช่น ผลพวงเศรษฐกิจชะลอขึ้นเงินเดือน โบนัสลดลง เอ็นพีแอลพุ่งเกือบ 3% ติดต่อกัน 3 ไตรมาส ยอด 393,000 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทยแจงปีหน้ายังพุ่งต่อ ยอมรับกังวล เอสเอ็มอี อสังหาริมทรัพย์ทรุดหนักหวั่นติดลบแตะ 20% จ่อยื่นหนังสือวอนรัฐช่วยแก้ปัญหา ไตรมาส 3 กำไรบริษัทจดทะเบียนวูบแสนล้าน หุ้น พี/อีพุ่ง 23 เท่า-เตือนแพง พัทยากระอักพิษล้างบางทัวร์ศูนย์เหรียญ นักท่องเที่ยวจีนลดฮวบ 90% โรงแรมดั๊มพ์ราคาฝ่าวิกฤติ
ที่ผ่านมามีกลอนบอกว่านักการเมืองยื่นปลา พระราชายื่นเบ็ด แสดงว่าสมคิดกำลังยื่นแต่ปลา ไม่รู้จักยื่นเบ็ด แทนที่จะเอาเงินมหาศาลไปพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดรายได้อื่น เช่น สร้างเขื่อนกักเก็บน้ำให้เกษตรกร หรือใช้ผลิตไฟฟ้าแทนฟอสซิล กลับแจกแต่เงิน เมื่อเป็นเช่นนั้น โสภณจึงมองว่าสมคิดกำลังนำเงินไปแจกส่งเดช มิหนำซ้ำ ยังแจกผิดคนเสียด้วย
แจกผิดอย่างไร เคยได้นำเสนอกันว่าด้วยชุดข้อมูลของคนยากจนที่ควรจะได้รับเงิน 1,500-3,000 บาทที่แท้จริงไปแล้ว หนนี้มีข้อเสนอที่น่าสนใจเพิ่มเติมเข้ามาก็คือ ถ้ารัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าแจกแหลกแบบนี้จริงๆ แทนที่จะแจกเงินน่าจะแจกเป็นข้าวมากกว่า เพราะได้ช่วยชาวนาอีกต่อหนึ่ง ช่วยคนจนอีกต่อหนึ่ง แต่สมคิดกลับปล่อยให้มีการแจกเงิน
จึงมีข้อสงสัยตามมาว่า แล้วเงินที่ผู้มีรายได้น้อยได้รับไปนั้น เขาจะนำไปทำอะไร สันนิษฐานได้ว่า คงเอาเงินไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากบริษัทขนาดใหญ่ทั้งหลาย เท่ากับเรากำลังช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ให้มีเงินหมุนเวียนอย่างสะดวก ไม่ได้นำพาคนจนเท่าที่ควร หากแจกข้าวจากชาวนาซึ่งขณะนี้ราคาข้าวกำลังตกต่ำก็จะช่วยประชาชนได้เป็นอย่างยิ่ง
ตรรกะที่ยกมาอธิบายคือ หากซื้อข้าวเปลือกชาวนามาแจกด้วยวงเงิน 19,290 ล้านบาทตามนโยบายแจกเงิน ซื้อข้าวปกติที่ราคา 7,000 บาทต่อตัน (ยกเว้นข้าวคุณภาพดีที่อาจขายได้ตามราคาตลาดที่สูงกว่า) ก็จะสามารถซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาได้ถึง 2.755 ล้านตัน ขณะที่ปี 2559 ผลผลิตข้าวทั่วประเทศสูงถึง 25.2 ล้านตัน เท่ากับว่ารัฐบาลสามารถดูดซับอุปทานได้ถึง 11% ของผลผลิต จะทำให้ราคาข้าวเปลือกขยับตัวสูงขึ้น
หากในกรณีซื้อข้าวสารที่ชาวนาสีขายเอง ปรากฏว่าปีหนึ่งๆ ประชาชนไทยบริโภคข้าวคนละ 106 กิโลกรัม ถ้าคูณด้วยจำนวนประชากร 65.7 ล้านคน ก็จะบริโภคข้าวภายในประเทศถึง 6.967 ล้านตัน หากให้ขายข้าวกิโลกรัมละ 21 บาท ก็สามารถซื้อได้ถึง 913,352 ตันหรือเท่ากับ 13% ของอุปทานในตลาด แต่รัฐบาลกลับแจกเงินหาเสียงแล้วเข้ากระเป๋านายทุนใหญ่ๆ
ด้วยเหตุนี้ โสภณจึงแสดงความเป็นห่วงว่าสมคิดจะเป็นหม่อมอุ๋ย 2 ห่วงรัฐบาลจะไปผิดทางและที่ห่วงที่สุดคือประเทศชาติจะบอบช้ำ หลังจากพิจารณาข้อห่วงใยตรงนี้แล้วก็ย้อนกลับไปถึงข้อเสนอแนะในฐานะผู้ที่เคยผ่านงานบริหารประเทศมาแล้ว ต่อการทำงานของรัฐบาลคสช.ด้วยมุมมองที่ว่า การบริหารบ้านเมืองนอกจากต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์แล้วยังต้องมีต้นทุนทางปัญญา
บ้านเมืองไม่อาจบริหารโดยการทำลายฝ่ายตรงข้าม สร้างวาทกรรมขยายความขัดแย้งเพื่อให้ได้อยู่ในอำนาจต่อไป หรือลอกนโยบายรัฐบาลเก่าโดยขาดความเข้าใจแต่เอามาเปลี่ยนชื่อใหม่ หรือสร้างเรื่องมากลบความล้มเหลวหลอกประชาชนไปวันๆ พร้อมๆ กับการเตือนว่า โลกปัจจุบันอยู่ในยุคของธุรกิจแห่งการทำลายล้างซึ่งการเกิดของธุรกิจใหม่จะทำลายธุรกิจเดิม
ตัวอย่างเช่น ธุรกิจฟิล์มถ่ายรูปถูกแทนที่ด้วยกล้องดิจิตอล หรือโทรศัพท์มือถือแบบเก่าที่ถูกแทนที่ด้วยสมาร์ทโฟน เป็นต้น ประเทศจึงต้องการผู้นำที่มีความรู้มากกว่าซ้ายขวาหน้าหลัง หรือมีวิสัยทัศน์แค่เอาเวลาราชการมาแสดงจำอวดออกกำลังโชว์ประชาชน ด้วยวิสัยทัศน์ที่แสดงให้เห็นกันอยู่เวลานี้ เชื่อแน่ว่าหลายคนอาจรู้สึกสยดสยองต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากกว่านโยบายที่เป็นในปัจจุบัน
นั่นก็คือ กลุ่มคนที่ยึดอำนาจและบริหารบ้านเมืองจนมีสภาพอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กลับพยายามขายความคิดและโชว์ความเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ด้วยการ วางยุทธศาสตร์ชาติให้คนไทยต้องเดินตามไปอีก 20 ปี โดยมีรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติด้วยวิธีปิดหูปิดตาประชาชนเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจผ่านส.ว.ลากตั้งและองค์กรอิสระทั้งหลาย
ความเสียหายอันเนื่องมาจากการรัฐประหารนั้น สะท้อนผ่านบทความของฉลามเขียวแห่งหนังสือพิมพ์บ้านเมืองที่จะปิดตัวลงสิ้นปีนี้ได้อย่างชัดเจน กับการสารภาพของเจ้าตัวที่ไปร่วมม็อบกปปส.ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้วได้รัฐบาลคสช. กับการรำพึงรำพันว่า ถ้าชาติบ้านเมืองยังปกครองในระบอบประชาธิปไตยอยู่มันก็จะไม่ซ้ำเติมแรงเร็วขนาดนี้ สื่อสิ่งพิมพ์สามารถที่จะทำสื่อออนไลน์ควบคู่ไปได้ ก็พอจะอยู่รอดได้ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้แล้ว เพราะ Shutdown Bangkok จึงมีวันนี้ นี่แหละความจริงที่ไม่รู้ว่าบรรดาคนดีทั้งหลายรับกันได้หรือกล้ายอมรับความจริงหรือเปล่า