ปิดประตูตีแมวพลวัต 2017
วันที่ 15 มกราคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.๒๕๖๐ (ทดแทน พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่ใช้บังคับมาเป็นเวลานานถึง 84 ปี) มีสาระสำคัญสุดในมาตราที่ 4-6 ดังนี้
วิษณุ โชลิตกุล
วันที่ 15 มกราคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.๒๕๖๐ (ทดแทน พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่ใช้บังคับมาเป็นเวลานานถึง 84 ปี) มีสาระสำคัญสุดในมาตราที่ 4-6 ดังนี้
-มาตรา ๔ บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทําการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการอําพราง การให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(๑) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนดไว้
(๒) กําหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจํานวนเงินกู้หรือเรื่องอื่นๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืม หรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกําหนด
(๓) กําหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือสิ่งของหรือโดยวิธีการใดๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงินมาตรา ๕ บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องจากบุคคลอื่นโดยรู้ว่าเป็นสิทธิที่ได้มาจากการกระทําความผิดตาม
-มาตรา ๕ และใช้สิทธินั้นหรือพยายามถือเอาประโยชน์แห่งสิทธินั้น ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔
-มาตรา ๖ เมื่อศาลพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดแต่รอการกําหนดโทษหรือรอการลงโทษไว้ไม่ว่าจะมีคําขอหรือไม่ ศาลอาจนําวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา ๓๙ (๓) และ (๕) แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม
เป้าหมายของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวคือ มองเห็นว่า “การให้กู้ยืมเงินที่เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ร้อยละ 15 ต่อปี หรือการเรียกเอาประโยชน์อย่างอื่น ทำให้เกิดเครือข่ายผู้มีอิทธิพลเรียกเก็บดอกเบี้ยรายวันในอัตราที่สูง เกิดองค์กรอาชญากรรมที่อาศัยธุรกิจรูปแบบเช่าซื้อเงินด่วน กระจายไปตามที่สาธารณะ สื่อออนไลน์ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี”
โดยสาระสำคัญ การแก้ไขดังกล่าวเป็นเรื่องเจตนาดี แต่การที่แก้ไขเพียงเรื่องเดียวที่โดดเด่น คือ เพิ่มโทษผู้กระทำความผิดจากเดิมผู้เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ในกรณีที่มีการกระทำความผิดเป็นกลุ่มกระบวนการที่เป็นลักษณะนายทุนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และหากผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเพิ่มโทษเป็น 2 เท่า
คำถามตามมาคือ นี่เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุที่ยากจะบรรลุเป้าหมาย เพราะไม่ได้แก้ไขอย่างบูรณาการถึงรากเหง้าของที่มาปัญหา ใช่หรือไม่
ถ้าใช่ นี่คือกระบวนการ “ปิดประตุตีแมว” เพราะจะทำให้เงินกู้นอกระบบที่เคยเป็นที่พึ่งพิงของคนชั้นรากหญ้าที่ยากจน และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนอื่นๆ ขาดหายไปโดยปริยาย ในขณะที่สถาบันการเงินในระบบกลายเป็น “แมวนอนหวด” ที่รอคอยเก็บเกี่ยวในลักษณะ “ปลิงดูดเลือด” ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมายาวนาน
โดยข้อเท็จจริง ดอกเบี้ยไม่ได้มีความหมายในตัวของมันเอง แต่เป็นตัวเลขที่ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นภาพสะท้อนความแข็งแรงทางการเงินในอนาคตของผู้ที่เกี่ยวข้อง พูดง่ายๆ คือ อัตราดอกเบี้ยสัมพันธ์กับอนุกรมเวลา และสภาพแวดล้อม บนรากฐานของช่องว่างระหว่างความต้องการกับการสนองตอบของสภาพคล่องของทุนในตลาด
หากถือตามปรัชญายิว การให้เงินกู้แก่คนมีความหมายเชิงบวก คือ การทำให้คนเอาเงินอนาคตมาใช้ล่วงหน้าในปัจจุบัน จึงเป็นการทำบุญชนิดหนึ่งเพราะช่วยต่อโอกาสให้คนที่ไม่มีในปัจจุบัน แต่มีอนาคตเอามาทำให้งอกเงยขึ้นได้ แต่ส่วนในแง่มุมของศาสนาอื่นๆ (รวมทั้งพุทธศาสนาบางสำนัก) การปล่อยเงินกู้แบบมีดอกเบี้ย ล้วนเป็นการ “ขูดรีด” (exploitation) และเป็นบาป แต่จะบาปมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับความเข้มข้นของแต่ละศาสนา
แม้ในปัจจุบัน ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ ที่เคยถูกเรียกว่าปลิงดูดเลือด จะเติบใหญ่รวดเร็ว จากการปล่อยสินเชื่อหลายรูปแบบทั้งเช่าซื้อ หรือรับจำนำของ หรือสินเชื่อเพื่อบริโภคอื่นๆ และมีภาพลักษณ์ดีขึ้น แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการอีกมากที่ยังเป็นแหล่งเงินกู้นอกระบบต่อไป
ความล้มเหลวที่รัฐจะออกแบบให้คนยากจนเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ คือรากฐานของแหล่งเงินกู้นอกระบบ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามออกแบบนโยบายนาโนไฟแนนซ์ ก็ปรากฏว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงทั้งในทางธุรกิจ และในด้านการแก้ปัญหาสินเชื่อนอกระบบ
ลูกหนี้เงินกู้นอกระบบ ที่ต้องทำการกู้ยืมโดยมีสัญญาที่เสียเปรียบ เป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินอื่นใด ต้องจำยอมรับกติกามารยาทที่ไร้มาตรฐาน ทำให้มีปัญหาตามมา เช่น 1) การคิดดอกเบี้ย เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในกรณีที่มีหลักทรัพย์ และไม่มี 2) เจ้าหนี้ยื่นสัญญาที่เอาเปรียบให้ลูกหนี้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่า เปิดช่องให้แก้ไขได้ตามชอบใจรวมทั้ง จำนวนเงินและดอกเบี้ยที่ผิดไปจากข้อตกลง 3) ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วแต่เจ้าหนี้บอกว่ายังไม่ได้ชำระหนี้
การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ โดยมีเจตนาคุ้มครองลูกหนี้มากกว่าเจ้าหนี้ ทำนองเดียวกันกับ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ใน 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นการแก้ปลายเหตุเช่นกัน
คำถามคือ เมื่อแก้ที่ปลายเหตุ เจ้าหนี้ที่เคยได้รับประโยชน์จากกฎหมายเดิม ก็ต้องหาทางป้องกันตัวที่ต้นเหตุใน 2 ลักษณะคือ 1) เปลี่ยนเงื่อนไขในการกู้ยืมเงินที่ยุ่งยากมากขึ้น และมีทางเลือกในการทวงคืนที่ง่ายดายขึ้น 2) ออกแบบการปล่อยเงินกู้ภายใต้กติกาเดิมให้เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นที่ทำให้ลูกหนี้เข้าถึงแหล่งเงินยากกว่าเดิม
ท้ายสุดก็จะไปลงเอยตรงที่ คนยากจนที่ไม่เคยเข้าถึงแหล่งสินเชื่อในระบบ ก็ยังไม่สามารถเข้าอยู่ในระบบได้เช่นเดิม และวงเงินกู้นอกระบบที่จะหดหายลงไปฮวบฮาบ
ถามว่า แล้วใครจะเดือดร้อนมากกว่าเดิม หากไม่ใช่คนยากจนที่ไม่สามารถหาที่พึ่งในการเข้าถึงแหล่งทุนใดๆ ได้
คำตอบล่องลอยในสายลม