วันชี้ชะตาพลวัต 2017

วันนี้ เป็นวันชี้ชะตาครั้งสำคัญของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่มีความวุ่นวายมายาวนานกว่า 2 เดือน กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวเกี่ยวกับปัญหาการบริหารงานของ IFEC ที่กรรมการและผู้บริหารจำนวนหนึ่งลาออกทำให้จำนวนกรรมการทั้งหมดของบริษัทต่ำกว่าจำนวนองค์ประชุมตามที่กฎหมายกำหนด และในที่สุด IFEC ผิดนัดชำระหนี้จากการออกตั๋วแลกเงินบางส่วน


วิษณุ โชลิตกล

 

                วันนี้ เป็นวันชี้ชะตาครั้งสำคัญของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่มีความวุ่นวายมายาวนานกว่า 2 เดือน กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวเกี่ยวกับปัญหาการบริหารงานของ IFEC ที่กรรมการและผู้บริหารจำนวนหนึ่งลาออกทำให้จำนวนกรรมการทั้งหมดของบริษัทต่ำกว่าจำนวนองค์ประชุมตามที่กฎหมายกำหนด และในที่สุด IFEC ผิดนัดชำระหนี้จากการออกตั๋วแลกเงินบางส่วน

                เมื่อวานนี้ ก.ล.ต. ออกคำประกาศย้ำให้ผู้ถือหุ้น IFEC ใช้สิทธิ์เข้าประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เวลา 10.00 น. ณ สโมสรทหารบก วิภาวดี เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมและเรื่องอื่นๆ เพื่อให้บริษัทสามารถกลับมาประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง

          ก.ล.ต.จึงขอให้ผู้ถือหุ้นไปร่วมประชุมวิสามัญ ทำการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับใช้โอกาสนี้ซักถามกรรมการและผู้บริหารบริษัทถึงข้อมูลต่างๆ เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และเพื่อแก้ไขปัญหาของ IFEC ต่อไปด้วย

ที่ผ่านมา นับแต่เดือนพฤศจิกายน ที่มีการเปิดเผยว่า มีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งสำคัญในรอบ 3 ปี  นับตั้งแต่ปี 2556 ของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ในช่วงเวลาที่ราคาหุ้นของบริษัทอยู่ในภาวะไซด์เวย์ดาวน์ มีนัยสำคัญที่ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดิม ร่วมขายหุ้นทิ้งต่อเนื่องตลอดปีนี้ โดยอ้างเหตุผลข้างๆ คูๆ …แต่กลับมีผู้ถือหุ้นรายใหม่ดอดเก็บหุ้น จนมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ต้องรายงานต่อตลาดฯ

กลุ่มทุนใหม่  นายทวิช เตชะนาวากุล และลูกชาย ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ได้แจ้งต่อตลาดไล่เลี่ยกัน เพื่อแจ้งการได้มาหุ้น IFEC เกินกว่าสัดส่วน 10.21%

ในทางตรงกันข้าม 2 ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม อย่าง นพ.วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ IFEC และนายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IFEC แอบทยอยตัดขายหุ้นทิ้ง จนเหลือถือหุ้นรายละต่ำกว่า 5% จากการตรวจสอบข้อมูล รอบปี 2559 เห็นได้ชัดว่าทั้ง 2 คน มีลักษณะการเข้ามาซื้อและขายหุ้นเหมือนกัน คือซื้อและขายชนิดที่เรียกว่า “ซื้อเช้าขายบ่าย” หรือ “ซื้อบ่ายขายเช้า” สลับกันมาโดยตลอด

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับข้ออ้างของหมอวิชัย และนายสิทธิชัย ที่เคยประกาศว่าจะทำตามความฝันในการผลักดันให้ IFEC เป็นหุ้นพลังงานทางเลือกระดับหัวแถวของไทย

จุดพลิกผันนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะในปี 2556 กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ นำโดยนพ.วิชัย และนักการเงินอย่างนายสิทธิชัย ได้ร่วมกันลงขันซื้อหุ้นบริษัท IFEC จากผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมกลุ่มสหพัฒน์ฯ ที่เผชิญกับธุรกิจขาลงในธุรกิจถ่ายเอกสาร เพราะเจ้าของแบรนด์ในญี่ปุ่นอย่าง Konica Minolta Business Solution Asia Pte Ltd. (KM BSA) ไม่ต่อสัญญาให้แก่ IFEC ซึ่งสัญญาได้สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม  2557

ความพยายามพลิกฐานะของ IFEC ไปสู่ธุรกิจด้านพลังงานทดแทนที่กำลังเป็นขาขึ้น  เริ่มต้นด้วยความฝันในการก้าวเป็นยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานทดแทน (ด้วยความร่วมมือของที่ปรึกษาการเงิน) ด้วยเงินสดมากเกินพอที่พร้อมจะรุกเข้าไป ซื้อเพื่อสร้าง” ประสบการณ์จริงเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถึง 4 ประเภท สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานของประเทศที่ต้องการโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก 1.4 หมื่นเมกะวัตต์

ในช่วงแรกนั้น นพ.วิชัย และ นายสิทธิชัยถือเป็น“ดาวรุ่งคนล่าสุด” ที่ได้รับความสนใจจากนักวิเคราะห์ และกองทุนต่างๆ อย่างมาก  ที่มีมุมมองว่านับแต่ปี 2558 เป็นต้นไป  IFEC จะมีกำไรสุทธิโดดเด่นมาก จากการเติบโตก้าวกระโดด ที่เป็นโมเมนตัมใหม่

คำแนะนำ “ซื้อ” ของนักวิเคราะห์ทุกสำนักในตลาดหุ้นไทยยามนั้น ทำให้ราคาหุ้น IFEC สุดแสนจะหวือหวา…โดยสตอรี่เรื่องการลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดันราคาหุ้นปรับขึ้นสูงสุดเกือบ 18 บาท ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 แต่หลังจากนั้นราคาปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยกลับไปสู่จุดสูงสุดเดิมได้เลย

กลางปี 2558 IFEC ปฏิบัติการ “หักข้อศอก 90 องศา” เบี่ยงเบนจากธุรกิจพลังงานทางเลือก ด้วยการทุ่มเงินสด 2.5 พันล้านบาท ผ่านบริษัทลูกชื่อ ICAP เข้าซื้อกิจการโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ โดยเป็นการซื้อโรงแรมมา 1.5 พันล้านบาท และหนี้ของโรงแรมที่มีอยู่ประมาณ 1 พันล้านบาทด้วย จากเจ้าของเดิมที่มีหนี้ท่วมหัว แม้จะมีกำไร แต่ก็ไล่ไม่ทันดอกเบี้ยเงินกู้ ด้วยข้ออ้างว่าเป็นการซื้อที่“ถูกมาก” และสามารถคืนกำไรได้ทันทีจากการพากิจการออกจากแผนฟื้นฟูของศาลล้มละลายกลาง

                นพ.วิชัยอ้างว่า เพียงแค่ IFEC ขายหุ้นส่วนหนึ่งที่ถือในโรงแรมดาราเทวี 5-10% ซึ่งจะมีมูลค่า 1,000 ล้านบาท ก็สามารถสร้างฐานทุนเพื่อที่จะเดินหน้ารุกโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกที่เป็นรายได้หลัก

ผลพวงของปฏิบัติการดังกล่าว แม้จะทำให้กำไรระยะสั้นของ IFEC กลับมาโดดเด่นในทางบัญชี แต่ข้อเท็จจริงคือสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทหร่อยหรออย่างรุนแรงเพราะการซื้อโรงแรมดังกล่าว ทำให้ตกอยู่ในกับดักทางการเงิน ต้องออกตราสารนี้ระยะสั้นไปซื้อกิจการที่เป็นความผิดพลาดอย่างมาก

การลาออกของนายสิทธิชัย อย่างกะทันหัน ด้วยสาเหตุอ้อมๆ แอ้มๆ ตามมาด้วย สงครามภาพลักษณ์ พร้อมกับปฏิบัติการ โยนบาปให้แพะ อย่างเอาจริงเอาจัง ผ่านทั้งกระแสข่าวลือ และข่าวจริง สะท้อนปัญหาเรื้อรัง 2 เรื่องใหญ่คือ 1) ความไม่ชอบมาพากลในการซื้อโรงแรมดาราเทวี ที่เชียงใหม่ 2) การเบี้ยวหนี้ระยะสั้นจากการออกตั๋วบี/อีต้นทุนสูง

ปัญหาทั้งหมดนี้ จะได้รับการตัดสินใจวันนี้ว่า หากสามารถหาคณะกรรมการ และผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาได้ราบรื่น IFEC จะกลับมามีอนาคตอีกครั้ง แต่หากกลับกัน ยังเต็มไปด้วยความวุ่นวายต่อไป IFEC ก็จะหมดอนาคต

ความสำคัญนี้ จึงไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

Back to top button