CIMBT ถม(จน)เกินเต็มแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
CIMBT สร้างเซอร์ไพรส์สุดๆ เมื่อประกาศงบไตรมาสสี่ออกมา
CIMBT สร้างเซอร์ไพรส์สุดๆ เมื่อประกาศงบไตรมาสสี่ออกมา
ผลลัพธ์คือ เป็นธนาคารเดียวในงวดงบสิ้นปี 2559 ที่มีกำไรสุทธิติดลบ
แถมอาจจะทำสถิติเป็นธนาคารพาณิชย์รายแรกในรอบ 5 ปีที่ขาดทุนสุทธิให้เห็น หลังพ้นยุคหลังวิกฤติต้มยำกุ้งและซับไพรม์มาได้หมดจด
แม้ตัวเลขขาดทุนสุทธิที่ระดับ 62.52 ล้านบาท จะไม่ได้ทำให้ตัวเลขกำไรสะสมเสียหาย เพราะยังมีเหลืออีก 7.156 พันล้านบาท สามารถเจียดเอามาจ่ายปันผลได้สบายๆ แต่คณะกรรมการธนาคารกลับมีมุมมองว่าไม่ใช่เรื่องที่ดี หากคิดถึงอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องการแข่งขัน เพราะฐานทุนที่ลดลง
CIMBT ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางหรือใหญ่อยู่แล้ว การจะทำตัวให้หดลีบลงไป ย่อมไม่ใช่เรื่องดี มีแต่เสียๆๆๆๆ
การตัดสินใจเพิ่มทุนใหม่ เพื่อสร้างฐานทุน หลังจากที่พบว่า อัตราส่วนเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) เหลือแค่ 77.3% ไม่เพียงพอสร้างโอกาสปล่อยสินเชื่อในอนาคตปีนี้เป็นมากกว่า 100% จากสิ้นปี 59 อยู่ที่ 77.3%
การย้อนกลับไปสู่ยุคขาดทุนอีกครั้ง อาจจะไม่ใช่เจตนา หรือเกิดจากปัญหาผู้บริหารภายใน แต่มันเป็นกรณีที่เกี่ยวโยงถึงปัญหาลูกค้าที่มีตัวเลขหนี้สูญมากขึ้นต่างหาก เพราะบางครั้ง มันอยู่นอกเหนือการควบคุม
เพียงที่แน่ ยิ่งกว่าแช่แป้ง คือ เป็นการต้อนรับน้องใหม่ อย่าง นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนปัจจุบัน ที่เพิ่งมารับตำแหน่งไม่นาน อย่างแสบสันต์….ยิ่งกว่ายาทาแผลทุกยี่ห้อผสม
ในรายงานของ CIMBT เรื่องผลการดำเนินงานปี 2559 ระบุชนิดอ้อมๆ แอ้มๆ แบบ“สาวน้อยแอบเสียพรหมจรรย์ เพราะโดนลักหลับ” ระบุว่ามีผลขาดทุนสุทธิ 629.5 ล้านบาท ลดลง 159% จากปี 2558 ที่มีกำไรสุทธิ 1,052.48 ล้านบาท
ตัวเลขขาดทุน สวนทางกับการเติบโตของรายได้จากการดำเนินงาน และเงินให้สินเชื่อ หรือเงินฝากชัดเจน สะท้อนว่าความสามารถทำกำไรย่ำแย่ ด้วยคำอธิบายสั้นๆ ว่า “เนื่องจากความสามารถการชำระหนี้ของลูกค้าภาคธุรกิจลดลง …” จากการเพิ่มขึ้นของ NPL ในบางกลุ่มอุตสาหกรรมระหว่างปี
กว่าจะแงะออกมาได้ว่า อุตสาหกรรมที่ว่าคือ ธุรกิจเหล็ก และโรงสีข้าว … ก็ต้องใช้วิชามารของผู้สื่อข่าวกันพอสมควร ถึงจะได้ข้อมูลหร็อมแหร็มออกมา…เพียงแต่ปฏิเสธว่างานนี้ไม่เกี่ยวข้องบริษัทเหล็กอย่าง RICH แน่นอน…ชนิดเอาบาทแลกสลึงเลยทีเดียว
การเพิ่มขึ้นในการสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 66.6% จากการที่ตัวเลขขาดทุนเพราะถูกลูกหนี้เบี้ยวค่อนข้างเยอะ มีส่วนลดตัวเลขกำไรได้มาก
แม้ว่าข่าวดีเรื่อง NIM อยู่ที่ 3.77% เพิ่มขึ้นจากปี 58 อยู่ที่ 3.27% ที่สะท้อนว่าควบคุมคุณภาพและบริหารต้นทุนดีขึ้น… ก็ไม่ถือเป็นข่าวดีอะไร และช่วยไม่ได้ เพราะ NPL ไตรมาสสี่ที่เพิ่มขึ้นเป็น 6.6 พันล้านบาท ในไตรมาสสี่ ส่งผลให้ตัวเลข NPL ที่งวดสิ้นปีที่เคยคาดว่าจะลดลง เพิ่มขึ้นมาตอนวันปิดงบเป็น 1.27 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 6.1% ของยอดสินเชื่อรวม เข้าขั้น “สุ่มเสี่ยง”
ร้ายไปกว่านั้น ยอดตัวเลข coverage ratio ที่ทรุดฮวบลง เหลือแค่ 77% ลดจาก 106% ก็ยิ่งกดดันในปีใหม่นี้รุนแรง
การเพิ่มทุนเพื่อให้ coverage ratio กลับขึ้นไปเหนือ 100% ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการเพิ่มทุน 5.5 พันล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 9 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 1 บาทนั้น จะได้เงินเข้าเสริมเงินกองทุนอีก 1.1 หมื่นล้านบาท
ผลการเพิ่มทุนรอบนี้ ทำให้ CIMBT มีกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) แข็งแกร่งขึ้นเป็น 18.5% จากสิ้นปี 59 อยู่ที่ 16.1% และเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier) เพิ่มเป็น 13.4% จากสิ้นปี 59 ที่ 10.7% ถือเป็นการเสริมความมั่นคงของฐานเงินกองทุนและงบดุลของ CIMBT ยิ่งขึ้น โดยทันที
การเพิ่มทุนดังกล่าวสะท้อนว่าปัญหาหนี้เน่าของ CIMBT น่าห่วงพอสมควร แม้นายกิตติพันธ์และทีมงานจะพยายามจะนำทีมออกมาใช้ “วิชามาร” (ประหนึ่งสื่อเมืองไทยนั้นงี่เง่าเต่าตุ่นเสียเหลือเกิน) ระบุอย่างมั่นใจว่า ในปี 60 จะสามารถกลับมามีผลประกอบการกำไรอีกครั้ง…. ก็ไม่สามารถ “ซ่อนปัญหาไว้ใต้พรม” ได้
ข้อเท็จจริงแล้ว CIMBT ยังมี NPL ที่ต้องสะสางอีกบางส่วน ดังที่มีการยอมรับสภาพ “เพราะจำนนต่อหลักฐานว่า ในเดือนธันวาคม 2559 ธนาคารได้ขาย NPL ออกไปราว 2.6 พันล้านบาท และกระบวนการจะแล้วเสร็จภายใน เดือน ม.ค. ซึ่งจะส่งผลให้ NPL ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 4.8%”
ขณะเดียวกันนายกิตติพันธ์ยังมี “มุมมองบวก” ต่อไป โดยระบุว่า ผลประกอบการที่คาดว่าจะมีกำไรในปี 2560 จะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และสินเชื่อที่คาดว่าจะยังเติบโต 5-10%
สำหรับการเพิ่มทุนที่ประกาศออกมา หากเพิ่มทุนครั้งแรกไม่ดีพอ ก็อาจจะเพิ่มทุนอีกครั้ง เพราะ “…การเพิ่มเงินในกองทุนขั้นที่ 1 ยังมีระยะเวลาอีก 20 เดือน ที่จะสามารถเพิ่มกองทุนขั้นที่ 1 ได้อีก ซึ่งก็ต้องดูตามความเหมาะสมไป”…. ดังที่นายกิตติพันธ์ กล่าว
ปฏิบัติการ “เพิ่มทุนแก้ปัญหา” ของ CIMBT แม้ว่าในระยะสั้นจะเป็นผลดีมากกว่าเสีย เพราะว่าทำให้ปี 2560 นี้ อาจไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่มจากระดับปกติ เนื่องจากปีก่อนมีการตั้งสำรองสูงเพียงพอแล้ว…เว้นแต่มีเงื่อนพิเศษเชิงลบเข้ามาแทรก
อย่างหลังนี้ นายกิตติพันธ์ไม่ได้พูดตรงๆ แต่เข้าใจกันได้ไม่ยาก
โถ….จะไม่พอก็เกินไปละ เพราะแค่ขาดทุนเพียง 629.5 ล้านบาท ก็ฉกฉวยโอกาสทองกดเงินผู้ถือหุ้นเดิม หาเหตุเพิ่มทุนอื้อซ่าตั้ง 1.1 หมื่นล้านบาท… ยังถมไม่เต็ม ก็เกินไปแล้ว
เพราะหากว่า มีรายการถมไม่เต็มอีกรอบ ต้องมีใครเก้าอี้หลุดเพิ่มตามมา
เป็นไป ตามสูตร
“อิ อิ อิ”