KBANK เฉือนกันแค่ปลายจมูก

หักปากกาเซียนวิเคราะห์หุ้นเป็นทิวแถว หน้าม้านยับเยิน ..ไม่รู้จะโทษใครก็โทษ ก.ล.ต.ไปก่อน...ข้อหา ปิดช่องให้ทำให้การพบปะกับผู้บริหารชนิด ตัดตอน...จึงต้องใช้จินตนาการมากกว่าธรรมดา


แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

 

หักปากกาเซียนวิเคราะห์หุ้นเป็นทิวแถว หน้าม้านยับเยิน ..ไม่รู้จะโทษใครก็โทษ ก.ล.ต.ไปก่อน…ข้อหา ปิดช่องให้ทำให้การพบปะกับผู้บริหารชนิด ตัดตอน…จึงต้องใช้จินตนาการมากกว่าธรรมดา

บังเอิญจินตนาการแบบเก่าๆ ใช้การไม่ได้…แค่นั้นเอง

เกริ่นมานี้ หมายถึงกรณีงบการเงินของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ที่ออกมาล่าสุด สวยทั้งไตรมาสสี่ และงบปีกันเลยทีเดียว

แม้อาจจะมีกำไรสุทธิไม่เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แต่สถิติใหม่ที่เป็นธนาคารทำกำไรสุทธิสูงสุดเป็นสถิติ เกิน 4 หมื่นล้านบาท แถมยังเอาชนะคำปรามาสนักวิเคราะห์ที่ว่ากำไรจะถดถอยลง เพราะท้ายสุดก็มีกำไรเพิ่มขึ้น

แม้จะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงแค่ 1.77% หรือเพิ่มขึ้น 700 ล้านบาท …ก็ถือว่า ดีเกินคาด

 นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ KBANK นำทีมประกาศงบการเงินปี 2559 ของธนาคารและบริษัทย่อยอย่างโล่งอกโล่งใจว่า มีกำไรสุทธิจำนวน 40,174 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.77% หรือเพิ่มขึ้น 700 ล้านบาท 

กำไรหลักที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 4,666 ล้านบาท หรือ 5.49% โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.52% 

ขณะที่รายได้จากส่วนอื่นๆ เช่น รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ) เพิ่มขึ้นจำนวน 1,222 ล้านบาท หรือ 1.96% และรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ตลาดทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ในด้านกลับ รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง

ทางด้านการควบคุมต้นทุน การที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ลดลงจำนวน 2,802 ล้านบาท หรือ 4.20% ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 41.63% …ถือว่าดีขึ้นมาก

ที่สำคัญ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว ก็ถ่วงรั้งความสามารถทำกำไรให้ถดถอยลงไปบางส่วน

อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Coverage ratio) ที่ระดับ 130.92%เกิดจากความพยายามควบคุมเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ที่ดูแย่ลงอยู่ที่ระดับ 3.32% ขณะที่สิ้นปี 2558 อยู่ที่ระดับ 2.70%จากคุณภาพหนี้ที่ยังไม่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และอาจลากยาวไปจนถึงกลางปี 60 

ผลการดำเนินงานตลอดทั้งปี 2559 ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากงบการเงินในไตรมาส 4  เมื่อ KBANK และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิโดดเด่นเกินคาด 10,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 4,767 ล้านบาท หรือ 87.06%

ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้แต่งแต้ม เห็นชัดว่า ไตรมาส 4 ของ KBANK จะตรงกันข้ามกับคำชี้แนะนักวิเคราะห์ที่ส่วนใหญ่แนะให้ “ถือ” เพราะอัพไซด์จำกัดโดยมีเป้าหมายราคา 183-192 บาท เพราะมุมมองว่ากำไรไตรมาส4 จะถดถอยลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แม้จะดีกว่าระยะเดียวกันปีก่อน จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียมค่อนข้างทรงตัว แต่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันกำไร แถมยังอาจจะต้องตั้งสำรองหนี้ปี 2560 ยังสูงขึ้นอีก เพราะตัวเลข NPL ที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้จากสินเชื่อ SME ซึ่ง KBANK มีสัดส่วนสินเชื่อสูงที่สุด

ดูจากภาพรวมแล้วถือว่า ปี 2559 KBANKผ่านมรสุมไปได้สวยงาม ในโค้งสุดท้ายพอดี ไม่ถึงกับขี้ริ้วขี้เหร่อะไร…สมควรแก่การคารวะในฝีมือที่ฝ่าฟันวิบาก แม้จะทำได้ต่ำกว่าจีดีพี ของประเทศ…ทั้งที่ตามปกติ ควรจะดีกว่าจีดีพี +2%

 มุมมองของนักวิเคราะห์หุ้นในปี 2560 นี้ที่ยังติดท่าทีเชิงลบจากความกังวลเรื่อง NPL ถือเป็นความท้าทาย เพราะผู้บริหารของKBANK เพิ่งจะแถลงแผนธุรกิจปี 2560 อย่างมั่นใจเต็มที่

 ในแผนปี 2560 ระบุว่า ผลประกอบการใกล้เคียงปี 2559 นี้โดยตั้งเป้าสินเชื่อขยายตัว 4-6% ภายใต้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัว 3.3% ขณะที่ตั้งเป้าควบคุมหนี้ NPL ให้มีสัดส่วนไม่เกิน 3.3-3.4% ของสินเชื่อรวม (ซึ่งมากกว่าปี 2559)

ความเชื่อของผู้บริหาร และนักวิเคราะห์ ที่ต่างกันคนละขั้ว….คงจะต้องพิสูจน์กันด้วยข้อเท็จจริงในอนาคต…ใครจะออกหมู่หรือจ่า คงได้รู้กัน …เพราะหวังจะพึ่งพา ก.ล.ต. ก็คงยากเย็น หรือเป็นไปไม่ได้

เพราะว่า ก.ล.ต.ไม่ได้ตั้งขึ้นมามีไว้ให้ใครพึ่งพา แต่ตั้งมาสร้างกติกาพิลึก ให้คนอื่นสยบยอม

“อิ อิ อิ”

Back to top button