ในห้วงอารมณ์ขี่พายุ ทะลุฟ้า
ชาวกรุงยังคงงุนงงไม่หาย เหตุไฉนจึงได้พานพบปรากฏการณ์“น้ำท่วมในฤดูแล้ง”
ชาวกรุงยังคงงุนงงไม่หาย เหตุไฉนจึงได้พานพบปรากฏการณ์“น้ำท่วมในฤดูแล้ง”
ฉงนระคนตกใจยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อผู้ว่าฯ กทม. หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ ที่พวกเขาเลือกมากับมือแท้ๆ เสือกไสไล่ส่งให้อพยพไปเป็น “ชาวดอย” หากรับไม่ได้กับธรรมชาติการเป็นเมืองน้ำของกรุงเทพฯ
เสรี วงศ์มณฑา ผู้นำแคมเปญ ”ไม่เลือกเรา เขามาแน่” เพื่อกีดกันผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย แสดงอาการผิดหวังอย่างหนัก ถึงขั้นประณามคุณชายว่าอีคิวต่ำ
สำหรับเราๆ ท่านๆ ก็คงจะเอือมระอาระกำไปตามเรื่อง คงต้องอดทนกันต่อไปจนวาระการทำงานสมัย 2 ของผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์สิ้นสุดลงนั่นแหละ จากนั้นจึงค่อยชำระความกันไป
น้ำท่วมหน้าแล้งก็แปลกดี!
เหล่าบรรดาสนช.-สปช. ที่ได้ชื่อเป็นคนดีมีคุณธรรมนี่ก็แปลกดีอีกเหมือนกัน
สมัยก่อนด่าส.ส.-ส.ว.เป็นสภาผัวเมีย แต่พอตัวเองมีอำนาจ กลับทำตัวเองยิ่งกว่าสภาผัวเมีย คือขนกันมาทั้งครอบครัว มีทั้งเมียและลูกเข้ามาช่วยงานยกทีม
แถมพอถูกจับได้ไล่ทัน ยังทำฉ้อฉลเลี่ยงบาลี ไปไขว้ลูกไขว้เมียกับเพื่อนสนช.-สปช.ซะอีก
ก็ยิ่งเลวร้ายสามานย์ไปกันใหญ่
รัฐบาลประยุทธ์อัดฉีดเงิน 5,000 กว่าล้านบาท สนับสนุนกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งก็คือโปรเจ็กต์ประชานิยมระดับตัวพ่อที่ทักษิณเป็นผู้ให้กำเนิด
มันแปลกก็ตรงเป็นโครงการทักษิณ แต่ได้รับการสนับสนุนโดยพล.อ.ประยุทธ์นี่แหละ
บรรยากาศร้อนแรงพลุ่งพล่าน น่าจับตามองห้ามกะพริบตาตอนนี้ ก็คงหนีไม่พ้นอารมณ์เกรี้ยวกราดของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เรียกว่า ”มู้ดดี้” ได้ทุกเรื่อง ทุกประเด็น พร้อมระเบิด ”จุดเดือด” ได้ตลอดเวลา ไม่เคยพบเคยเห็นนายกรัฐมนตรีท่านใดเป็นเช่นนี้มาก่อนเหมือนกัน
เศรษฐกิจไม่ดี น่าจะเป็นชนวนอารมณ์
มันก็ไม่ดีจริงๆ ล่ะครับ ใครจะมาหลับหูหลับตาบอกว่าดี
เงินเฟ้อติดลบมา 2 เดือนแล้ว ส่งออกก็ติดลบมา 2 เดือนเช่นกัน แล้วจะเอาอะไรไปดันจีดีพีโต 3% ได้ในไตรมาส 1 ในเมื่อมูลค่าส่งออกคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 70 ของจีดีพี
เศรษฐกิจฝืดเคืองเป็นเรื่องใหญ่ และก็คงจะส่งผลกระทบไปยังตลาดหุ้น ที่ขณะนี้คลายความร้อนแรงลงไปมากทั้งปริมาณซื้อขายและดัชนีหลักทรัพย์
ความหวังก็อยู่ที่การรอคอยเม็ดเงินมาทำโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งระบบรางและมอร์เตอร์เวย์เท่านั้น ซึ่งล่าช้าอย่างเหลือเชื่อ
เพราะเวลาล่วงผ่านมา 10 เดือนแล้ว ยังไม่มีการลงมือทำอะไรกันเลย
น่าเห็นใจพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ที่พยายามแล้วพยายามเล่า แต่ก็ติดขัดด้วยกรอบแนวคิด ”ระแวงโกง” จนการงานติดขัดไปหมด
เขาเคยบ่นด้วยความอิดหนาระอาใจว่า ความล่าช้าเกิดจากหน่วยงาน 2 หน่วยคือ คตร. (คณะกรรมการตรวจสอบโครงการลงทุนขนาดใหญ่) ซึ่งคสช.แต่งตั้งขึ้นมา และสตง.อันเป็นองค์กรที่ตรวจดะและถี่ยิบ
บางเรื่องผ่านการตรวจสอบไปนานแล้ว แต่ขั้นตอนงานยังไม่คืบหน้าไปไหน ก็ต้องถูกเรียกเรื่องมาตรวจสอบใหม่ ด้วยข้ออ้าง ข้อมูลเก่าไม่ทันสมัยไปแล้ว
ตอนที่ครม.มีมติปลายปีที่แล้วให้ไปทบทวนราคาโครงการใหม่ตามปัจจัยราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง นั่นก็ทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายเขียวเหนือ ซึ่งได้ผู้ชนะประมูลไปแล้ว 4 สัญญา ต้องมาเริ่มต้นนับ 1 เจรจากันใหม่
ช้าไปอีก 4 เดือน เพิ่งจะนัดหมายเซ็นสัญญากันได้ช่วงต้นเดือนหน้านี้
ท่ามกลางอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน คงไม่มีอะไรจะดีไปกว่า การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งหลายแหล่แล้ว
อุปสรรคล่าช้าจนเกินงามเกิดเพราะการบริหารจัดการ ก็ต้องแก้ที่การบริหารจัดการ จะมัวหัวฟัดหัวเหวี่ยงไปทำไม