พาราสาวะถี อรชุน

สินบนข้ามชาติยังเป็นประเด็นให้รัฐบาลคสช.ต้องสะดุ้งโหยงอยู่เป็นระลอก แม้จะยิ้มสบายใจเพราะเงื่อนเวลาที่ปรากฏการกล่าวหาว่ามีการจ่ายใต้โต๊ะนั้นไม่ได้อยู่ในช่วงของคณะรัฐประหารชุดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตาม แต่ทั้งหมดมันกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ จำเป็นที่ผู้มีอำนาจในเวลานี้จะต้องสะสางเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นที่ไว้วางใจของนานาประเท


 

                สินบนข้ามชาติยังเป็นประเด็นให้รัฐบาลคสช.ต้องสะดุ้งโหยงอยู่เป็นระลอก แม้จะยิ้มสบายใจเพราะเงื่อนเวลาที่ปรากฏการกล่าวหาว่ามีการจ่ายใต้โต๊ะนั้นไม่ได้อยู่ในช่วงของคณะรัฐประหารชุดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตาม แต่ทั้งหมดมันกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ จำเป็นที่ผู้มีอำนาจในเวลานี้จะต้องสะสางเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นที่ไว้วางใจของนานาประเทศ

                เหตุที่ต้องเร่งดำเนินการเพราะผลจากข่าวคราวดังกล่าวมันจะกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คงไม่มีนักธุรกิจรายไหนจะแฮปปี้กับข่าวคราวต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้งานในลักษณะเช่นนี้เป็นแน่แท้ หลังจากกรณีโรลส์-รอยซ์กับการบินไทยและปตท. ล่าสุด ก็ปรากฏบริษัทผู้ผลิตสายเคเบิลและสายไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกายอมรับว่าจ่ายใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่ไทย

                โดยเป็นบริษัท เจเนอรัล เคเบิล คอร์ปอเรชัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสายเคเบิลและสายไฟฟ้าในรัฐเคนตั๊กกี้ ยอมจ่ายค่าปรับให้แก่ทางการสหรัฐฯ กว่า 75 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติการสอบสวนคดีจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ เช่น แองโกลา บังกลาเทศ จีน อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายป้องกันการคอร์รัปชั่นในต่างประเทศหรือ FCPA ของสหรัฐฯ

                จากข้อมูลในข้อตกลงยุติคดีความให้รายละเอียดไว้ว่า พนักงานและผู้บริหารระดับสูงของ เจเนอรัล เคเบิล บางคน รวมถึง ผู้บริหาร A ซึ่งถูกระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่ในบริษัท Phelps Dodge International (Thailand) Ltd. หรือ PDTL รับรู้ว่าสาขาของบริษัทในต่างประเทศมีการว่าจ้างกลุ่มบุคคลที่ 3 และผู้กระจายสินค้าให้จ่ายเงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในบางประเทศ เพื่อให้ได้มาหรือคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจ

                ในส่วนของประเทศไทยนั้น ตามข้อมูลระบุว่า PDTL ได้จ่ายเงินกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ผู้กระจายสินค้าในไทยรายหนึ่งในช่วงปี 2012-2013 โดยทราบดีว่าเงินบางส่วนจะถูกนำไปใช้ในทางทุจริตเพื่อจำหน่ายสินค้าให้แก่รัฐวิสาหกิจไทย 3 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือกฟภ. การไฟฟ้านครหลวงหรือกฟน. และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

                แน่นอนว่าในเคสนี้เงื่อนเวลาระบุชัดเจนเกิดขึ้นในยุคสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลคสช.จึงต้องเร่งดำเนินการ เพื่อกระชากหน้ากากพวกขี้ฉ้อเหล่านั้นมาดำเนินคดีให้ได้ ที่สำคัญสองหน่วยงานที่ถูกระบุอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ซึ่งคงต้องเป็นการบ้านให้ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในการตรวจสอบ

                ล่าสุด มท.1 สั่งกระทรวงตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดจากนั้นจะนำผลไปหารืออีกรอบ ซึ่งยืนยัน ทุกอย่างจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ขณะที่ กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะประธานบอร์ดกฟน. ก็ได้มีการประชุมบอร์ดไปเมื่อวันวาน แต่ก็เป็นวาระปกติ โดยยังเป็นการเดินตามขั้นตอนว่า มีการจัดซื้อจัดจ้างในช่วงที่มีการกล่าวหาหรือเปล่า และเข้าข่ายมีการทุจริตหรือไม่

                ในเมื่อไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในยุคนี้ จึงเป็นเรื่องง่ายในการที่จะตรวจสอบ เพราะคงไม่มีประเภทลูบหน้าปะจมูก ส่วนจะสาวไปถึงใครคนผู้นั้นจะต้องพร้อมรับชะตากรรม ทั้งนี้เชื่อว่ากรณีสินบนข้ามชาติคงไม่จบเพียงเท่านี้ น่าจะมีอะไรดีๆ ปรากฏให้เป็นข่าวตามมาอีก ตอนนี้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจของไทยคงใจตุมๆ ต้อมๆ กันน่าดู

                อย่างที่บอกเรื่องภาพลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญ มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย ย้ำถึงกรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ว่า เป็นข่าวที่เลวร้ายมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการลงทุน ทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุน รวมถึงชะลอการลงทุนด้วย ซึ่งการเรียกรับสินบนจะไม่จบสิ้น และจะเริ่มตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับผู้บริหาร

                เหมือนอย่างที่เคยบอกกับผลสำรวจความเห็นเรื่องดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชั่นของประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อสัปดาห์ก่อน บอกว่าดีขึ้นแต่ตัวเลขของการหักค่าหัวคิวยังคงมีอยู่ตั้งแต่ 1-15 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า การทุจริตยังคงอยู่เพียงแค่กินกันให้น้อยกว่าเดิมก็เท่านั้น นี่แหละคือโจทย์ใหญ่ของผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด บ้านเมืองจะปราศจากโกงไร้คอร์รัปชั่นมันต้องอยู่ที่การกระทำไม่ใช่ดีแต่พูด

                คงไม่ต่างจากกรณีสร้างความปรองดอง ที่มีคนเรียกร้องให้ทหารลงนามสัตยาบันแล้วได้รับการปฏิเสธว่าตัวเองไม่ใช่คู่ขัดแย้ง วันวาน จาตุรนต์ ฉายแสง จึงช่วยอธิบายว่า ถ้าคสช.ยังไม่เข้าใจว่าตัวเองเป็นคู่ขัดแย้ง ก็คงจะแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะตลอดระยะเวลาแห่งการยึดอำนาจนานกว่า 2 ปีมีการจัดการเก็บผู้เห็นต่างจำนวนมาก แล้วจะปฏิเสธว่าไม่ใช่คู่ขัดแย้งได้อย่างไร

                ไม่เพียงเท่านั้นองค์ประกอบของป.ย.ป.ก็น่าเป็นห่วง เพราะมีการตั้งผู้ที่ไม่มีความเข้าใจหรือสนใจที่จะปรองดองเสียส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่การแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งแตกแยกต้องเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และต้องหาผู้เป็นกลางอย่างแท้จริงมาเป็นตัวประสาน แต่เวลานี้กลายเป็นว่าทุกอย่างผ่านการทุบโต๊ะจากผู้มีอำนาจเพียงฝ่ายเดียว

                ในมุมของเดอะอ๋อยที่น่าสนใจอีกประการก็คือ การให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นอย่างเท่าเทียม ไม่ควรข่มขู่ ต้องปรองดองบนหลักการที่ถูกต้อง บนความเข้าใจ จริงใจ สิ่งสำคัญข้อเสนอจากผลการศึกษาก่อนหน้านั้นถือว่าเป็นประโยชน์และควรนำมาใช้ ทั้งหมดเหล่านี้จะว่าไปแล้วก็ดังที่ย้ำกันมาโดยตลอด ปรองดองมันอยู่ที่ใจทั้งตั้งใจและจริงใจ ไม่ใช่ปรองดองแค่ปาก

                ท่าทีของท่านผู้นำล่าสุดที่ถูกถามเรื่องการปรับภูมิทัศน์ทำเนียบรัฐบาล จากการนำอ่างบัวสีมาประดับ กับคำตอบที่ว่า ดูเป็นตัวอย่างอย่างหนึ่งคือความสวยงาม ส่วนที่สองคือพวกสมองไม่เปลี่ยน อยู่ข้างล่างก็จะเป็นอาหารของพวกเต่าปลา ถ้ายังยึดคติตัวกูของกู พวกกูดีพวกกูเก่ง พวกตรงข้ามเป็นตัวสร้างปัญหา เท่ากับทัศนคติหรืออคติที่เคยมียังไม่ถูกลบล้าง แล้วจะสร้างความปรองดองกันอย่างไร

Back to top button