‘บจ.’กับตั๋วบี/อีลูบคมตลาดทุน
จริงๆ แล้วมูลหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น (บี/อี) ที่กำลังมีปัญหา ถือว่ามีจำนวนไม่มาก
ธนะชัย ณ นคร
จริงๆ แล้วมูลหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น (บี/อี) ที่กำลังมีปัญหา ถือว่ามีจำนวนไม่มาก
หรือที่มีปัญหาจริงๆ ก็เป็นของหุ้น KC (เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้) และของ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC และ ล่าสุดคือหุ้น RICH
ส่วนของ NMG และ หุ้น EFORL ชำระกันไปหมดแล้ว
ก่อนหน้านี้ สมาคมตราสารหนี้ไทย แจ้งตัวเลขมูลค่าของตั๋วบี/อี ปัจจุบันอยู่ที่ 4.5 แสนล้านบาท
ในจำนวนนี้เป็นตั๋วบี/อี “ไม่มีเรตติ้ง” กว่า 40%
หรือคิดมูลหนี้เกือบๆ 2 แสนล้านบาท
วานนี้ มี “บจ.” หลายแห่งต่างแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ
นัยสำคัญว่า ตั๋วบี/อี ของตนเองนั้น จะไม่มีปัญหาแน่นอน และได้เตรียมเงินเพื่อการไถ่ถอนไว้แล้ว
ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า แม้ บจ.บางแห่งที่มีปัญหาเรื่องชำระหนี้ตั๋ว บี/อี จะเป็นปัญหาทางเทคนิค
ทว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ถูกบั่นทอนลง
ทำให้ บจ.ที่มีการออกตั๋วบี/อี ต้องส่งหนังสือ เพื่อให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น และไม่ลุกเป็นไฟลามทุ่ง จนยากเกินเยียวยา
กรณีของ EFORL นั่นคือ เหยื่อของเหตุการณ์นี้
เมื่อนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และไม่ลงทุนในตั๋วบี/อี ของ EFORL ต่อไป เมื่อครบกำหนดชำระ (โรลโอเวอร์)
จึงทำให้เกิดปัญหาด้านการผิดนัดทันที
แต่ EFORL ก็สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
ปัญหาตั๋วบี/อี ที่น่าจะมีปัญหามากสุด น่าจะเป็นกรณีของ IFEC
เพราะ IFEC นั้น กำลังเผชิญกับปัญหาระหว่างผู้บริหารชุดปัจจุบัน กับอดีตผู้บริหารจนฝุ่นตลบไปหมด
ฟ้องกันไปมาแทบจะรายวัน
จนส่งผลกระทบต่อหลายๆ ธุรกรรม เพราะปัจจุบัน เหลือ กรรมการอยู่เพียง 2 คน
ซึ่งนำมาถึงข้ออ้างจากกรรมการชุดปัจจุบันว่า กรรมการมีไม่ครบ ทำให้มีปัญหาการชำระหนี้ตั๋วบี/อี
และทั้งหมดนี้จะต้องรอการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 25 มกราคมนี้
ในด้านตลาดหลักทรัพย์ฯเอง ก็ส่งหนังสือทวงถาม IFEC เพื่อให้ชี้แจงเกี่ยวกับปัญหา ตั๋วบี/อี ว่าจะมีวิธีการอย่างไร ตั้งแต่เมื่ออาทิตย์ก่อนหน้า
หลังจาก IFEC ผิดนัดล่าสุดจำนวน 200 ล้านบาท กับ บลจ.โซลาริส (ส่วนงวดแรกที่ผิดนัด 100 ล้านบาท นั้น มีการชำระแล้ว)
พอมาวานนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถามย้ำกลับไปอีกครั้ง
แต่ก็ยังไม่ได้รับการชี้แจง
หุ้นของ IFEC ยังคงถูกพักการซื้อขาย (SP) ต่อไป
ปัญหาใหม่ของ IFEC คือ หุ้นกู้ที่มีมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท และครบกำหนดไถ่ถอนในเดือน พ.ย.60
มีเงื่อนไขระบุไว้น่าสนใจ
นั่นคือ หาก IFEC ผิดนัดชำระหนี้รายการใดเกินกว่า 300 ล้านบาท
หุ้นกู้ 3 พันล้านบาท ดังกล่าวนั้น เจ้าหนี้ จะขอการไถ่ถอนได้ทันที
เรื่องนี้ผู้บริหารของ IFEC ต่างทราบดี
และคาดเดาเอาว่า น่าจะหาทางแก้ปัญหาอยู่
เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ปัญหาที่พวกเขาจะเผชิญนั้น จะมากกว่าที่ประสบอยู่หลายเท่าตัวเลยล่ะ
ยังมีประเด็นที่น่าสนใจจากการให้สัมภาษณ์ของ “สันติ กีระนันทน์” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ ตลท.
เพราะมีการบอกว่า บจ.มักจะใช้ตั๋วบี/อี ผิดวัตถุประสงค์
โดยจะใช้เพื่อ “การลงทุน” มากกว่า “บริหารสภาพคล่อง”
พร้อมกับจะมีการเสนอว่า ตั๋วบี/อี ควรจะต้องมีการจัดเรตติ้ง เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลายออกไป
แต่ทั้งหมดนี้จะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง
ความเชื่อมั่นนั้น หากมันสูญเสีย หรือลดลงไปแล้ว
โอกาสจะดึงกลับขึ้นมาให้เหมือนเดิม
ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย