พาราสาวะถี อรชุน
หลายคนอาจจะวิเคราะห์ภาพของการเมืองภายใต้การบริหารของรัฐบาลคสช.ในยามนี้ไปในโทนทางที่แปลกแปร่งจากเดิม ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญกันหรือไม่อย่างไร เพราะวันอังคารที่ผ่านมาศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.หลังจากถูกถอนประกันและจำคุกในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 เดือนเต็ม
หลายคนอาจจะวิเคราะห์ภาพของการเมืองภายใต้การบริหารของรัฐบาลคสช.ในยามนี้ไปในโทนทางที่แปลกแปร่งจากเดิม ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญกันหรือไม่อย่างไร เพราะวันอังคารที่ผ่านมาศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.หลังจากถูกถอนประกันและจำคุกในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 เดือนเต็ม
ในวันเดียวกัน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีกลาโหมก็พูดถึงเรื่องแนวทางการสร้างความปรองดอง โดยจะเชิญแกนนำหรือตัวแทนกลุ่มเสื้อสีต่างๆ มาร่วมหารือด้วย แม้จะแข็งกร้าวในเรื่องไม่นิรโทษกรรมให้แกนนำทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงก็ตาม แต่ท่วงทำนองเช่นนี้ไม่เคยได้ยินจากปากของเหล่าผู้นำคสช.มาก่อน
ถือเป็นสัญญาณที่ดีหรือเปล่าไม่รู้ แต่ก็น่าจะทำให้คนส่วนใหญ่พอจะมองเห็นภาพของความสามัคคีที่จะเกิดขึ้นได้บ้าง นอกจากบิ๊กป้อมจะพูดแล้วที่รัฐสภา เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองของสปท. ก็พูดถึงเรื่องการสร้างความปรองดองเหมือนกันและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม
โดยในข้อเสนอของกรรมาธิการชุดนี้คือ ให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาที่เป็นแกนนำของม็อบกลุ่มต่างๆ ยอมรับตามคำฟ้องเพื่อให้ศาลดำเนินการปล่อยตัว จากนั้นจะมีมาตรการควบคุมพฤติกรรมในระยะเวลา 5 ปี ห้ามกระทำการที่เข้าข่ายเป็นการชุมนุมหรือปลุกระดม สร้างความแตกแยก ทายไว้ล่วงหน้าได้เลยว่า บรรดาแกนนำเสื้อสีทั้งหลายต้องดาหน้าออกมาปฏิเสธความหวังดี (ประสงค์ร้าย) นี้อย่างแน่นอน
เหตุผลที่ข้อเสนอของเสรีและชาวคณะจะไม่ได้รับการตอบสนอง เป็นเพราะ ประการหนึ่งแกนนำม็อบทั้งหลายต่างปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่ถูกดำเนินคดี นั่นหมายความว่า การจะให้ยอมรับผิดตามที่สปท.ระบุไว้ย่อมเป็นไปไม่ได้ ประการต่อมาเงื่อนไขตามข้อเสนอนี้คือ ห้ามเคลื่อนไหว ชุมนุมใดๆ ในระหว่างที่ถูกควบคุมความประพฤติเป็นเวลาถึง 5 ปีนี่คือการจำกัดสิทธิและเสรีภาพกันทางอ้อม
ไม่รู้ว่าเป็นเจตนาหรือว่าไม่ได้คิดกันให้รอบคอบ แต่ประสานักกฎหมายมืออาชีพกันทั้งนั้นคงจะปฏิเสธเช่นนั้นไม่ได้ เพราะย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าเสนออะไรและจะมีผลในอนาคตอันใกล้นี้อย่างไร อาจจะมีแกนนำม็อบบางพวกเท่านั้นที่รับข้อเสนอนี้ เพราะภารกิจที่รับมามันเสร็จสิ้นแล้ว ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลหน้าเป็นรัฐบาลหวยล็อกยิ่งต้องสงบเสงี่ยมกันเป็นพิเศษ
ผิดกับฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตย ภารกิจแม้จะมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแล้ว ยังต้องดำเนินกิจกรรมกันต่อไป และยิ่งมีรัฐบาลที่เป็นหวยล็อกสะท้อนภาวะการสืบทอดอำนาจชัดเจน ขบวนการประชาธิปไตยยิ่งจะต้องทำงานกันอย่างหนัก ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่าข้อเสนอหลายครั้งจากองคาพยพแม่น้ำ 5 สาย จะถูกปฏิเสธโดยตลอด เพราะขาดความจริงใจและมีวาระซ่อนเร้นตลอดเวลา
อย่างที่ นพดล ปัทมะ ว่าไว้ การปรองดองในชาติเป็นเรื่องที่ควรทำนานแล้ว แต่ที่ผ่านมายังขาดรูปธรรม เชื่อว่าคนส่วนใหญ่อยากเห็นและจะได้ประโยชน์จากความปรองดอง ตนเคยเสนอแนวคิดเรื่องปรองดองซัมมิท โดยให้ผู้มีส่วนได้เสียสำคัญต่างๆ และคู่ขัดแย้งมาร่วมในกระบวนการเปิดอกคุยกันอย่างเป็นระบบเพื่อหาแนวทางที่เป็นรูปธรรม แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง
เมื่อรัฐบาลคิดจะเริ่มทำ ก็ขอให้ทำจริงและให้เกิดผลจริง และต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก ถ้าทำจริงและทำถูก คงได้รับการสนับสนุน อย่างไรก็ตาม มีคำถามฝากถึงรัฐบาลในเรื่องนี้ว่า มีการรัฐประหารมาร่วม 3 ปีแล้ว ทำไมเพิ่งมาเริ่มทำเรื่องปรองดองทั้งๆ ที่เป็นข้ออ้างในการรัฐประหารในปี 2557 หลายฝ่ายรวมทั้งพรรคเพื่อไทยเรียกร้องเรื่องการปรองดองมาต่อเนื่อง แต่ไม่มีการตอบสนอง รัฐบาลจริงจังเพียงใดในเรื่องนี้เพราะเวลาตามโรดแมปเหลือน้อยแล้ว
รัฐบาลเข้าใจเรื่องปรองดองอย่างไร ทำอย่างไรจะให้คู่ขัดแย้งเข้าใจความหมายของคำว่าปรองดองให้ตรงกัน สาเหตุของความไม่ปรองดองเกิดจากอะไร คนในสังคมเข้าใจตรงกันหรือไม่ การที่รัฐบาลจะตั้งกรรมการปรองดองนั้น รัฐบาลควรทำตัวเป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือกรรมการในการสร้างความปรองดองและไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเองใช่หรือไม่ ที่ผ่านมารัฐบาลยึดแนวทางนี้หรือไม่
การเลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน การไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน การไม่เคารพกฎหมายหรือหลักนิติธรรม ความแตกแยกทางการเมืองมีอยู่ในสังคมไทยหรือไม่ และจะแก้ปัญหานี้อย่างไรเพื่อให้เกิดความปรองดอง ในกรณีนี้คงเหมือนที่ได้เน้นย้ำมาโดยตลอด ยุติธรรมไม่มี สามัคคีไม่เกิด จะอ้างว่าก็คนทำผิดย่อมต้องได้รับผลแห่งการกระทำนั้น แต่คำถามที่เซ็งแซ่มาโดยตลอดคือ ความผิดเดียวกันทำไมอีกฝ่ายถึงล่าช้าหรือถูกลงโทษสถานเบา ขณะที่อีกพวกรวดเร็วและโดนเล่นงานอย่างหนัก
ความจริงอันเจ็บปวดนี้ สัมผัสได้จากบทสัมภาษณ์ของ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ไม่เคยได้เข้าทำเนียบรัฐบาลเลยนับแต่รับตำแหน่ง ที่ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2549 บ้านเมืองเราแตกแยก มีเสื้อเหลือง เสื้อแดง ซึ่งการปฏิบัติกับแต่ละฝ่ายที่ผ่านมาก็ถูกนินทาว่าไม่เท่าเทียมกัน ตรงนี้ต้องแก้ให้หมด อย่าเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ที่สอดรับกับความเห็นของหลายฝ่ายก็คือ ถ้าผู้แก้เป็นรัฐบาลก็ต้องยืนอยู่ตรงกลาง อย่ายืนข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และต้องแก้ให้จบ คนที่มาทำต้องรู้ดี ตนในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่รู้สึกว่าเจอปัญหาความแตกแยก ก็อยากให้ความแตกแยกนั้นหมดลง จะปรองดองก็ขอให้ปรองดองกันจริงๆ อย่าเพียงสร้างภาพ อย่าปรองดองกันแต่เพียงคำพูด ขอให้ลงไปถึงปัญหาว่าเกิดขึ้นที่ไหน แล้วจะดับปัญหานั้นอย่างไร
แน่นอนว่า หากใครทำเรื่องปรองดองได้สำเร็จ คนคนนั้นหรือคณะนั้นจะเป็นวีรบุรุษของชาติ วันนี้บ้านเมืองแตกแยกรุนแรง ไม่ต้องปฏิเสธทุกคนรู้ดี ขณะที่ยังไม่ได้ลงมือทำจะมาตำหนิหรือตั้งแง่ไว้ก่อนก็คงจะไม่ยุติธรรม จึงต้องให้กำลังใจท่านผู้นำและผู้ที่จะลงมือผู้ทำ ขอให้ทำอย่างจริงจัง โดยยึดชาติบ้านเมืองและประชาชนตามที่ท่านกล่าวอ้าง อย่าให้เกิดภาพเลือกข้างแบ่งพวกเหมือนที่ผ่านมาอีก