พาราสาวะถี อรชุน

สถานการณ์น้ำท่วม 10 จังหวัดภาคใต้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราชปีนี้ถูกน้ำท่วมเป็นรอบที่ 3 และหนักสุดในรอบ 50 ปี เจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนต้องระดมกำลังเข้าไปช่วยเหลือทั้งอพยพประชาชนที่ติดอยู่ในที่พักอาศัยให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัย รวมทั้งให้การดูแลในเรื่องอาหารการกินและอื่นๆ ที่จำเป็นเป็นการเบื้องต้น


สถานการณ์น้ำท่วม 10 จังหวัดภาคใต้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราชปีนี้ถูกน้ำท่วมเป็นรอบที่ 3 และหนักสุดในรอบ 50 ปี เจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนต้องระดมกำลังเข้าไปช่วยเหลือทั้งอพยพประชาชนที่ติดอยู่ในที่พักอาศัยให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัย รวมทั้งให้การดูแลในเรื่องอาหารการกินและอื่นๆ ที่จำเป็นเป็นการเบื้องต้น

ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ลงพื้นที่ไปดูแลและให้กำลังใจประชาชนพื้นที่ประสบภัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก่อนที่จะประกาศว่าจะไม่ขอลงพื้นที่อีกแล้วเพราะจะทำให้เกิดความยุ่งยากในหมู่ข้าราชการที่ต้องมาคอยต้อนรับ จากนี้ไปจะบัญชาการแก้ไขปัญหาที่ส่วนกลางแทน ก็ถือเป็นแนวคิดที่ดีหากมองเฉพาะในมุมที่จะไปสร้างความยุ่งยากให้กับข้าราชการ

แต่ต้องมองไปอีกด้าน การลงพื้นที่พบปะประชาชนก็คือการไปสร้างขวัญและกำลังใจ ในลักษณะรัฐบาลผู้บริหารประเทศไม่ทอดทิ้งให้ความช่วยเหลือดูแลกันอย่างใกล้ชิด ก็น่าจะเกิดประโยชน์ไม่น้อย ส่วนเรื่องข้าราชการที่มาคอยต้อนรับและอำนวยความสะดวกก็ให้พอประมาณอย่าให้เอิกเกริก เท่านี้ก็ไม่น่าจะมีเสียงครหาใดๆ ตามมา

อย่างไรก็ตาม มีเสียงสะท้อนมาจาก เทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อยากให้ท่านผู้นำลงพื้นที่เหมือนเดิม โดยไม่ต้องนั่งเรือแล้วให้ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ คอยลากจูงให้ แต่ให้พลเอกประยุทธ์ลงลุยน้ำร่วมกันจะได้ใจประชาชนมากกว่า ต้องเชื่อเขาในฐานะผู้มีประสบการณ์ที่หัวหน้าพรรคของตัวเองเคยทำมาก่อน ในลักษณะเท้าไม่ติดดิน เป็นนายกฯแต่กลัวเปียกน้ำ จนถูกด่าเปิงมาแล้ว

ในสถานการณ์เช่นนี้ ลำพังความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ซึ่งทางภาคเอกชนก็ระดมความช่วยเหลือเพื่อไปบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนปักษ์ใต้กันอย่างคึกคักเช่นกัน นับจากวันนี้ไปหากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาชัวร์ป้าบล้านเปอร์เซ็นต์ ฝนจะหยุดตกในพื้นที่ภาคใต้และอีกไม่กี่วันสถานการณ์ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

โรดแมปเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปกลางปีหน้าหรือเปล่า ยังเกิดการโยนลูกกันไปมาไม่จบสิ้น วิษณุ เครืองาม โยนเผือกร้อนก้อนใหญ่กลับไปที่สนช. ในฐานะผู้ที่ปูดข้อมูลนี้ต้องชี้แจงให้สังคมสิ้นสงสัย ทำไมจะต้องเลื่อน และถ้าไม่เลื่อนจะให้คำมั่นสัญญาในกระบวนการพิจารณาข้อกฎหมายอย่างไร ขณะที่ฝ่ายสนช.ก็โยนต่อไปที่กรธ.ว่าจะสามารถพิจารณากฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญส่งมาให้พิจารณาได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้หรือไม่

ดูเหมือนจะเป็นงานกว่าใครเพื่อนก็บรรดากรธ.ทั้งหลาย รีบโยนกลับไปที่คสช.ในฐานะผู้มีอำนาจเต็มจากการรัฐประหารว่าจะเป็นผู้ชี้ขาดเลื่อนหรือไม่เลื่อนการเลือกตั้ง นั่นหมายความว่า กระบวนการทางกฎหมายจะช้าหรือเร็วไม่ใช่ตัวแปรสำคัญ ปัจจัยหลักมันอยู่ที่ว่า “แป๊ะ” มีความประสงค์อย่างไร อยากจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 แบบยาวๆ หรือไม่เอาแล้วเบื่อแล้วรีบจัดเลือกตั้งให้จบๆ แล้วโยนภาระทั้งหมดไปอยู่ในมือของรัฐบาลใหม่

จะว่าไปแล้วหากรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อคสช. เปลี่ยนเพียงแค่รูปแบบที่ได้ชื่อว่าผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แต่องคาพยพหรือหน้าตาของคนที่จะมาบริหารประเทศยังเป็นคนเดิม ถ้าเช่นนั้นก็เลื่อนการเลือกตั้งออกไปเสียดีกว่า จะได้ใช้มาตรายาวิเศษจัดการกับสิ่งที่ยังเห็นว่าเป็นปัญหา เพื่อให้ทุกอย่างสงบราบคาบตามที่ต้องการ

ไม่รู้ว่างานเข้าหรือเปล่าสำหรับกรธ.ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ หลังจากที่โฆษกศาลยุติธรรมออกมาแถลงว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติมีผลบังคับใช้จะเป็นคุณต่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลยในคดีไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวจนทำให้เกิดการทุจริต และคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะจำเลยสามารถอุทธรณ์ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายได้ในทันที

พอออกมาในรูปแบบนี้ คนฟากฝั่งพรรคเก่าแก่อย่าง ราเมศ รัตนเชวง ออกอาการและรีบออกมาตั้งคำถามกับมีชัยทันที กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเอื้อประโยชน์ให้ยิ่งลักษณ์ใช่หรือไม่ เพราะในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จำเลยที่คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะสามารถอุทธรณ์ได้ต้องมีพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น แต่นี่สามารถอุทธรณ์ได้อีกหนึ่งชั้นทันที

ไม่เพียงเท่านั้น รองโฆษกประชาธิปัตย์ยังกล่าวหาไปถึงคสช. ครม.และสนช.รวมหัวกันเอื้อประโยชน์ให้กับองคาพยพของ ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ นี่แค่ประเด็นเดียวพรรคเก่าแก่ก็ขยายผลหวังเปิดแผลให้กับผู้มีอำนาจได้มากถึงเพียงนี้ นี่ไงความจัดเจนและงานถนัด ซึ่งการตกเป็นฝ่ายค้านนานกว่า 20 ปีจึงน่าจะเป็นบทพิสูจน์คุณภาพของพรรคการเมืองนี้

เป็นคณะกรรมาธิการที่ขยันเสนอความเห็นชนิดที่เรียกเสียงฮือฮาจากสังคมได้ตลอดเวลา สำหรับคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง สปท.ที่มี เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน หลังจากข้อเสนอเรื่องนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองจากการชุมนุมของกลุ่มเสื้อสี มีเสียงตอบรับจากกลุ่มสีเสื้อ แต่ได้รับการปฏิเสธจากท่านผู้นำ ทำให้เรื่องเงียบหายไปโดยปริยาย

ล่าสุด วันนี้ในที่ประชุมสปท.คาดว่าจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอของกรรมาธิการคณะนี้ในเรื่องการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ที่หวือหวาคือ การชงแนวทางการปฏิรูปการควบคุมและการตรวจสอบข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจรัฐ โดยเสนอให้ใช้แนวทางเดียวกับการตรวจสอบฝ่ายการเมือง

นั่นก็คือ โทษประหารชีวิตสำหรับข้าราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่กระทำความผิดในคดีคอร์รัปชั่นสร้างความเสียหายมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ถือเป็นยาแรง แต่มติของที่ประชุมจะขานรับหรือไม่ต้องติดตาม เช่นเดียวกับเสียงตอบรับจากผู้มีอำนาจ หากยึดโยงตามแนวทางการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ที่จะสร้างรัฐข้าราชการ หากต้องการความเข้มแข็งก็ต้องมีกฎระเบียบที่เคร่งครัดและบทลงโทษรุนแรง เพื่อให้เป็นแบบอย่างกับองค์กรและบุคคลอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้ท่านผู้นำน่าจะเซย์เยสมากกว่าปฏิเสธ

Back to top button