CPF สร้างหนี้เพื่อลดหนี้แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
แม้ไม่ใช่รายแรก แต่ก็เป็นรายต้นๆ ที่ยอมรับการใช้นวัตกรรมลดหนี้ด้วยการก่อหนี้ ด้วยการออกตราสารหนี้ที่มีฉายา “หุ้นกู้ตลอดชีพ”
แม้ไม่ใช่รายแรก แต่ก็เป็นรายต้นๆ ที่ยอมรับการใช้นวัตกรรมลดหนี้ด้วยการก่อหนี้ ด้วยการออกตราสารหนี้ที่มีฉายา “หุ้นกู้ตลอดชีพ”
ข่าวล่ามาเร็ววานนี้ คือการที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือCPF จะยื่นไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต. เพื่อออกขาย Perpetual Bond หรือ หุ้นกู้ที่ไม่กำหนดวันไถ่ถอน หรือ เรียกเสียใหม่ให้เพริศพริ้งว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน วงเงิน 1.5-2.0 หมื่นล้านบาท เพื่อหมุนหนี้ และเป็นเงินหมุนเวียน
รายละเอียดที่ออกมา ยังไม่ชัดเจน เพราะยังไม่ได้แจ้งลงในข้อมูลของตลาดฯ แต่ จากที่นักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินกันออกมา มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้คือ
-มีลักษณะเดียวกับที่ บริษัท ซี พี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ที่ออกก่อนหน้านี้ แต่มีความยืดหยุ่นกว่า เพราะมีเงื่อนไขเพิ่มกำกับว่า บริษัทสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนได้
-วงเงินที่จะออกขายราว 1.5-2.0 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% สำหรับ 5 ปีแรก และหลังจากนั้นจะอิงดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี +Spread
-จะออกขายตั้งแต่ 23 ก.พ.–1 มี.ค.
-จะนำเงินจากการออก Bond ครั้งนี้ใช้ในการ Refinance และเป็นเงินทุนหมุนเวียน หลังจากที่ใช้เงินสดในการชำระค่าซื้อกิจการ Bellisio
เรียกว่า แม้จะตามรอย CPALL ก็จะมีความแตกต่างมากกว่า แม้จะมีเป้าหมายเดียวกัน คือ “ก่อหนี้เพิ่ม (ในทางปฏิบัติ) แต่ลดหนี้ลง (โดยนิตินัย)”
เหตุผลเพราะทั้ง 2 กิจการ มีเงื่อนไขของปัญหาต่างกัน
ข้อเท็จจริงคือ ค่าดี/อี ปัจจุบัน (เมื่อสิ้นงวดไตรมาสสาม) ของ CPF ต่ำกว่า CPALL นั่นเอง โดยล่าสุด CPF มีค่าดี/อีอยู่ที่ระดับ 2.8 เท่า แต่มีเป้าหมายต้องการดึงให้ค่าดี/อีลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.7 เท่า ในขณะที่ CPALL ตอนที่จะออกหุ้นกู้แบบเดียวกันเมื่อเดือนตุลาคม 2559 นั้น มีดี/อีที่ระดับ 3.5 เท่า (เทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มค้าปลีกที่ต่ำกว่า 1.0 เท่า) และต้องการดึงลงมาให้เหลือที่ 2.4 เท่า
ความเข้มงวดเรื่องดอกเบี้ยของ CPALL นั้น ค่อนข้าง “ตั้งการ์ดรัดกุม” เพื่อจูงใจนักลงทุนที่ไม่คุ้นกับนวัตกรรมใหม่ โดยระบุเงื่อนไขชนิดค่อนข้างตายตัวกันเลยทีเดียว (ดูตารางประกอบ)
เงื่อนไขเสริมของ CPALL อยู่ที่จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยทุกๆ 5 ปีโดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ณ สิ้นสุดวันทำการของสองวันทำการ ก่อนวันปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ Initial Credit Spread เฉลี่ยจะเท่ากับร้อยละ 3.13 ต่อปี…ได้ประโยชน์ทั้งคนขายหุ้นกู้ และคนถือหุ้นกู้
จะเห็นได้ว่า แม้หุ้นกู้ตลอดชีพ จะมีส่วนทำให้ทั้ง CPF และ CPALL ลดค่าดี/อีในทางบัญชีลงไปได้พอสมควร งบดุลดูสวยขึ้น เพราะยอดหนี้ จะไม่ถูกบันทึกเป็นหนี้ แต่จะถูกบันทึกในส่วนของผู้ถือหุ้น…คล้ายเพิ่มทุน แต่ไม่เกิด Dilution Effect…และทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง …(ของ CPF ประเมินว่าลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลงปีละ 750-1,000 ล้านบาทต่อปี)… ทำให้กระทบต่อกำไรสุทธิในทางบวกมากกว่า
การสร้างหนี้เพิ่ม แต่สามารถลดหนี้ได้ ด้วยหุ้นกู้ตลอดชีพนี้ ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้ เพราะคนที่จะทำได้ต้องมีเครดิต และ “มีความสามารถจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นได้ดีกว่าคนอื่น”
จะบอกว่า มีเงินก็จ้างผีโม่แป้งได้..และก่อหนี้เพิ่มก็ยังได้
เรียบร้อยโรงเรียน ซีพี…..เขาล่ะ
ความสามารถพิเศษนี้ ห้ามลอกเลียนแบบซะด้วย
“อิ อิ อิ”
…