โลกในกำมือ โดนัลด์ ทรัมป์

คืนที่ผ่านมาตามเวลาเมืองไทย สุนทรพจน์ของโดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะได้รับการเฝ้าดูจากคนทั่วโลกว่า เขาจะนำสหรัฐไปสู่จุดไหน แต่ไม่ว่าจุดไหน เขาจะเป็นหนึ่งในประธานาธิบดีสหรัฐที่มีสีสันมากที่สุดคนหนึ่งในรอบ 3 ทศวรรษนี้เลยทีเดียว


พลวัต 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

คืนที่ผ่านมาตามเวลาเมืองไทย สุนทรพจน์ของโดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะได้รับการเฝ้าดูจากคนทั่วโลกว่า เขาจะนำสหรัฐไปสู่จุดไหน แต่ไม่ว่าจุดไหน เขาจะเป็นหนึ่งในประธานาธิบดีสหรัฐที่มีสีสันมากที่สุดคนหนึ่งในรอบ 3 ทศวรรษนี้เลยทีเดียว

ท่ามกลางข้อถกเถียงของบรรดานักคิดและนักวิเคราะห์การลงทุนเชิงกลยุทธ์ว่า นับตั้งแต่ชัยชนะของทรัมป์เหนือคู่แข่งอย่างนางฮิลลารี คลินตัน ต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ตลาดหุ้นนิวยอร์ก มีภาวะกระทิงยาวนานเกือบ 2 เดือนต่อเนื่องกัน อันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นบ่อยนัก เป็น “ความเคลิบเคลิ้ม” ชั่วคราวอย่างหลงผิดของนักลงทุนหรือไม่ ก็มีประเด็นร้อนอื่นๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องก่อนที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งทางอำนาจในวันที่ 20 มกราคมอย่างเป็นทางการ

หลายคนประเมินว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งของทรัมป์สั่นสะเทือนโลกอย่างรุนแรง ไม่ต่างจากกำแพงเบอร์ลินพังลงในปลายปี 1989 บางคนไปไกลกว่านั้นถึงขั้นระบุว่า ประวัติศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมานับแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็นได้มาถึงจุดจบแล้ว เพราะโลกได้มาถึงจุดที่ไม่มีอุดมการณ์อื่นใดที่จะท้าทายความคิดด้านประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรี แต่นั่นคือจุดอันตราย เพราะมันอาจจะหมายถึงการสิ้นสุดของ “ระเบียบโลกใหม่” ที่นำเสนอ “ฉันทามติวอชิงตัน” (Washington Consensus)

ปฏิกิริยาของผู้นำประเทศต่างๆ ที่หันมาทบทวนว่าจะมีทางเลือกอย่างไรต่อนโยบายสหรัฐในยุคของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็น รัสเซีย จีนเยอรมนี อิหร่าน หรือประเทศเล็กๆ อย่าง คิวบา และปาเลสไตน์ เป็นต้นคำถามก็คือ เวลาพิเศษราว 2 เดือนในการทบทวนท่าที กำลังจะหมดลงไปในวันที่ 20 มกราคมนี้แล้ว

ในยุคของประธานาธิบดี จอร์จ บุช ผู้พ่อ หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น ข้อเสนอว่าด้วย “ระเบียบโลกใหม่” ทำให้คนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีความหวังและยึดมั่นในค่านิยมร่วมอยู่หลายอย่าง เช่น การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชานมีส่วนร่วม เศรษฐกิจระบบทุนนิยมและการค้าของโลกที่เสรีและการเมืองระหว่างประเทศที่ยึดหลักข้อตกลงนานาชาติทำให้ไม่เกิดสงครามระหว่างประเทศมหาอำนาจ ทำให้โลกในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา มีสงบสันติค่อนข้างดี ถือเป็นยุคทองของประวัติศาสตร์ ทำให้หลายๆ ประเทศพัฒนาจนกลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางและประชาชนหลายพันล้านคนที่เคยมีรายได้วันหนึ่งน้อยกว่า 1 ดอลลาร์หลุดพ้นจากความยากจน

ระเบียบโลกใหม่ในยุคก่อน กำลังจะกลายเป็นระเบียบที่พ้นยุคในช่วงของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นต้นไป

สหรัฐที่เคยชูข้อเสนอใหญ่ว่า ประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ในโลกจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีภาวะสงบสันติและมีระบบเศรษฐกิจที่เปิดเสรีมากขึ้นเพราะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมักจะไม่ทำสงครามระหว่างกันและกันและประเทศที่มีระบอบการเมืองที่เสรี จะสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและการเปิดประเทศต่อการค้าโลกและนำไปสู่ทัศนคติแบบสากล (cosmopolitanism) ที่เข้ามาแทนความคิดแบบชาตินิยม

ยังเร็วเกินไปที่จะสร้างข้อกล่าวหาว่า สหรัฐนับแต่ยุคของทรัมป์ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุด “ระเบียบโลกใหม่” ที่สหรัฐเป็นคนสร้างขึ้นมาหลังจากการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินแต่ท่าทีของทรัมป์ที่ว่า“อเมริกามาก่อน” มีโอกาสที่อาจเป็นชนวนทำให้เกิดสงครามการค้าและความขัดแย้งทางอารยธรรมระหว่างโลกมุสลิมกับตะวันตกรวมทั้งทัศนะแบบอำนาจนิยมของทรัมป์มีส่วนบั่นทอนความเชื่อในเรื่องประชาธิปไตยเสรี รวมทั้งระเบียบโลกที่อเมริกาเป็นพี่เบิ้มอยู่มายาวนาน

ปรากฏการณ์ที่ชัดเจนคือ ข้อตกลงการค้าที่รัฐบาลโอบามาได้พยายามเจรจาให้เกิดขึ้นคงจะถูกยกเลิกกันไป ในขณะที่นโยบายอื่นๆ เช่น จะเจรจาใหม่กับแคนาดาและเม็กซิโกเรื่องข้อตกลงการค้า NAFTA เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและการถอนตัวของสหรัฐจากองค์การการค้าโลก ฯลฯ ล้วนมีส่วนบั่นทอนความเชื่อมั่นของโลกต่อสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญ

รูปธรรมสำคัญที่เห็นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเป็นทางการ คือเรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ การที่ทรัมป์ได้ทวีตโจมตีการลงทุนโรงงานประกอบรถยนต์ใหม่ของค่ายรถยนต์โตโยต้าของญี่ปุ่นในเม็กซิโก โดยระบุถึงการคัดค้านการตั้งโรงงานฯ ดังกล่าว และให้มาจัดตั้งในสหรัฐแทน ไม่เช่นนั้นจะโดนเพิ่มภาษีนำเข้า

การกระทำดังกล่าวของทรัมป์ นับเป็นครั้งแรกที่มีการพาดพิงถึงนักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีทวีตในลักษณะเดียวกันถึง ฟอร์ด มอเตอร์สและ เจนเนอรัล มอเตอร์สจนทำให้ฟอร์ดประกาศยกเลิกโครงการลงทุนในเม็กซิโกและเตรียมตั้งโรงงานในสหรัฐแทน

ผลสืบเนื่องต่อมา จากข้อมูลการสำรวจ นักธุรกิจจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่ามากกว่า 40% มีความกังวลต่อนโยบายการค้าของ Trump และเหตุการณ์ล่าสุดนี้น่าจะเพิ่มความวิตกกังวลแก่นักลงทุนมากขึ้น เนื่องจากห่วงโซ่ของแผนการผลิตรถยนต์ทั่วโลกอาจจะเปลี่ยนไป หากนโยบายย้ายฐานการผลิตมาที่สหรัฐเกิดขึ้นจริง

ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ผู้ผลิตวางแผนผลิตรถยนต์รุ่นหนึ่งๆ จากโรงงานในไม่กี่ประเทศเพื่อส่งออกไปทั่วโลก และใช้ชิ้นส่วนร่วมกันระหว่างรุ่นต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตจากการผลิตปริมาณมาก ทำให้มีผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ไม่กี่รายที่จะผลิตชิ้นส่วนในปริมาณมากตามไปด้วย แต่นโยบายของทรัมป์จะส่งผลให้มีการชะลอและปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนในประเทศอื่น (รวมถึงไทยซึ่งเคยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะโครงการอีโคคาร์ที่ปัจจุบันมีการส่งออกมากกว่าใช้ในประเทศ)

โลกในกำมือทรัมป์ น่าจะเปลี่ยนไปจากเดิม แต่การประเมินผลดีหรือเสียในช่วงตอนนี้ น่าจะยังเร็วเกินไป เพราะทรัมป์เองก็ชอบที่จะกล่าวเสมอว่า คนที่โจมตีเขานั้น อาจจะรู้จักเขาน้อยกินไป หรือไม่รู้จักเขาเลยก็ได้ 

Back to top button