มรดกบาปของโอบามาพลวัต 2017
เมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นเอเชียที่เปิดทำการวันแรก เปิดบวกรับข่าวดี จากตัวเลขราคาน้ำมันดิบที่ยังคงยืนเหนือ 53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะชาติส่งออกน้ำมันหลายชาติประกาศลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงก่อนหน้านี้ แต่ราคาหุ้นที่บวกรับปีใหม่ยังคงแกว่งไกวด้วยความไม่แน่นอน เพราะแม้ว่าจะมีปัจจัยบวกในเอเชีย เช่น ตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมจีนที่ดีขึ้นเทียบกับช่วงดีสุดเมื่อ 4 ปีก่อน และค่าดอลลาร์เทียบเงินเอเชียที่อ่อนตัวลงเพราะตลาดลดคาดการณ์ลงว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแค่ปีละ 2 ครั้งเท่านั้นในปีนี้ ไม่ใช่ 4 ครั้งตามที่เชื่อกันก่อนหน้า แต่ก็ยังต้องรอดูความชัดเจนจากอเมริกาต่อไปว่าดัชนีในตลาดนิวยอร์กจะพักฐานแรงแค่ไหน
วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นเอเชียที่เปิดทำการวันแรก เปิดบวกรับข่าวดี จากตัวเลขราคาน้ำมันดิบที่ยังคงยืนเหนือ 53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะชาติส่งออกน้ำมันหลายชาติประกาศลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงก่อนหน้านี้ แต่ราคาหุ้นที่บวกรับปีใหม่ยังคงแกว่งไกวด้วยความไม่แน่นอน เพราะแม้ว่าจะมีปัจจัยบวกในเอเชีย เช่น ตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมจีนที่ดีขึ้นเทียบกับช่วงดีสุดเมื่อ 4 ปีก่อน และค่าดอลลาร์เทียบเงินเอเชียที่อ่อนตัวลงเพราะตลาดลดคาดการณ์ลงว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแค่ปีละ 2 ครั้งเท่านั้นในปีนี้ ไม่ใช่ 4 ครั้งตามที่เชื่อกันก่อนหน้า แต่ก็ยังต้องรอดูความชัดเจนจากอเมริกาต่อไปว่าดัชนีในตลาดนิวยอร์กจะพักฐานแรงแค่ไหน
ภาวะทางอารมณ์ของตลาดเอเชียโดยรวมที่เรียกว่า มองโลกเชิงบวกอย่างระวังระไว หรือ cautious optimism เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการผ่องถ่ายอำนาจจากพรรคเดโมแครต ไปสู่พรรครีพับลิกันนับแต่วันที่ 10 มกราคมนี้ เป็นต้นไป
นักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทหลายสำนัก ประเมินว่า ความคาดหวังเชิงบวกต่อโดนัลด์ ทรัมป์ ในการขับเคลื่อนนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย เพราะมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้หลายเรื่อง อาทิ
– จีดีพี หรืออัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมสหรัฐในช่วงไตรมาสที่สามในปี 2016 ของสหรัฐ เติบโตที่ระดับ 1.7% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ต่ำกว่าช่วงของประธานาธิบดีคนก่อนๆ หน้าๆ นับแต่ยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา โดยมีปัจจัยถ่วงรั้งเพิ่มเติมคือ ตลาดโลกที่อุปสงค์เติบโตช้ามาก สังคมคนสูงอายุทั่วโลกที่แพร่ระบาดรวดเร็ว และการลงทุนข้ามชาติที่หดตัวลงจากกระแสหวั่นกลัวชาตินิยมของชาติต่างๆ ทำให้เป้าหมายของทรัมป์ที่ว่าจะเร่งจีดีพีสหรัฐให้โตปีละ 3.5-4% (จีดีพีที่หักกลบเงินเฟ้อจะอยู่ที่เฉลี่ย 2.2% ปีนี้ และ 2.8% ปีหน้า) มีคำถามว่าจะบรรลุได้อย่างไร เพราะค่อนข้างยากเข็ญ ถึงขั้นเป็นไปไม่ได้
– ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2016 แม้จะดีขึ้นมากจากหลายปีก่อน แต่ก็ยังเลวร้ายสุดในรอบวงจรประธานาธิบดีสหรัฐ 10 คนก่อนหน้า ตัวเลขคนว่างงาน 4.6% เดือนเดียวกัน แม้อาจจะดูดีเมื่อเทียบกับช่วงประธานาธิบดีก่อนหน้า 5 คนหลังสุด แต่อัตราชั่วโมงจากรายได้การทำงานเฉลี่ยที่เติบโตเพียงแค่ 2.4% เทียบกับปีก่อน ถือว่าเลวร้ายสุดเมื่อเทียบกับช่วงประธานาธิบดี 7 คนก่อนหน้า
– อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่เข้าใกล้เป้าหมาย 2% ตามการคาดเดาของเฟด แต่ถือว่าใกล้เคียงกันกับเริ่มต้นยุคของบารัค โอบามา และคลินตัน แต่หากเทียบกับราคาน้ำมันที่ต่ำ และราคาอาหารที่ถูกลง ก็ถือว่าไม่ใช่สถานการณ์น่ายินดีนัก
– ตัวเลขอัตราผลผลิตอุตสาหกรรมที่เรี่ยพื้น ลดลง 0.6% ในเดือนพฤศจิกายน 2016 คือประเด็นน่าปวดหัวและท้าทายมากที่สุดของทรัมป์ เพราะตราบใดที่การผลิตยังคงอยู่นอกสหรัฐต่อไป ย่อมหมายถึงโอกาสที่จะฟื้นฟูกำลังซื้อในประเทศถดถอยลงเพียงนั้น
– ตลาดอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างที่ฟื้นตัวแรงปลายปี 2016 เป็นตำแหน่งที่ทรัมป์โล่งอกมากที่สุด เพราะเขาเติบโตมาจากธุรกิจดังกล่าว ยอดก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ใหม่เดือนพฤศจิกายน 2016 มากถึง 1.1 ล้านหน่วย ดีกว่าสมัยเริ่มต้นของโอบามาเกือบ 100% ทีเดียว แต่หากย้อนอดีตแล้วก็ยังถือเป็นตัวเลขต่ำสุดอันดับสองของอดีตประธานาธิบดีทั้งหมดนับแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง
โดยสรุปแล้ว การขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ แม้จะถือว่าดีกว่ายุคเริ่มต้นของโอบามา แต่จะบอกว่า ปลอดโปร่ง และเริ่มต้นจากการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ก็ยังถือว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และต้องใช้ความรอบคอบในการกำกับดูแลต่อไป
การคาดเดาของนักวิเคราะห์หลายสำนัก ที่ยืนยันว่า การพยายามของสายเหยี่ยวในเฟดที่จะขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อปีละ 4 ครั้งตามเจตนาเดิมนั้น ยากจะเกิดขึ้นได้ อย่างดีสุดที่เป็นไปได้คืออาจจะขึ้นดอกเบี้ยไม่เกิน 2 ครั้งในปีนี้
สภาพรูปธรรมที่ทรัมป์และพรรครีพับลิกันจะต้องเข้ามาใช้อำนาจขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้นโยบายหาเสียง “ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” อาจจะดูดีเกินจริง ภายใต้ขีดจำกัดที่ว่า พลังอำนาจครอบงำของสหรัฐในหลายปีมานี้ต่อชาวโลก ไม่ได้มากมายเหมือนช่วงสิ้นสุดสงครามเย็นใหม่
การเถลิงอำนาจของจีน และรัสเซียใหม่ คือตัวแปรที่ทรัมป์และพรรครีพับลิกัน ต้องเผชิญและกำกับดูแลอย่างระวังรอบคอบมากกว่าปกติ เพราะการเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของสหรัฐในหลายปีมานี้ เป็นได้แค่คำปลอบโยนทางจิตใจเท่านั้น หาได้เป็นจริงไม่
มรดกของสหรัฐที่ทรัมป์รับมาจากโอบามา อาจจะไม่ใช่มรดกบุญเสียทีเดียว แต่มีมรดกบาปปะปนอย่างมีนัยสำคัญด้วย