โลกภัยใต้ทรัมป์ทายท้าวิชามาร

ม็อบผู้หญิง 2 ล้านออกมาประท้วงต้อนรับโดนัลด์ ทรัมป์ ใช่ละ ม็อบไม่ได้ขัดขวางการเข้าสู่อำนาจ ไม่ได้เรียกหารัฐประหาร ไม่ได้หาเรื่องยื่นศาล องค์กรอิสระ ล้มรัฐบาล แต่การที่คนต่อต้านทรัมป์มากขนาดนี้จะมีผลอย่างไรต่อการเมืองอเมริกันและการเมืองโลก


ใบตองแห้ง

 

ม็อบผู้หญิง 2 ล้านออกมาประท้วงต้อนรับโดนัลด์ ทรัมป์ ใช่ละ ม็อบไม่ได้ขัดขวางการเข้าสู่อำนาจ ไม่ได้เรียกหารัฐประหาร ไม่ได้หาเรื่องยื่นศาล องค์กรอิสระ ล้มรัฐบาล แต่การที่คนต่อต้านทรัมป์มากขนาดนี้จะมีผลอย่างไรต่อการเมืองอเมริกันและการเมืองโลก

คนไทยมักอธิบายแทนทรัมป์ว่า แม้พูดจาสุนัขไม่รับประทานตอนหาเสียง แต่เข้ามาก็คงปรับตัว แบบเดียวกับนักวิเคราะห์โลกในแง่ดีว่า นโยบายอเมริกามาก่อน มีทั้งข้อดีข้อเสียคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะดีขึ้นแม้กีดกันการค้ากระทบส่งออกไปจีน

ในมุมหนึ่งก็ใช่ ภายใต้โครงสร้างกลไกประชาธิปไตย แม้ในพรรครีพับลิกันเองก็คงไม่ยอมให้ทรัมป์เหยียดผิวเหยียดเพศตามอำเภอใจ รวมทั้งนโยบายบางอย่างก็เกินจริง เช่น ทำกำแพงกั้นเม็กซิโก

แต่ถ้าดูที่มาของทรัมป์ ซึ่งมาจากเลือกตั้ง ให้คำมั่นสัญญา คนอเมริกันต้องมีงานทำ ได้ชัยชนะจากการปลุกความกลัว ทั้งกลัวภัยเศรษฐกิจ ภัยก่อการร้าย อนาคตที่ไม่แน่นอนไม่มั่นคงในยุค globalization ก็เห็นได้ว่าทรัมป์มีพลังหนุนให้ทำได้ดังใจ

ขอบคั่นจะอยู่ตรงไหน คงวัดพลังกันไม่ว่างเว้น ระหว่างทรัมป์กับสื่อ กับพลังมวลชน

มองให้กว้างออกไป ทรัมป์ไม่ใช่ผู้นำอำนาจนิยมคนเดียวในโลกใบนี้ ทรัมป์ก็เหมือนปูติน สี่จิ้นผิง หรือนายกฯ โมดีของอินเดีย นี่คือ 4 ประเทศใหญ่ของโลก ยังไม่นับดูเตอร์เต และผู้นำบางประเทศที่ไม่ต้องมาจากเลือกตั้ง แต่ทำโพลล์ทีไรได้ที่หนึ่งทุกที ทั้งที่เปรียบประชาชนเป็นบัวใต้น้ำ

ขณะที่ยุโรปก็กำลังจะคล้อยตามปรากฏการณ์ Brexit มีการเลือกตั้งหลายประเทศในปีนี้ แม้ความเป็นประเทศอารยะ ทำให้ประชาชนยังมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ถามว่าหากผู้นำฝ่ายขวา “ชาติกูต้องมาก่อน” ดำเนินนโยบายกีดกันและแตกแยกโดยพร้อมเพรียงกัน จะเกิดอะไรขึ้น

พวกตอบโพลล์คงบอกว่าดีสิ จะได้ไม่มีใครมาเรียกร้องให้เลือกตั้ง ให้ลุงตู่อยู่ประชันทรัมป์ ดูเตอร์เต ไปนานๆ แต่ในแง่เศรษฐกิจการเมืองโลกคงปั่นป่วนน่าดู

นั่นคือภาวะที่โลกจะสับสนปั่นป่วน กระทบข้อตกลงทางการค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ใช่แค่ TPP ที่ถูกยกเลิก (แล้วก็บอกว่าเป็นผลดีกับไทย) ในขณะเดียวกัน ผู้นำเข้มแข็งคุยโว “ชาติกูต้องมาก่อน” จะแก้ปัญหาได้จริงไหม สี่จิ้นผิงก็ย้อนทรัมป์ว่านโยบายชาตินิยมจะยิ่งทำให้ย่ำแย่ แม้อาจฮือฮาในตอนต้น

ถ้าย้อนไปดูปรากฏการณ์ Brexit และชัยชนะของทรัมป์ ที่พลิกความคาดหมาย จะเห็นได้ว่ามาจากความไม่พอใจของคนชั้นกลางชั้นล่าง ต่อความเหลื่อมล้ำในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ กระทั่งปฏิเสธระบบ ปฏิเสธสถาบันทางการเมือง หันไปตัดสินใจเลือกทรัมป์ที่มาแหกคอกนอกแถว กระทั่งพรรครีพับลิกันยังไม่เอาด้วยในตอนแรก

แต่ถามจริงว่า ผู้นำมหาเศรษฐีอำนาจนิยมแบบทรัมป์ จะลดเหลื่อมล้ำได้จริงหรือ  ทรัมป์อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระยะเฉพาะหน้า แต่หลังจากนั้นจะมีอะไรตามมา

ความนิยมผู้นำอำนาจเบ็ดเสร็จ ปกป้องผลประโยชน์ คุ้มครองความกลัว เกิดขึ้นเป็นโดมิโน โดยหวังว่าผู้นำแบบนี้จะแก้ปัญหาเชิงระบบได้ จะวางยุทธศาสตร์ชาติใหม่ จะทำให้บ้านเมืองสงบ เป็นธรรม ถามจริงว่าเป็นไปได้หรือ หรือแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า
มองมุมกลับ ถ้าผู้นำอำนาจนิยมล้มเหลว ก็จะเป็นโดมิโนเช่นกัน เพราะปลุกพลังต่อต้านขึ้นมหาศาล แม้อาจต้องใช้เวลา ผ่านความปั่นป่วนสับสนสุดๆ ไประยะหนึ่ง เพื่อให้สังคมได้รับบทเรียน

 

Back to top button