STAR ดาวตกที่ดิ้นรนกลับฟากฟ้าแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

ก่อนสิ้นปี 2559 นายสมชัย ว่องอรุณ หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท สตาร์ ซานิทารีแวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ STAR ได้รายงานว่า ได้ขายหุ้นของบริษัทนี้ออกจากมือ ในสัดส่วน 6.142% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ส่งผลมีจำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการจำหน่ายเหลือแค่เพียง 0.5315%


ก่อนสิ้นปี 2559  นายสมชัย ว่องอรุณ หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท สตาร์ ซานิทารีแวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ STAR ได้รายงานว่า ได้ขายหุ้นของบริษัทนี้ออกจากมือ ในสัดส่วน  6.142% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ส่งผลมีจำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการจำหน่ายเหลือแค่เพียง  0.5315%

ในวันเดียวกัน ผู้ซื้อหุ้นดังกล่าวต่อจากนายสมชัย นางอนัญญา เรืองศักดิ์วิชิต ได้รายงานเช่นกันว่า ได้ถือซื้อหุ้น STAR จำนวน 6.14%  ส่งผลให้มีจำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการได้มาคิดเป็น  6.29%

การเปลี่ยนมือหุ้นที่ถือครองไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในความเป็นจริง STAR กำลังจะอยู่ในระหว่าง “ถ่ายเลือด” เปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่ ซึ่งน่าจะเห็นผลหลังการเพิ่มทุนสำเร็จในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

STAR เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสุขภัณฑ์รายเล็กมากที่ไม่ยอมโตมาหลายปีแล้ว หยุดเทรดมาตั้งแต่ ผู้บริหารบริษัททำเรื่องขอขึ้น SP ในระหว่างวันที่ 8-11 กรกฎาคม 2559 เพื่อหยุดเทรดระยะหนึ่ง โดยหวังว่าจะมีการทำวิศวกรรมการเงิน“เทกโอเวอร์ย้อนศร” (reversed takeover) เข้ามาซื้อกิจการทางประตูหลัง โดย บริษัท ไทยฟิวเจอร์ เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง จำกัด (TFEH) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งธรรมดา

ชะตากรรมของ STAR นั้น เป็นไปตามกฎธรรมชาติของธุรกิจ เนื่องจากการขาดทุนต่อเนื่อง หากนับจากตัวเลขงบการเงินปี 2555 เป็นต้นมา จะเห็นได้ชัดว่าถดถอยมาโดยตลอด (ดูงบการเงินประกอบ) แม้ว่ารายได้จะลดลงไม่มาก แต่การขาดทุนสุทธิที่ร้ายแรง ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อสิ้นงวดไตรมาสแรกปีนี้เหลือเพียงแค่ 5.65 ล้านบาท

ฐานะทางการเงินของ STAR ที่มียอดหนี้สินรวมต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูงถึง 76.8 เท่า เช่นนี้ ต้องเพิ่มทุนอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อไม่ให้ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งตามโครงสร้างถือหุ้นรวมกันในสัดส่วนไม่มากนัก ก็ดูเหมือนจะถอดใจไม่อยากลงขันเอาเงินมาสมทบต่อไปในอนาคต …อาจจะเพราะหมดใจ หรือ เพราะเหตุอื่นๆ…ก็ตัดสินใจทิ้งกิจการ หาคนมารับช่วงต่อในที่สุดคือกลุ่มของนายวัลลภ ยังตรง 

ครั้งนั้น คณะกรรมการ STAR เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ได้มีมติอนุมัติให้ซื้อหุ้นของ TFEH จำนวน 8,170,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท หรือคิดเป็น 100% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ TFEH จากกลุ่มของนายวัลลภ ยังตรง และผู้ถือหุ้นรายอื่นของ TFEH

พร้อมกันนั้น STAR ก็เพิ่มทุนจำนวน 1,750,000,111 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.70 บาท เพื่อเสนอขายแบบ PP ในราคาเสนอขายหุ้นละ 1.30 บาท แต่ไม่ได้ขายเป็นเงินสด หากเอาไปตีราคาแลกหุ้นกับ TFEH โดยการเปรียบเทียบมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ซึงที่ปรึกษาทางการเงินเห็นชอบแล้ว ในอัตราส่วนแลกเปลี่ยนหุ้น TFEH  1 หุ้น ต่อหุ้นของ STAR  214.1983 หุ้น

ผลพวงการแลกหุ้น ทำให้ TFEH กลายเป็นผู้ถือหุ้น 91.18% ใน STAR เหลือให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ เพียงแค่ 8% เศษเท่านั้น ซึ่งตามเงื่อนไข TFEH จะต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ในราคา 1.30 บาทจากผู้ถือหุ้นอื่นๆ

การเทกโอเวอร์ย้อนศร STAR ซึ่งไม่ต้องใช้เงินสดเลย และผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดิม ก็ไม่ได้เงินติดมือกลับออกไปแม้แต่บาทเดียวเช่นกัน ทำให้มีการคาดกันว่า STAR คงไม่ได้ทำธุรกิจสุขภัณฑ์อีกต่อไปแล้ว

แต่…ดีลก็ล่มลงจนได้ ต้องดิ้นรนหาทางออกอื่นกันต่อไป

ทางออกใหม่ เกิดขึ้น 2 ทาง

ทางออกระยะสั้นคือ การแก้ปัญหาสภาพคล่อง เตรียมออกตั๋วแลกเงินระยะสั้น 200 ล้านบาท อายุไม่เกิน 270 วัน นับจากวันที่ออกตั๋วแลกเงิน เสนอขายผู้ลงทุนรายใหญ่

ทางออกระยะกลาง มาจากมติของกรรมการบริษัทเมื่อ วันที่ 23 ธันวาคม 2559  เมื่อ STAR เตรียมเพิ่มทุน 101.59 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 3 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 3 บาท พาร์หุ้นละ 0.70 บาท ระหว่างวันที่ 10 และ 14-17 ก.พ.60 หวังระดมทุนราว 305 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายกลับเข้ามาทำธุรกิจจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ และสื่อโฆษณา

การเพิ่มทุนดังกล่าว หนีไม่พ้นต้องเกิดการเปลี่ยนโครงสร้างของแหล่งเงินทุน เพราะรากฐานเดิมคือ STAR มีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ

การย้ายเข้าสู่ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง มีเป้าหมายเพิ่มผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้หลากหลาย นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์ และกระจายความเสี่ยงการดำเนินธุรกิจหลักจากการลงทุน  เพื่อหาผลตอบแทนเพิ่มเติมในโครงการที่มีศักยภาพ เช่น ธุรกิจสื่อโฆษณา และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยจะจัดสรรเงิน 150 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับธุรกิจจัดจำหน่ายวัสดุ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับงานก่อสร้าง, ลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 100 ล้านบาท ส่วนอีก 55 ล้านบาทจะใช้เป็นเงินลงทุน และเงินหมุนเวียนในธุรกิจสื่อโฆษณา

ความชัดเจนดังกล่าว จะทำให้ธุรกิจของ SATR ฟื้นตัวกลับมาโดดเด่นได้อีกหรือไม่

คำตอบคือ …ไม่ทราบ

อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย หรือปล่อยไปตามยถากรรม

“อิ อิ อิ”       

 

Back to top button