ความมั่นคงเหนือปากท้องทายท้าวิชามาร
ไม่กี่วันก่อนฟังวิทยุ นักธุรกิจอีคอมเมิร์ซชื่นชมรัฐบาล จัดสรรคนเป็นรัฐมนตรีเหมาะสม มีความรู้ตรงตำแหน่ง ไม่เหมือนนักการเมืองมาตามโควตา ฟังแล้วก็อยากย้อนว่า แล้วรัฐมนตรีโควตาทหารล่ะ
ใบตองแห้ง
ไม่กี่วันก่อนฟังวิทยุ นักธุรกิจอีคอมเมิร์ซชื่นชมรัฐบาล จัดสรรคนเป็นรัฐมนตรีเหมาะสม มีความรู้ตรงตำแหน่ง ไม่เหมือนนักการเมืองมาตามโควตา ฟังแล้วก็อยากย้อนว่า แล้วรัฐมนตรีโควตาทหารล่ะ
ยิ่งกว่านั้นยังต้องถาม ใครกุมอำนาจตัดสินใจ และตัดสินใจบนยุทธศาสตร์อะไร ให้ความสำคัญเรื่องไหนมาก่อน
ไม่ต้องพูดเรื่องเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่มีคนสนใจอยู่แล้ว เอาแค่ “ความมั่นคงของชาติ” กับ “ปากท้องประชาชน” คุณว่ารัฐบาลทหารให้ความสำคัญเรื่องไหนมากกว่า
พูดอย่างนี้ไม่ได้ว่ารัฐบาลทหารไม่สนใจปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลไหนก็อยากให้เศรษฐกิจดี ลุงตู่ก็อยากให้ประชาชนอยู่ดีกินดี แต่เมื่อไหร่ที่ต้องตัดสินใจ อะไรต้องมาก่อน? ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อยากให้เอื้อเศรษฐกิจดิจิทัล แล้วทำไมการควบคุมการเซ็นเซอร์ต้องมาก่อน
มองง่ายๆ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็ยุทธศาสตร์ความมั่นคงเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยสร้างความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน สร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ฯลฯ
ถ้าเอาความมั่นคงมาก่อน ถ้าเชื่อว่าต้องกำหนดกฎเกณฑ์ให้รัฐใช้อำนาจดุลพินิจปิดกั้นเพื่อรักษาความมั่นคง จะพัฒนาความสามารถในการแข่งขันอย่างไร ถ้าทัศนะจารีตนิยมเป็นใหญ่ ไม่ต้องการให้คนรุ่นใหม่คิดต่าง ต้องเชื่อฟังผู้หลักผู้ใหญ่ อยู่ในโอวาท จะพัฒนาการศึกษาให้เด็ก “คิดเป็น” ได้อย่างไร หรือถ้ามุ่งสร้างระบอบรวมศูนย์อำนาจ รัฐราชการเป็นใหญ่ จะสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมได้อย่างไร (ประชารัฐจัดให้?)
บางคนเชื่อว่า การปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจจะนำประเทศเจริญได้ แบบจีน แบบสิงคโปร์ แต่ไม่มองรากฐานที่แตกต่าง ระบอบลีกวนยูสร้างชาติจากศูนย์ ไม่มีระบบอุปถัมภ์ บังคับใช้กฎหมายเสมอภาคกัน ประกอบกับผู้นำมีวิสัยทัศน์กว้างไกล
จีนก็มีข้อดีข้อเสียไปอีกแบบ จีนเป็นตลาดใหญ่ ไม่แยแสต่างชาติ ใครก็อยากเอาใจ จีนพัฒนาเศรษฐกิจจากศูนย์ จากความยากจนเสมอภาค หลังปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อ 40 ปีก่อน ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็น “ชนชั้นนำ” กลุ่มเดียวที่ปกครองอย่างเป็นเอกภาพ (ระบบราชการไทยไม่มีทางเป็นได้)
ว่าที่จริง ถึงวันนี้ ระบอบ bureaucracy ของจีนก็เริ่มมีปัญหา การพัฒนาทุนนิยมสร้างความเหลื่อมล้ำ มลภาวะ และปัญหาหลายอย่าง แต่พรรคคอมมิวนิสต์ยังอยู่ได้เพราะขายฝัน ว่าทุกคนจะรวยๆๆ พูดอีกอย่างคือเอาปากท้องประชาชนมาค้ำความมั่นคงของพรรค
ถ้าพูดแบบมักง่าย ไม่ต้องแยแสเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย การปกครองในโลกปัจจุบันแบ่งได้กว้างๆ 2 แบบ แบบแรกคือประเทศที่ผู้นำยังต้องคำนึงถึงปากท้องและความพึงพอใจของชาวบ้าน เพื่อให้ตนมีอำนาจได้ต่อไป ทรัมป์ ปูติน สี่จิ้นผิง ดูเตอร์เต บ้าๆ ดีๆ ก็ยังอยู่ในกรอบนี้
แบบที่สองคือประเทศที่เผด็จอำนาจการปกครอง ด้วยลัทธิ ความเชื่อ ศรัทธา ศาสนา หรือศีลธรรม แบบรัฐศาสนา แบบตาลีบัน แบบจีนยุคเหมา หรือเกาหลีเหนือ การปกครองแบบนี้เห็นปากท้องหรือกระทั่งชีวิตชาวบ้าน สำคัญรองจากความมั่นคงของจารีตศรัทธา
แน่ละ รัฐไทยไม่ถึงสุดโต่ง แต่มีแนวโน้มไปทางไหน ก็คงเห็นกัน
ร้ายกว่านั้น เมืองไทยที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ เอาเข้าจริง ก็เป็นเผด็จการศีลธรรมไม่ได้เหมือนกัน เพราะระบบอุปถัมภ์ฝังรากลึก ระบบราชการเต็มไปด้วยความคิดเจ้าขุนมูลนาย เป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็น ก็วิ่งเต้นเส้นสาย ยิ่งไม่เป็นประชาธิปไตย ถามว่าใครจะตรวจสอบใคร