JANUARY EFFECT และ ตรุษจีน

วันนี้เป็นวันไหว้ของเทศกาลตรุษจีนประจำปีนี้ สิ่งที่ควรจะพูดในวันนี้และพรุ่งนี้คือ พูดแต่สิ่งที่เป็นมงคล


พลวัต 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

วันนี้เป็นวันไหว้ของเทศกาลตรุษจีนประจำปีนี้ สิ่งที่ควรจะพูดในวันนี้และพรุ่งนี้คือ พูดแต่สิ่งที่เป็นมงคล

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้

ปีนี้ เทศกาลตรุษจีนมีความหมายกับนักลงทุนในตลาดหุ้นเป็นพิเศษเพราะได้เห็นมูลค่าซื้อขายที่คึกคักมาก และดัชนีทำท่าเกือบทะลุแนวต้านไปปิดเหนือ 1,600 จุด ต่างกันลิบลับกับปีก่อนที่ดัชนีต่ำเตี้ยอยู่ที่ระดับแค่ 1,300 จุดเท่านั้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคมนี้ ตอกย้ำว่า January Effect กลับมาเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมให้เห็นอีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายต่อเนื่องกันนานถึง 5 ปี

January Effect ถูกเชื่อมโยงเข้ากับคำที่เชื่อมต่อกันทางด้านอนุกรมเวลาคือ ซานตาคลอส แรลลี่ ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาของการวิ่งขึ้นของราคาและดัชนีหุ้นระหว่างวันคริสต์มาสจนถึงช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี โดยมีคำอธิบายสำคัญเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของแรงซื้อ เพื่อการให้ของขวัญกันและกัน การแจกโบนัสพนักงาน การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการลดภาษีสินค้าบริโภค และการซื้อหุ้นเก็งกำไรข้ามปีในเดือนมกราคมที่จะมาถึง

นักสถิติที่ซุกซนพยายามใช้ตัวเลขเชิงปริมาณมาสรุป เสนอว่า 3 สัปดาห์ระหว่างข้ามปีก่อนวันคริสต์มาสถึงวันที่ 8 มกราคมว่าเป็นช่วงเวลาที่ขาขึ้นดีที่สุดของตลาดหุ้น เพราะมีทั้งซานตา คลอส แรลลี่ และ January Effect ซึ่งได้รับความนิยมใช้อธิบายในตลาดหุ้นอเมริกาและยุโรปหลายแห่ง แล้วก็มีความหมายล้วนเป็นเชิงบวกทำนองเดียวกัน เพียงแต่รายละเอียดแตกต่างกัน

January Effect หมายถึงการกลับมาของจังหวะขาขึ้นในช่วงหลังหยุดยาวส่งท้ายปี ก่อนต้อนรับปีใหม่ที่นักลงทุนจะกลับมาซื้อระลอกใหม่ยาวนานจนเกือบสิ้นเดือนมกราคมเพราะช่วงเวลาพักยาวทำให้เปิดมุมมองใหม่ต่อการลงทุนได้ โดยเฉพาะแรงซื้อจะมุ่งไปที่หุ้นขนาดเล็กที่เคยถูกมองข้ามมาในเดือนก่อนหน้าเป็นสำคัญ เพราะผลการดำเนินการหุ้นขนาดเล็กจะเหนือกว่าหุ้นอื่นเสมอ แม้ว่าอาจจะมีผลต่อดัชนีรวมไม่เยอะ แต่ก็ทำให้มูลค่าซื้อขายคึกคักขึ้นด้วยอย่างมีนัยสำคัญ

January Effect ทำให้นักลงทุนพากันรำลึกถึงภาพของตลาดหุ้นที่เขียวสดใส  ถือเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาของนักเล่นหุ้นส่วนใหญ่ เพียงแต่เป็นปรากฏการณที่ไม่ได้เกิดขึ้นในทุกๆ ปีตลอดเวลา

คำถามที่น่าสนใจก็คือมันมีอยู่จริงหรือไม่? และมันมีความน่าเชื่อถือเพียงใด? ถือเป็นเสน่ห์ของความลึกลับที่ยากจะพิสูจน์ได้ ที่ล่อให้ค้นหา

โดยทั่วไป January Effect เป็นผลกระทบจากการกว้านซื้อหุ้นของเหล่ากองทุนในช่วงต้นปี หลังจากในช่วงท้ายปีก่อนหน้า กองทุนจะต้องทำการตบแต่งบัญชีให้เข้าที่ เรียกว่า วินโดว์ เดรสซิ่ง ซึ่งทำให้มีการขายหุ้นออกมาในเดือนธันวาคมและกลับมาซื้อคืนในเดือนมกราคมต้นปีนั่นเอง

ปัญหาคือ ช่วงระยะเวลาการดำเนินไปของ January Effect นั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างคลุมเครือและให้ความหมายไม่ตรงกันในแต่ละปี

ในเมืองไทยก็มีนักสถิติที่ซุกซนนำเอาข้อมูลย้อนหลังนานถึง 35 ปี มาประมวลเพื่อค้นหาว่า มี January Effect จริงหรือไม่ และมากน้อยเท่าใด

ผลการประมวลพบว่า  SET Index (ไม่นับราคาหุ้นรายตัว) ให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกในเดือนมกราคมทั้งสิ้น 20 ครั้งจากทั้งหมด 35 ปี หรือคิดเป็น 54.14% สะท้อนให้เห็นว่าความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ยังก้ำกึ่งกันอย่างมาก

บางคนบอกว่าข้อมูลดังกล่าวชี้ว่า ความน่าเชื่อถือของ January Effect นั้นแทบจะไม่ต่างจากการสุ่มโยนเหรียญหัว-ก้อยเลย และหากใครเชื่อ โอกาสที่จะถูกหลอกมีสูงมากกว่าปกติ

ที่น่าสนใจอีกก็คือ ในสถิติที่ประมวลมา พบว่า เดือนมิถุนายนน่าจะเป็นเดือนที่น่าสนในมากที่สุดในตลาดหุ้นไทย เพราะพบว่าเดือนดังกล่าว SET ให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกถึง 25 ครั้ง จาก 35 ปี หรือ 69.44%

ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงเวลา 10 ปีหลังที่ผ่านมา เดือนธันวาคมกลับเป็นเดือนที่ SET ให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 8 ใน 10 ครั้ง หรือ 80% เลยทีเดียว

เพียงแต่ในภาพรวม พบว่า ความถี่ของการเกิด January Effect ในช่วง 10 ปีหลัง ลดน้อยลงเหลือเพียง 5 ใน 10 ปี หรือ 50% เท่านั้น โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีหลังของการทดสอบจนถึงปี 2559  ดัชนี SET ให้ผลตอบแทนเป็นลบในเดือนมกราคมต่อเนื่องกันมาตลอด

ตรุษจีนปี 2560 นี้จึงเป็นปีของความแตกต่างเชิงบวก และฟื้นคืนกลับมาของ January Effect ไม่ว่าดัชนีจะผ่านขึ้นมายืนปิดเหนือ 1,600 จุดได้หรือไม่

Back to top button