พาราสาวะถี อรชุน

เห็นภาพของผู้นำและผู้แทน 30 องค์กรวิชาชีพสื่อ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวคัดค้านร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อหรือสปท. เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกอะไรบางอย่าง เหมือนที่เคยได้บอกกล่าวมาโดยตลอดเกือบ 10 ปี หากองค์กรวิชาชีพสื่อไม่ยืนอยู่บนหลักการและจรรยาบรรณวิชาชีพในสถานการณ์ขัดแย้งแล้ว ในวันข้างหน้ากลุ่มคนเหล่านี้นี่แหละที่จะถูกรุกไล่


เห็นภาพของผู้นำและผู้แทน 30 องค์กรวิชาชีพสื่อ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวคัดค้านร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อหรือสปท. เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกอะไรบางอย่าง เหมือนที่เคยได้บอกกล่าวมาโดยตลอดเกือบ 10 ปี หากองค์กรวิชาชีพสื่อไม่ยืนอยู่บนหลักการและจรรยาบรรณวิชาชีพในสถานการณ์ขัดแย้งแล้ว ในวันข้างหน้ากลุ่มคนเหล่านี้นี่แหละที่จะถูกรุกไล่

คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะมาเกิดขึ้นและเห็นผลเอาในยุคของรัฐบาลคสช. เพราะต้องไม่ลืมว่ายุคนี้มีคนวงการสื่อจำนวนหนึ่งที่ไปรับตำแหน่งจากการประเคนมาให้ของอำนาจรัฐประหาร ไม่เพียงเท่านั้นคนในวงการอีกจำนวนไม่น้อยก็ยกมือเชียร์ม็อบกปปส.ก่อนหน้า พร้อมร่วมโบกมือดักกวักมือเรียกให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ยิ่งได้เห็นการไม่ยอมตั้งฉายารัฐบาลของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลมา 4 ปีติดต่อกัน ยิ่งทำให้เห็นภาพของการศิโรราบต่ออำนาจเผด็จการได้อย่างเด่นชัด ด้วยเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้คนพวกหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นสื่ออาวุโส เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม เชื่อมั่นว่าจะต่อสาย เจรจาเพื่อไม่ให้วงการสื่อถูกรุกไล่จนไร้ที่ยืน หรือถูกแทรกแซงจากฝ่ายอำนาจรัฐ

ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าในรัฐบาลพรรคการเมืองหรือผ่านการเลือกตั้งมาด้วยระบอบประชาธิปไตย สื่อทำหน้าที่รุกไล่อย่างเอาเป็นเอาตาย แต่มายุคสมัยนี้กลับไม่ได้แข็งแรงอย่างที่ควรจะเป็น มิหนำซ้ำ ยังถูกมองว่าบางพวกบางสำนัก ยกมือเชียร์อำนาจรัฐประหารอย่างออกนอกหน้าเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น การออกมาเรียกร้องเวลานี้จึงถูกมองได้อีกมุมว่า เป็นการตีสองหน้าหรือว่าเห็นความหายนะที่มาจะเยือนอย่างแท้จริง

ถูกต้องแล้ว ที่ วันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จะยกเอาผลการประกาศดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น หรือ CPI ที่ประเทศไทยได้คะแนนและอันดับตกต่ำลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขบวนการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน ที่ทำให้นานาชาติไม่ไว้วางใจในเรื่องความโปร่งใสของไทย จึงเป็นสิ่งที่สปท.และสนช.ตลอดจนผู้มีอำนาจในคสช.น่าจะได้ตระหนัก

หากแต่ว่า มันจะดีกว่านี้หากคนในองค์กรวิชาชีพสื่อได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ยืนอยู่บนจุดที่แสดงความเป็นกลางอย่างแท้จริงทุกค่ายทุกสำนัก โดยที่สมาคมวิชาชีพก็ทำหน้าที่อย่างเด็ดขาด ประกาศเตือนหรือมีมาตรการลงโทษ สื่อที่แสดงตัวว่าเป็นพวกหนึ่งพวกใด ไร้ความเป็นกลาง แต่เมื่อเลือกที่จะเดินบนเส้นทางสีเทามาตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา วันนี้จึงไม่รู้ว่ามันสายเกินไปหรือเปล่า

ขณะเดียวกัน การได้เห็นรายชื่อของคนที่เป็นผู้นำในการแถลงข้อเรียกร้องนั้น เชื่อแน่ว่านักการเมืองจำนวนไม่น้อยคงหัวเราะเยาะ ก็เพราะคนเหล่านั้นภาพมันชัดเจนเหลือเกินว่า ยืนอยู่ข้างใคร เป็นพวกฝ่ายไหน ท่าทีสิ่งที่แสดงออกตลอดระยะเวลาของความขัดแย้งมันปิดกันไม่มิด ถูกต้องหากจะบอกว่าไม่มีใครเป็นกลางได้ในสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อไม่เป็นกลางก็อย่าไปแสดงละครตบตาใครว่าข้านี่แหละคือพวกเถรตรง

เวลานี้ผู้มีอำนาจคงหัวร่อด้วยความสะใจ ที่ได้เห็นอาการเต้นเป็นเจ้าเข้าของคณะบุคคลที่จำนวนไม่น้อยก็คือผู้ถือหางและแสดงการเชลียร์คณะคสช.มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ลองมองไปดูข้อเสนอของ 30 องค์กรวิชาชีพสื่อกันดูบ้างที่เขาขู่ฟ่อดๆ ว่าหากไม่ได้รับการตอบสนองจะยกระดับการเคลื่อนไหวนั้น เขาเสนออะไรกัน

องค์กรวิชาชีพสื่อเห็นพ้องกันว่า ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนพ.ศ… ของสปท. มิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่กลับเน้นหลักการควบคุมสื่อมวลชนโดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน

ไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ ทั้งนี้ จะมีผลกระทบโดยตรงต่อบทบาทของสื่อมวลชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐและเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

จึงเรียกร้องให้สปท.ต้องยกเลิกการพิจารณาร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ โดยให้กลับไปทบทวนความจำเป็นในการออกกฎหมายดังกล่าว หากสปท.เดินหน้ารับรองร่างพ.ร.บ.นี้ โดยไม่ฟังเสียงทักท้วง องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั่วประเทศจะยกระดับมาตรการในการคัดค้านร่างกฎหมายนี้ต่อไปจนถึงที่สุด

ก่อนที่จะตบท้ายว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้พัฒนาระบบการกำกับดูแลตนเองด้านจริยธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อยกระดับความรับผิดชอบของสื่อมวลชนและตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของสังคมรวมทั้งมุ่งมั่นที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป ประเด็นนี้พิจารณาจากท่าทีของท่านผู้นำและคนในคณะคสช.ที่ตอกย้ำเรื่องต้องปฏิรูปสื่อ ถามว่าคนเหล่านั้นจะเชื่อหรือไม่

ผลลัพธ์ก็น่าจะเป็นอย่างที่ พลอากาศเอกคณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อมวลชน สปท.ออกมาตอกย้ำล่าสุด ความเคลื่อนไหวขององค์กรวิชาชีพก็แค่ความเห็นหนึ่ง ซึ่งคงรับฟังแต่ไม่ทบทวนหรือชะลอการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ พร้อมๆ กับตอกกลับในทีว่า ประเด็นของร่างกฎหมายที่เปิดโอกาสให้รัฐเข้าแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนนั้น ต้องเข้าใจว่า เมื่อประเทศมีรัฐ รัฐต้องทำหน้าที่ดูแลร่วมกับภาคเอกชน เพื่อความเรียบร้อย

พร้อมกับอ้างว่าในร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อนั้น กำหนดให้มีสภาวิชาชีพที่มีตัวแทนทั้งจากภาครัฐและภาคองค์กรสื่อสารมวลชนเป็นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง โดยตัวแทนของสื่อมวลชนนั้นเปิดโอกาสให้มาจากการคัดเลือกกันเองขององค์กรสื่อสารมวลชน ถือเป็นความสมดุลที่เหมาะสม ดังนั้น ความเห็นต่างที่มี ต้องทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้

คำอธิบายดังกล่าวดูเหมือนว่าจะสวนทางกับข้อเท็จจริง เพราะโครงสร้างคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้มีปลัด 4 หน่วยงาน ร่วมเป็นกรรมการพร้อมเปิดช่องให้มีกรรมการอื่นอีก 4 คนที่ฝ่ายอำนาจรัฐสามารถคัดสรรเข้ามา จากกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติทั้งหมด 13 คน ที่จะมีผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อแค่ 5 คน ขณะที่สภาดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงได้  เท่ากับเปิดช่องให้อำนาจรัฐเข้ามาควบคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จ ใครพูดเท็จใครพูดจริง สิ่งนี้ไม่ใช่ตัวชี้วัดแต่อยู่ที่ผู้มีอำนาจว่าเขาต้องการอย่างไรต่างหาก

Back to top button