พาราสาวะถี อรชุน

ถนนสายปรองดองมองยังไงคงท่าจะเกิดยาก ไม่ใช่เพราะขั้วความขัดแย้งที่ยังหาทางลงรอยกันไม่ได้ แต่เป็นท่าทีของท่านผู้นำเองนั่นแหละ ใครได้ฟัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้โอวาทแก่เด็กที่สนามเสือป่าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา คงคิดเหมือนกัน เพราะแทนที่จะบอกแค่ให้เด็กใช้สมองให้ครบอ่านหนังสือมากๆ จะฉลาดและเก่ง เติบโตไปเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ


ถนนสายปรองดองมองยังไงคงท่าจะเกิดยาก ไม่ใช่เพราะขั้วความขัดแย้งที่ยังหาทางลงรอยกันไม่ได้ แต่เป็นท่าทีของท่านผู้นำเองนั่นแหละ ใครได้ฟัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้โอวาทแก่เด็กที่สนามเสือป่าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา คงคิดเหมือนกัน เพราะแทนที่จะบอกแค่ให้เด็กใช้สมองให้ครบอ่านหนังสือมากๆ จะฉลาดและเก่ง เติบโตไปเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ

แต่ปรากฏว่า ท่านผู้นำยังคงกระแทกแดกดันไปพูดถึงผู้ใหญ่บางคนที่ใช้สมองไม่ครบ แล้วสร้างความขัดแย้งแตกแยกให้บ้านเมือง เรื่องอย่างนี้ในฐานะคนที่มีวุฒิภาวะหากไม่พูดก็ไม่เสียหายอะไร แต่เมื่อไม่ยอมปล่อยวางเหมือนมีแค้นแน่นฝังอก ก็ไปเที่ยวโพนทะนา แล้วที่จะไปขอความร่วมมือให้คู่ขัดแย้งหันหน้าเข้าหากันมันจะสำเร็จได้อย่างไร

ในเมื่อตัวผู้นำเองยังเต็มไปด้วยอคติ คิดแต่ฝ่ายเขาฝ่ายเรา ยังมองพวกเป็นต่างเป็นศัตรู เมื่อเดินบนเส้นทางเช่นนี้ ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับความร่วมมือจากผู้คนทุกฝ่าย เพราะกลายเป็นว่าผู้มีอำนาจปรองดองแค่ปาก อยากจะพูดอะไรให้สวยหรูดูดีก็ว่าไป แต่ในอีกด้านยังไม่ละวางเที่ยวกล่าวหาและด่าทออยู่เป็นประจำ ต้องถามกันดังๆ ว่าที่ท่านทำอยู่นอกจากความสะใจแล้วมีอะไรดีขึ้นไหม

ต้องมองไปข้างหน้าว่าถ้ามีเลือกตั้งแล้ว หากท่านมั่นใจว่าจะกลับมาบริหารประเทศต่อ จากการวางหมากกลแบบไหนก็สุดแท้แต่ ต้องไม่ลืมเมื่อถึงเวลานั้น อำนาจตามมาตรา 44 ไม่มีอยู่ในมืออีกต่อไปแล้ว ท่านจะใช้อะไรมาจัดการปัญหาที่กวาดไปซุกใต้พรมเวลานี้ นี่คือหลักคิดง่ายๆ ถ้ามองไกลกันถึงขนาดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็ควรจะมีวิสัยทัศน์ที่จะแสวงหาความร่วมมือด้วยความเต็มใจและยั่งยืนด้วย

พูดถึงโรดแมปการเลือกตั้ง วันนี้มีการพูดถึงเงื่อนเวลาด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อนำไปสู่การขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกลับมาดำเนินการแก้ไข อาจจะต้องลากยาวกันไปถึงปี 2562 แต่ก็มีผู้สันทัดกรณีคำนวณตัวเลขเวลาของกระบวนการที่จะตั้งต้นกันใหม่ อย่างไรเสียเลือกตั้งก็จะไม่ถูกลากไปไกลถึงขนาดนั้น

มีการคำนวณเวลาทั้งกระบวนการว่า หากใช้เวลากันแบบเต็มพิกัดตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้จะใช้เวลาทั้งสิ้น 19 เดือน หรือ 570 วันเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง นั่นหมายความว่า น่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้ไม่เกินเดือนตุลาคม 2561 นี่คือระยะเวลาที่ดีดลูกคิดกันแบบเต็มที่แล้ว หากแต่บางขั้นตอนอาจสามารถลดเวลาลงได้อีก ซึ่งก็จะเร็วกว่าเงื่อนเวลาที่ว่านี้

นี่คือระยะเวลาที่ว่ากันด้วยปัจจัยปกติ หากมีอะไรที่ผิดเพี้ยนไปจากนี้นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มีการสืบค้นไปถึงห้วงเวลาที่บ้านเมืองปลอดการเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร โดยเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ประชาไทก็พบว่าการอยู่ในตำแหน่งบริหารประเทศของบิ๊กตู่หรือรัฐบาลรัฐประหารเป็นรองแค่ยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพล ถนอมกิตติขจร เท่านั้น

โดยสมัยของจอมพลสฤษดิ์ที่ทำรัฐประหารครั้งที่สอง ในนามคณะปฏิวัติในวันที่ 20 ตุลาคม 2501  ประกาศให้ยกเลิกพรรคการเมืองทั้งหมด ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้นและยกเลิกรัฐสภา พร้อมกับการที่จอมพลผ้าขะม้าแดงก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐประหารครั้งนี้ถือว่า จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจตัวเองก็ได้ โดยในเดือนมกราคม มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้จอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจในตำแหน่งได้อย่างเบ็ดเสร็จ มีรัฐธรรมนูญมาตรา 17 ที่ให้อำนาจนายกฯจัดการกับบุคคลที่ก่อความไม่สงบได้ทันที แล้วจึงค่อยแจ้งต่อสภา ทำให้ในช่วงนี้มีการใช้มาตรา 17 สั่งประหารชีวิตคนจำนวนมาก

กระทั่งภายหลังจอมพลสฤษดิ์ เสียชีวิตเมื่อ 8 ธันวาคม 2506 จอมพลถนอม จึงดำรงตำแหน่งนายกฯต่อจากจอมพลสฤษดิ์ โดยในที่สุดรัฐธรรมนูญที่ร่างมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2502 ก็มีการประกาศใช้เมื่อ 20 มิถุนายน 2511 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 มีการจัดเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 รวมเวลานับตั้งแต่การรัฐประหารครั้งที่ 2 ของจอมพลสฤษดิ์ถึงวันเลือกตั้งครั้งแรกกินเวลา 10 ปี 3 เดือน 21 วัน

ผลการเลือกตั้ง จอมพลถนอมซึ่งไม่ได้ลงเลือกตั้ง แต่เป็นหัวหน้าพรรคสหประชาไทยได้ที่นั่ง 74 ที่นั่ง ทำให้จอมพลถนอมรวมเสียงจากพรรคการเมืองต่างๆ ตั้งรัฐบาลผสมและเป็นนายกฯต่อสมัยที่สอง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้ที่นั่ง 55 ที่นั่ง เป็นแกนนำฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตามในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอมก็ทำรัฐประหารตัวเอง

มีการยกเลิกรัฐสภา พรรคการเมือง และประกาศใช้กฎอัยการศึก ตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติ ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนกระทั่งรัฐบาลทหารของจอมพลถนอมถูกโค่นลงอันเป็นผลจากการชุมนุมของนิสิต นักศึกษา กรรมกร ประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 จากรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 และการล้มรัฐบาลถนอม กว่าจะจัดการเลือกตั้งได้คือ 26 มกราคม 2518 รวมใช้เวลา 3 ปี 2 เดือน 9 วัน

สำหรับการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ปีเกือบ 8 เดือน ยังไม่รู้ว่าจะจัดการเลือกตั้งวันไหน โดยไม่ใช่เรื่องแปลกที่โรดแมปของคสช.จะเลื่อนออกไปอีก แม้ว่าจะได้ไปสัญญาประชาคมโลกผ่านเวทีสหประชาชาติแล้วก็ตาม เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกนับตั้งแต่ก้าวสู่อำนาจจากการรัฐประหาร บิ๊กตู่เลื่อนโรดแมปมาแล้วหลายรอบ

บนความไม่แน่นอนที่ไม่อาจยืนยันได้นี้ บิ๊กตู่และชาวคณะจึงหันมาเร่งเรื่องของการปฏิรูป การเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดอง โดยเฉพาะประเด็นหลังแนวทางของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ต้องการให้ขั้วขัดแย้งมาเซ็นเอ็มโอยูร่วมกันนั้น ถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะนี่จะเป็นการผูกมัดไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบิดพลิ้ว

โดยที่ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.ย้ำพร้อมที่จะทำเอกสารเสนอแนวทางปรองดองไปถึงรัฐบาล เพียงแต่อยากจะตั้งข้อสังเกต หากรัฐบาลเริ่มต้นด้วยการมองว่าฝ่ายหนึ่งได้ฝ่ายหนึ่งเสีย กล่าวหากันไปมาปัญหาก็จะไม่จบ ตรงนี้แหละคืออุปสรรคที่ผู้มีอำนาจจะต้องก้าวข้ามให้พ้น หากท่าทีเหมือนที่ท่านผู้นำพูดในงานวันเด็กก็ปิดประตูตายเรื่องสร้างสามัคคีได้เลย

Back to top button