CHOW ช่องว่างของผืนฟ้ากับ ผืนดิน

ภาษิตฮินดูถือว่า ในช่องว่างระหว่างสวรรค์ กับนรก คือ มนุษย์ภูมิ


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

 

ภาษิตฮินดูถือว่า ในช่องว่างระหว่างสวรรค์ กับนรก คือ มนุษย์ภูมิ

ส่วนภาษิตจิน ถือว่า ช่องว่างระหว่างผืนฟ้าและผืนดินคือ ความจริง

แต่…สำหรับนักการเงินและนักลงทุนแล้ว ช่องว่างระหว่างหนี้กับผลตอบแทนการลงทุน คือ ความไม่แน่นอน

วันนี้ ฐานะการเงินของบริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน)  หรือ CHOW ที่กำลังถูกนักลงทุนและสถาบันการเงินตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของช่องว่างดังกล่าว

คำตอบของคำถามดังกล่าว จะคลี่คลายลงไปเมื่อช่องว่างถูกถมให้เต็ม ตรงนี้แหละที่ซีอีโอใหญ่ อย่างนายอนาวิล จิรธรรมศิริ ต้องคลี่คลายให้กระจ่างชัด

ข้อมูลที่ผ่านการรับรองของผู้สอบบัญชีที่มีอยู่ล่าสุดของ CHOW ในไตรมาสสาม ระบุว่า แม้จะกลับมามีกำไรสุทธิได้อีกครั้ง ที่ 104.90 ล้านบาท แต่ก็เปราะบางมากเทียบกับรายได้ 2,522.17 ล้านบาท …แต่ตัวเลขหนี้สินหรือ ดี/อี ที่สอดรับกับข่าวลือแพร่สะพัดว่ามีโอกาสสำหรับการผิดนัดชำระหนี้ที่จะครบในเดือนมีนาคมที่จะถึง (ซึ่งยังไม่เกิด) ก็ชวนสะดุดตาพอสมควร

ตัวเลขยอดหนี้รวม 9.928 พันล้านบาท เทียบกับส่วนผู้ถือหุ้นที่ระดับ 1.364 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 7.27 เท่า ใครบอกว่าน่าปลื้มใจในความสามารถและขยันเป็นหนี้…ก็คงบ้าไปแล้ว

หากไม่หลงลืมกันง่ายๆ เพราะความทรงจำสั้นกว่าหางเต่าแล้ว CHOW คือหุ้นในกลุ่มเหล็กที่มีฉายาในวงการว่า “หุ้นเหล็กต้ม” ที่พยายามเคลื่อนย้ายตัวเองเข้าสุ่ธุรกิจพลังงานทางเลือกในต่างประเทศรุ่นแรกๆ และมีแรงเชียร์จากนักวิเคราะห์ประหนึ่งว่าหุ้นนี้กำลังถูกผู้บริหารพาขึ้นบันไดสวรรค์…หรือ Stairway to Heaven…ทำเอาราคาหุ้นหวือหวาเป็นระยะๆๆๆ ตามเนื้อข่าวที่นำเสนอ

ไม่เคยมีใครคาดว่าจะกลายเป็นเทวดาตกสวรรค์กับรายอื่นเพราะปัญหาหนี้เกินตัวอย่างยามนี้

เจาะลึกลงไส้ในของงบการเงินอีก พบว่าตัวเลขสภาพคล่องเข้าข่ายย่ำแย่ เพราะอัตราส่วน current ratio ที่ต่ำระดับ 0.63 ถือว่าฝืดเคืองอย่างมาก แม้ไม่ถึงกับรุนแรง มีการเบิกเกินบัญชี และเงินกู้ระยะสั้นจากสถาบันการเงินคือ ธนาคารยูโอบี (ไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าหนี้หลัก รวมแล้วประมาณ 5.520 พันล้านบาท (เพิ่มจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีเพียงแค่ 3.771 พันล้านบาทเศษ หรือ เพิ่มขึ้นมากถึง 46%) ก็น่าสนใจมาก

กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน รอบ 9 เดือนแรกปี 2559 ติดลบอยู่ 1,107,161,504 ล้านบาท โดยพบว่าปัจจัยกดดันหลักต่อกระแสเงินสดประเภทดังกล่าวอยู่ที่ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น

ที่น่าสังเกตคือ หนี้เงินกู้ระยะยาวของบริษัทที่อายุครบกำหนดไม่เกิน 1 ปี 1.407 พันล้านบาท ที่เพิ่มจากระยะเดียวกันปีก่อนที่เคยอยู่แค่ 0.657 พันล้านบาท ก็เพิ่มมากถึง 114% ทะลุเพดานเลยทีเดียว

หนี้ที่เพิ่มมากผิดปกติ เพราะปี 2559 ตัวเลขเงินให้กู้ระยะสั้นที่ CHOW ให้กับบริษัทย่อยที่เคยมากถึง 3.979 พันล้านบาทของปี 2558 หายไป น่าจะทำให้ยอดหนี้รวมลดลงไปด้วย ผลลัพธ์คือสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมปีก่อน 5.133 พันล้านบาท เป็น 6.682 พันล้านบาท ไม่ได้มีความหมายอะไรมากนัก

เรื่องน่าสนใจก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า CHOW ได้ร่วมกระโจนเข้าสู่ “วงจรอุบาทว์ของหนี้ระยะสั้น” ในกระแสเช่นเดียวกันกับรายอื่นๆ ด้วย เพราะทำการก่อหนี้ด้วยตราสารหนี้ระยะสั้นที่เรียกว่าตั๋วบี/อีแบบไม่จัดเรตติ้งมากกว่า 2.1 พันล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนในโครงการไฟฟ้าจากโซลาร์ในญี่ปุ่น ผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด  อันเป็นความหวังใหม่

การหมุนเงินอันแสนอันตรายชนิด “เดินเลียบขอบเหว” ดังกล่าว ไม่มีคำอธิบายว่าทำไมจึงทำเช่นนี้ แต่นายอนาวิลออกมายอมรับว่า ขณะนี้บริษัทมีตั๋วแลกเงิน (B/E) ระยะสั้นจำนวน 2,100 ล้านบาท แต่ด้วยความสามารถในการสร้างความมั่นใจ เขากลับเบี่ยงเบนประเด็นว่า หนี้ระยะสั้นที่เกิดขึ้น ไม่มีความหมายอะไรให้ต้องเป็นห่วง เพราะ…บริษัทมีความสามารถที่จะชำระหนี้วงเงินดังกล่าวทั้งหมดได้ภายในปี 2560 เนื่องจากในช่วงระหว่างที่เสนอขายตั๋วบี/อีแบบไม่มีเรตติ้ง ยังมีการขออนุมัติวงเงินกู้จากธนาคารร่วมโดยเฉพาะ การรอรับวงเงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ ธสน. (EXIM BANK) มาแล้วประมาณ 3,300 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะนำวงเงินดังกล่าวไปชำระตั๋วบี/อี ที่จะทยอยครบกำหนด ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องเงินกู้ยืมระหว่างบริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ CE ขอยืนยันว่า ขณะนี้ไม่เกิดปัญหาใดๆ  เนื่องจากทางบริษัทได้รับคืนหนี้อย่างต่อเนื่องจาก เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ มาด้วยดีตลอด

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมองข้ามช็อตไปไกลอีกว่า อนาคตเรื่องสภาพคล่องจะหมดไปด้วย 2 เหตุผลคือ 1) ปีนี้ บริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ CE จะยื่นไฟลิ่ง) เสนอขายหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 380 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท เตรียมจัดสรรหุ้นบางส่วนเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของ CHOW และจัดสรรหุ้นส่วนที่เหลือจำนวน 285 ล้านหุ้น เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป (เอาเงินสดกลับเข้ามาที่ CHOW) 2) ในปี 2561 บริษัทมีแผนที่จะจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และขายสินทรัพย์ประเภทโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มให้กับกองทุน มูลค่า 10,000 ล้านบาท โดยจะคิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 50 MW เบื้องต้น

คำมั่นสัญญาแบบ “ขายฝัน” และ“กินน้ำบ่อหน้า” ดังกล่าว ห่างไกลจากการตอบโจทย์เรื่องหนี้ระยะสั้นมากทีเดียว

การยอมรับและทางออกดังกล่าว ที่ทำท่าสวยหรู…กลับมีอาการสะดุดกลางอากาศขึ้นมา เพราะในวันถัดมาหลังจากการออกข่าวดังกล่าวของนายอนาวิล ปรากฏว่า ทางผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามกับผู้บริหารของเอ็กซิมแบงก์เกี่ยวกับการอนุมัติวงเงินกู้ 3,300 ล้านบาทให้กับ บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน)  หรือ CHOW พร้อมกับคำถามสำคัญว่า 1) รายละเอียดเป็นอย่างไร และ 2) วงเงินก้อนดังกล่าว เพื่อให้ CHOW ใช้หนี้ตั๋วบี/อี จริงหรือไม่

คำตอบที่ผู้บริหารของเอ็กซิมแบงก์ จึงชี้แจงกลับไปคือ  ทางผู้บริหารของ CHOW อาจจะเข้าใจอะไรผิด หรือส่งสารผิด หรือว่าทางผู้รับสารฟังมาผิด …เงินกู้ดังกล่าวห้ามใช้ผิดประเภทเด็ดขาด เพราะไม่ใช่วงเงินสำหรับการชำระหนี้ตั๋วบี/อี และเรื่องนี้จะมีการสอบถามไปยังผู้บริหารของ CHOW อีกครั้ง

พูดง่ายๆ คือ พร้อมจะระงับวงเงินกู้ดังกล่าว ถ้าเอาไปหมุนเพื่อทำรีไฟแนนซ์ตั๋วบี/อี

งานนี้…หลายคนพากัน อึ้ง กิม กี่ไปเลยว่า ทำไม ช่องว่างระหว่างความฝัน กับความจริงถึงถ่างกว้างเหลือเกิน แล้ว…อะไรคือสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างช่องว่างนั้น

“อิ อิ อิ”          

Back to top button