GUNKUL… อยากได้ แต่ไม่ลนลาน

หุ้นบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เคยได้ชื่อว่าเป็นหุ้นแห่งอนาคต เพราะโมเดลธุรกิจที่เกี่ยวกับไฟฟ้าอันหลากหลาย นับแต่ธุรกิจขายอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้า รับเหมาติดตั้ง และลงทุนร่วมพลังงานทางเลือก


แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

 

หุ้นบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เคยได้ชื่อว่าเป็นหุ้นแห่งอนาคต เพราะโมเดลธุรกิจที่เกี่ยวกับไฟฟ้าอันหลากหลาย นับแต่ธุรกิจขายอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้า รับเหมาติดตั้ง และลงทุนร่วมพลังงานทางเลือก

การเติบโตอย่างก้าวกระโดด ดูได้จากขนาดสินทรัพย์ ที่ปลายปี 2556 มีเพียง 4,579 ล้านบาทเท่านั้น แต่ สิ้นไตรมาสสามของปี 2559 มีขนาดสินทรัพย์ที่ระดับ 22,714 ล้านบาท  ในขณะที่ส่วนผู้ถือหุ้นก็โตจากสิ้นปี 2556 ที่ระดับ 2,848 ล้านบาท มาเป็น 9,226  ล้านบาท เมื่อสิ้นไตรมาสสาม 2559

โตแบบก้าวกระโดดอย่างนี้ ไม่แปลกที่หนี้สินก็ย่อมโตตามไปด้วย จากสิ้นปี 2556 ที่ระดับ 1,458 ล้านบาท มาเป็น 12,862 ล้านบาทเมื่อสิ้นไตรมาสสาม 2559

ก้าวย่างการเติบโตนี้ ไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกกุหลาบเสมอไป เพราะปี 2559 รายได้ไม่เข้าเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะโตประมาณ 50% …กลับลดลง ก็เลยเป็นหุ้นที่น่าผิดหวังแห่งปีไปอีกราย แม้อัตรากำไรสุทธิยังเหนือกว่า 16%

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร อธิบายว่าปีที่ผ่านมางานรับเหมาก่อสร้างและติดตั้ง ลดลงทำให้เทรดดิ้งที่ขายเข้าไปในส่วนของงานรับเหมาก่อสร้างลดลงด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานลมวายุวินด์ฟาร์ม ขนาด 50 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ล่าช้าเล็กน้อย จากกระบวนการภายในของหน่วยงานราชการทำให้สามารถรับรู้รายได้เข้ามาล่าช้า

สรุปรวม รายได้ของ GUNKUL ในปี 2559 คาดว่าจะลดลงไปประมาณ 1 พันล้านบาท ทำให้รายได้ต่ำกว่าปี 2558 กระทบต่อกำไรสุทธิ ที่น่าจะทำได้ต่ำกว่าระดับ 685.14 ล้านบาทของในปี 2558

ปีเก่าผ่านไป เป็นอดีต แต่ปีใหม่ ก็น่าจะดีขึ้น

นางสาวโศภชา คาดว่ากำไรสุทธิปี 60 จะกลับมาเติบโตหลังจากที่หดตัวในปีก่อน ขณะที่ตั้งเป้ารายได้ปีนี้จะกลับมาขยายตัวได้ 20% จากราว 3 พันล้านบาทในปีที่แล้ว อีกทั้งยังจะมีโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่จะเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีนี้อีก 60 เมกะวัตต์ พร้อมยังมองหาโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มเติม ที่จะมีความชัดเจนในปี 2560 นี้

GUNKUL20170119

แผนธุรกิจของปี 2560 GUNKUL จะมีโรงไฟฟ้าพลังงานลมเริ่ม COD (จ่ายไฟเข้าระบบและรับรู้รายได้) อีก 60 เมกะวัตต์ จากของเดิมที่ COD แล้ว 171 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตไฟฟ้าในมือที่มีสัญญาซื้อขายไฟ PPA ทั้งหมด 488 เมกะวัตต์ ขณะที่ในปี 2561 จะมีโรงไฟฟ้า COD อีกกว่า 100 เมกะวัตต์ จาก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการพลังงานลม 50 เมกะวัตต์ และโครงการในญี่ปุ่น อีก 2 โครงการ

ที่ว่ามา ฟังกันจนช้ำหู..ไม่ถือเป็นไม้เด็ดสำหรับนักลงทุน… โดยเฉพาะข่าวลือเรื่องซื้อหุ้นกิจการพลังงานลม

ซีอีโอหญิงของ GUNKUL พูดกว้างๆ ในที่เปิดว่า บริษัทขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าซื้อโครงการพลังงานลมขนาดใหญ่ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้

พูดเพียงเท่านี้ ก็เสมือนคอนเฟิร์มว่า การเจรจาซื้อบริษัท วินด์ เอเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) มูลค่า 30,000 ล้านบาท…มีมูล ไม่ใช่โคมลอย

ข้อเท็จจริง “ปิดกันให้แซ่ด” คือ GUNKUL ได้ว่าจ้าง บริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BROOK ทำหน้าที่เจรจาร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เพื่อให้กลุ่มเคพีเอ็น (นายณพ ณรงค์เดช) ยินยอมขายหุ้นทั้งหมด (ยังชำระค่าหุ้นไม่หมด) ที่ถืออยู่ใน บริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด หรือ REC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 60% ใน WEH ซึ่งมี PPA โครงการโรงไฟฟ้าพลังลมรวม 930 เมกะวัตต์

ปัญหาคือ เรื่องของ WEH นั้นยุ่งอีนุงตุงนังยิ่งกว่าละครน้ำเน่าหลายเรื่องรวมกันจนกระทั่งมีคำถาม ว่า “เรามาถึงวันนี้กันได้อย่างไร”

 ประเด็นที่โยง GUNKUL เข้ากับ REC และ WEH อยู่ที่ว่า เจ้าหนี้รายใหญ่สุดของคนที่เกี่ยวข้อง คือ SCB นั่นเอง

ความพยายามเคลียร์หน้าเสื่อที่ SCB และ BROOK ต้องทำคือ รีบทำให้ทุกฝ่ายสมประโยชน์กัน ทั้ง 1)เจ้าของเดิมที่ก่อตั้ง REC โดนคดีร้ายแรง 2)คนซื้อต่อมาของ REC มีปัญหาตั๋วบี/อี จะครบกำหนดชำระ 3)PPA ของ WEH จะหมดอายุภายในสิ้นปี 2561 หากยังไม่สามารถ COD ได้ จะต้องหมดอายุไปโดยสูญเปล่า

งานนี้ ซีอีโอหญิง แห่ง GUNKUL บอกแบบไม่มีรายละเอียดว่า หากการเจรจายืดเยื้อไปจนโครงการของ WEH ที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง จะใกล้หมดอายุ แล้วทำไม่ทันแน่  ก็คงจะไม่เกิดขึ้น เพราะการตัดสินใจจบดีล จะต้อง “มีความเหมาะสม” ทั้งเวลาในการก่อสร้างให้ทัน COD และเงื่อนไขเตรียมความพร้อมเรื่องเงินลงทุน

พูดสั้นๆ…หากช้าเกิน หรือแพงเกิน…ก็ไม่ซื้อ….

ฟังดูสั้นๆ…แต่มีความหมาย

อยากได้น่ะอยากจริง…แต่ไม่ถึงกับลนลานจนยอมเสียค่าโง่

“อิ อิ อิ”

Back to top button