ความผันผวนรอบใหม่กำลังจะมา…
ตลาดกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนซึ่งต้องรอข้อมูลอีกว่าเมื่อไหร่ที่ธนาคารกลางอาจจะขึ้นดอกเบี้ยและกำลังอยู่ในกระบวนการที่อาจเริ่มมีความผันผวนมากขึ้น
ผลกระทบจากการส่งสารของธนาคารกลางสหรัฐที่มีท่าทีนโยบายที่จะรักษาอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำไว้ ควรจะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรลดลงและทำให้การแข็งค่าอย่างรุนแรงของดอลลาร์ลดลง ซึ่งสองอย่างนี้ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่มีแนวโน้มที่ดีสำหรับหุ้น
ตลาดกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนซึ่งต้องรอข้อมูลอีกว่าเมื่อไหร่ที่ธนาคารกลางอาจจะขึ้นดอกเบี้ยและกำลังอยู่ในกระบวนการที่อาจเริ่มมีความผันผวนมากขึ้น
ไม่มีรายงานเศรษฐกิจสำหรับตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดังนั้น เทรดเดอร์จึงทำโพสิชั่นก่อนสัปดาห์นี้และก่อนที่จะมีการปราศรัยสำคัญในวันจันทร์ (23 มี.ค.) จากสแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์ซึ่งอ่อนตัวลงในวันพุธ ได้กลับมาแข็งขึ้นในวันพฤหัสบดี แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เทรดเดอร์ยังคงคาดการณ์ว่าดอลลาร์จะถูกตะลุมบอนจากการส่งสารใหม่ของเฟดที่บอกว่ากำลังจับตาดอลลาร์และดอลลาร์ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแล้ว หลายตลาดมีอาการเกร็งหลังจากที่เฟดลดเป้าเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ลดประมาณการอัตราดอกเบี้ย
อลัน รัสกิน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์เงินในกลุ่มจี 10 ของดอยช์แบงก์ กล่าวว่า เป็นช่วงเวลาที่การแข็งแกร่งของดอลลาร์กำลังจะมีปฏิกิริยากลับไปยังนโยบายของเฟด ซึ่งเป็นผลสะท้อนกลับไปหาดอลลาร์
รัสกินคิดว่า หากเศรษฐกิจแข็งแกร่งเพียงพอเฟดจะเข้มงวดนโยบายในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีความมั่นใจมากขึ้นว่า เส้นทางการเข้มงวดนโยบายในอนาคตไม่รุนแรงเหมือนที่มันจะเป็นหากดอลลาร์อ่อนลง และรัสกินคาดการณ์ว่า ค่าเงินยูโรและดอลลาร์จะเท่ากันในปลายปีนี้
ค่าเงินดอลลาร์ได้แข็งขึ้นอย่างรุนแรงในปีนี้เพราะมีแนวโน้มว่าดอกเบี้ยจะสูงขึ้นและเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น แต่ก็เป็นเพราะว่าเงินยูโรได้อ่อนตัวลงเช่นกัน เนื่องจากธนาคารกลางยุโรปผ่อนคลายนโยบายในขณะที่เฟดกำลังเข้มงวดนโยบาย
เงินยูโรซื้อขายกันที่ 1.06 ดอลลาร์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หลังจากที่ดีดตัวเกือบ 1.10 ดอลลาร์ เมื่อวันพุธ ในขณะนี้วงจรในการขึ้นดอกเบี้ยช้าลงของเฟด อาจชะลอการแข็งค่าของดอลลาร์ได้
แดนแคตซิฟ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนอเมริกาเหนือ อธิบายการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าต้องคิดในภาพใหญ่ เสียงส่วนใหญ่คิดว่าดอลลาร์จะมีความแข็งแกร่งและนั่นหมายถึงว่า หากมีการอ่อนตัวลงมาก จะมีแรงส่งจากคนที่ไม่สามารถเข้าไปซื้อในระดับที่ดีได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเขาจึงคิดว่า ดอลลาร์จะไม่อยู่ในระดับที่ถูกลงเป็นเวลานาน และคาดว่าดอลลาร์จะมีการซื้อขายแตกต่างออกไป เนื่องจากเฟดได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผลกระทบของมันแล้ว
เฟดได้ปรับภาษาที่ใช้ในแถลงการณ์เพื่อแสดงให้เห็นว่ากำลังใกล้ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปี แล้ว แต่เจเน็ต เยลเล็น ประธานธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวว่า ในขณะที่มีความเป็นไปที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ธนาคารกลางอาจใช้เวลาในการตัดสินใจเช่นกัน
ในตอนแรกดอลลาร์มีปฏิกิริยาต่อเป้าหมายของเฟดที่จะขึ้นดอกเบี้ยให้ช้าลง ซึ่งรวมถึงการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยชั่วข้ามคืนในช่วงปลายปีจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง จากที่ในตอนแรกคาดว่าจะอยู่ที่ 1.125%
รัสกิน กล่าวว่า หากตัวเลขการจ้างงานแข็งแกร่งก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการเอฟโอเอ็มซีในเดือนมิถุนายน ก็คิดว่าเฟดน่าจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน
ริค ไรเดอร์ ประธานร่วมฝ่ายรายได้คงที่ในอเมริกาของแบล็กร็อก คิดว่าเดือนมิถุนายนยังคงเป็นไปได้ แต่เริ่มมีเหตุผลที่จะเป็นเดือนกันยายน “เมื่อเศรษฐกิจและตลาดเปิดโอกาสให้เคลื่อนไหว หากพลาดโอกาสก็อาจเป็นอันตราย แต่ที่ชัดเจนคือพวกเขาตั้งใจจะเดินไปในเส้นทางนี้ เราคิดว่าสำหรับตอนนี้ อัตราดอกเบี้ยจะต่ำเป็นเวลานาน”
ไรเดอร์คาดว่า ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุไถ่ถอน 10 ปีในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 2.25/2.50% และคาดว่าการซื้อขายจะมากขึ้นเมื่อเฟดเริ่มเคลื่อนไหว และพันธบัตรอายุ 2 ปี ถึง 5 ปี จะเห็นผลตอบแทนสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็วขึ้น โดยใกล้มากขึ้นกับผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว
ไรเดอร์ กล่าวว่า ไม่เคยมีมาก่อนที่ตลาดได้รับอิทธิพลและถูกตรึงอยู่กับนโยบายของธนาคารกลาง และนั่นคือสูตรที่ชี้ว่าการซื้อขายจะมีความผันผวนมากขึ้น
“โลกได้รับแรงขับเคลื่อนโดยนโยบายเงินมากเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทุกอย่างเคลื่อนไหวไปด้วยกันตามการเคลื่อนไหวครั้งต่อไปของนโยบาย เมื่อนโยบายเคลื่อนไหวไปทางใดทางหนึ่ง ทุกคนต้องการเคลื่อนไหวตามมันเพราะมันใหญ่มาก นี่คือปรากฏการณ์ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเคลื่อนไหวไปในทางเดียวในเวลาเดียวกันหมด” ไรเดอร์ กล่าว และนั่นรวมถึงที่เทรดเดอร์ทำโพสิชั่นตามนโยบายของธนาคารกลางอื่นๆ เช่น โครงการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางยุโรปด้วย
ไมเคิล เมเทอราสโซ รองประธานอาวุโสและประธานกรรมการร่วมของคณะกรรมการนโยบายรายได้คงที่ของแฟรงคลิน เทมเพลตัน ก็คาดว่าจะเห็นผลตอบแทนแบนราบมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะผู้ซื้อต่างชาติเข้าไปซื้อพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น ตัวอย่างเช่น พันธบัตรสหรัฐอายุไถ่ถอน 10 ปี ค่อนข้างน่าสนใจมากกว่าสำหรับนักลงทุนบางคนเนื่องจากมีผลตอบแทน 1.96% เทียบกับผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมนีที่มีอายุไถ่ถอน 10 ปี เท่ากัน แต่มีผลตอบแทนต่ำแค่ 0.15%
“เราคิดว่านั่นเป็นเพราะนโยบายเชิงรุกของเฟดและผลกระทบในทางเทคนิคของนโยบายคิวอีจากธนาคารกลางยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเงินทุนจากที่นั่นจะไหลไปยังสหรัฐ” เมเทอราสโซ กล่าว
เมเทอราสโซ กล่าวว่า เฟดจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อรักษาความสงบให้กับตลาด “การสันนิษฐานของผมอยู่ที่เมื่อไหร่ที่พวกเขาจะขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก นอกเสียจากว่าเศรษฐกิจกำลังจะเทกออฟอย่างที่ไม่มีใครเชื่อในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ผมสันนิษฐานว่า ในการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกพวกเขาจะระบุว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์ ไม่เหมาะสมอีกต่อไป” และธนาคารกลางจะย้ำถึงการขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้าๆ
อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ที่ว่าผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะต่ำต่อไป กำลังสร้างกำลังใจให้แก่นักลงทุนหุ้นที่ในตอนแรกยินดีที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยช้าลง
หลังจากที่ดีดตัวเมื่อวันพุธ หุ้นสหรัฐก็ปิดคละเคล้ากันไปในวันพฤหัสฯ ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลง 117 จุด ปิดที่ 17,959 จุด และดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวลง 10 จุด ปิดที่ 2,089 จุด แต่ดัชนีแนสแด็กปิดเพิ่มขึ้น 9 จุด ปิดที่ 4,992 จุด ดัชนีรัสเซลล์ 2000 เพิ่มขึ้น 2 จุด เป็น 1,254 จุด ซึ่งต่ำกว่าระดับสูงสุดตลอดกาลเล็กน้อย
แจ็ค แอบลิน ซีไอโอ บริษัท บีเอ็มโอ ไพรเวท แบงก์ กล่าวว่า ท่าทีของเฟดอาจทำให้หุ้นมีความผันผวนมากขึ้น “ทุกเดือนที่เฟดไม่ได้เข้มงวด จะทำให้การประเมินมูลค่าตึงตัวมากขึ้น และนั่นทำให้เฟดมีความสำคัญเพิ่มขึ้นมากในการตัดสินใจว่าจะถือหุ้นหรือไม่ ซึ่งจะทำให้หุ้นมีความผันผวนอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือสิ่งที่น่ากังวล
ปีเตอร์ บุ๊ควาร์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาด บริษัท ลินด์ซีย์ กรุ๊ป กล่าวว่า การทดสอบหุ้นจะอยู่ที่ฤดูแถลงผลประกอบการ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงต้นเดือนเมษายน “ความแตกต่างในครั้งนี้กับสองปีที่ผ่านมาเมื่อมีนโยบายคิวอีและอัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์ และมีผลกำไรแข็งแกร่ง แต่ในขณะนี้ไม่มีคิวอี มีดอกเบี้ยเป็นศูนย์ แต่ไม่มีการเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่งอีกต่อไป”
บุ๊ควาร์คาดว่ากำไรจะโตเพียง 2.5% ในปีนี้ ความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ได้สร้างความหนาวสั่นไปทั่วตลาดหุ้นเมื่อเร็วๆ นี้เนื่องจากเทรดเดอร์วิตกว่ามันจะกระทบกำไรในต่างประเทศของบริษัทข้ามชาติ และในปีนี้ดัชนีดอลลาร์ได้ปรับตัวขึ้นเกือบ 10% แล้ว