กลต. กับปฏิบัติการจับโจรใส่สูท ปี 59

ถ้าเปิดตำราการไล่จับโจรของภาพยนตร์ระดับฮอลลีวูด มักจะเห็นแนวสืบสวนสอบสวน เพื่อตรวจสอบการปกปิดเงื่อนงำ ความลับของผู้กระทำความผิด หรือผู้สร้างปัญหา และดูเหมือนพระเอกก็ยังเป็นพระเอกวันยังค่ำ ตำรวจก็มักจะมาตอนจบเป็นประจำ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรไปจากการทำหน้าที่ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)


–เส้นทางนักลงทุน–

 

ถ้าเปิดตำราการไล่จับโจรของภาพยนตร์ระดับฮอลลีวูด มักจะเห็นแนวสืบสวนสอบสวน เพื่อตรวจสอบการปกปิดเงื่อนงำ ความลับของผู้กระทำความผิด หรือผู้สร้างปัญหา และดูเหมือนพระเอกก็ยังเป็นพระเอกวันยังค่ำ ตำรวจก็มักจะมาตอนจบเป็นประจำ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรไปจากการทำหน้าที่ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เนื่องจากมีบทบาทหนึ่ง คือ การตรวจสอบระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของ บริษัทจดทะเบียน ผู้บริหารบริษัท บริษัทหลักทรัพย์ มาร์เก็ตติ้ง หรือแม้กระทั่งตัวนักลงทุน เพื่อป้องปรามไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งโดยทั่วไปคือ ภารกิจของการจับโจรใส่สูทนั่นเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานทั้งหมดเท่านั้น

ในโอกาสที่ผ่านปี 2559 ไปแล้ว “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้ทำการรวบรวมและสรุปข้อมูลภารกิจของ ก.ล.ต.ในการกำกับดูแลพฤติกรรมที่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดในตลาดทุน

ข้อมูลที่นำเสนอและเปิดเผยในเว็บไซต์ของ ก.ล.ต.นั้น พบว่า ข้อมูลที่อยู่ในอำนาจของก.ล.ต.ในการกล่าวหาผู้กระทำผิดนั้น เป็นข้อมูลที่มีการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน ไม่ใช่ข้อมูลที่มีการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย เพราะอย่างหลังนี้ อำนาจไม่ได้อยู่ที่ก.ล.ต. แต่อยู่ที่หน่วยงานอื่นได้แก่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และอัยการ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีคานอำนาจกันในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติมักจะมีกรณีศึกษาหลายกรณีที่เป็นการ “ปล่อยคนชั่วให้ลอยนวล” ตามที่วิพากษ์วิจารณ์กัน

ข้อมูลที่มีการเปรียบเทียบปรับโดย ก.ล.ต. ในปี 2559 ยกตัวอย่างในกรณี เปรียบเทียบปรับในรายบุคคล มีผู้กระทำความผิดทั้งสิ้นจำนวน 72 ราย รวมเป็นเงินค่าปรับ 485,705,921.25 บาท

สำหรับมูลค่าของการเปรียบเทียบปรับ (ซึ่งมีลักษณะ “สารภาพ ลดครึ่งราคา”) สะท้อนให้เห็นว่า มูลค่าเดิมพันของโจรใส่สูทในตลาดทุนไทยสูงพอสมควร หากประเมินว่าความผิดที่คนเหล่านี้ก่อขึ้น มีมูลค่าความเสียหายมากกว่าค่าปรับหลายสิบเท่า และยังมีโจรใส่สูทจำนวนมาก ยังคงลอยนวล เพราะหลักฐานไม่เพียงพอสำหรับคำกล่าวหา

รูปแบบการกระทำผิดที่ถูกเปรียบเทียบปรับตามข้อมูล แบ่งเป็น 5 กลุ่มความผิดคือ 1) การสร้างราคาหลักทรัพย์ในลักษณะอำพรางให้คนทั่วไปหลงผิด 2) ใช้ข้อมูลวงในซื้อขายหลักทรัพย์ 3) ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่นำส่งงบการเงินผิดพลาดหรือล่าช้า 4) ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ที่บกพร่องในการจัดระบบป้องกัน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการตรวจสอบประสิทธิภาพ 5) การกระทำความผิดเบ็ดเตล็ดที่มีผลต่อราคาหุ้น

ในแง่มูลค่า บุคคลที่ถูกเปรียบเทียบเป็นค่าปรับหนักสุด คือ นายแฉล้ม เสมสฤษดิ์  เสียค่าปรับไปทั้งสิ้น 72,186,747.45 บาท กรณีได้รู้เห็นหรือตกลงร่วมกับตัวการรายอื่น โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลในกลุ่มดังกล่าวและบุคคลอื่น รวมจำนวน 12 บัญชี ซื้อขายหุ้นบริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ UMI ในลักษณะเป็นการอำพรางเพื่อให้บุคคลทั่วไปหลงผิดไปว่าในช่วงเวลาดังกล่าว หุ้น UMI มีการซื้อหรือขายกันมาก และราคาหุ้นได้เปลี่ยนแปลงไปอันไม่ตรงกับสภาพปกติของตลาด และซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกัน อันเป็นผลทำให้การซื้อหรือขายหุ้น UMI ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด เพื่อชักจูงให้บุคคลทั่วไปเข้าทำการซื้อหรือขายหุ้นดังกล่าว

อีกทั้งยังมีการปรับในกรณีซื้อขายหุ้นบริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ UMI ในลักษณะเดียวกันแต่โดนค่าปรับน้อยลงมา อย่างบุคคลที่ 2 “นายปราบภณ สิงห์ทอง”  เสียค่าปรับไปทั้งสิ้น 56,261.554.95 บาท, บุคคลที่ 3 “นายชูเกียรติ สิงห์ทอง” เสียค่าปรับไปทั้งสิ้น 56,261.554.95 บาท, บุคคลที่ 4 “นางกชพร สิงห์ทอง” เสียค่าปรับไปทั้งสิ้น 56,261.554.95 บาท, บุคคลที่ 5 “นายพรหมกรรณ ศรีณรงค์” เสียค่าปรับไปทั้งสิ้น  56,261.554.95 บาท, บุคคลที่ 6 “นายสมจิตร สะใบบาง” เสียค่าปรับไปทั้งสิ้น 37,507,703.30 บาท, บุคคลที่ 7 “นายสมชาย คงบุญ” เสียค่าปรับไปทั้งสิ้น 37,507,703.30 บาท, บุคคลที่ 8 “นางสาวศิริกร ทองสาหร่าย” เสียค่าปรับไปทั้งสิ้น 37,507,703.30 บาท และบุคคลที่ 9 “นายประเศียร คงบุญ”  เสียค่าปรับไปทั้งสิ้น 37,507,703.30 บาท

ตัวอย่างของกรณีเปรียบเทียบปรับ แม้จะยังไม่สามารถกล่าวได้ว่า ผลงานของ ก.ล.ต.ในปี 2559 มีความโดดเด่น เพราะสามารถครอบคลุมการกระทำความผิดของโจรใส่สูทได้เพียงบางส่วน แต่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะสร้างความโปร่งใสให้กับพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน

Back to top button