กลับสู่พื้นฐานพลวัต2015
ตลาดหุ้นไทยจากนี้ไป อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงอีกครั้ง ด้วยปัจจัยลบ 3 ด้านพร้อมกัน
ตลาดหุ้นไทยจากนี้ไป อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงอีกครั้ง ด้วยปัจจัยลบ 3 ด้านพร้อมกัน
– พี/อีของตลาด หลังประกาศงบไตรมาสแรก สูงเกินมาตรฐานทางทฤษฎี 14.40 เท่า และมาตรฐานเปรียบเทียบกับตลาดอื่นๆ เพราะล่าสุดอยู่ที่ 20.70 เท่า และคาดว่าหลังงบไตรมาสแรกเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีค่าพี/อีสูงกว่าเดิมอีก หากดัชนีตลาดอยู่ที่ระดับ 1,500 เท่า
– เศรษฐกิจไม่ดี การปรับเป้าเติบโตใหม่ลดลงจากหลายสำนักวิจัย รวมทั้งแบงก์ชาติ เป็นสัญญาณร้ายที่บอกอนาคตระยะกลางได้ดี เพราะรัฐบาลล้มเหลวในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
– เศรษฐกิจโลกผันผวน จากภาวะสุ่มเสี่ยงต่อเงินฝืด หรือเติบโตถดถอย ต้องใช้มาตรการกระตุ้นสารพัด
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น บ่งบอกว่าจะใช้วิธีคิดและมุมมองว่าตลาดหุ้นนั้นเล่นเกม “มันนี่ เกม” อย่างเดียวหรือผสมผสานไม่ได้อีกแล้ว เพราะมุมมองดังกล่าวเป็นมายาคติที่ทำให้มีความสุ่มเสี่ยงในการลงทุนสูงมาก
ทางออกของนักลงทุนในสถานการณ์นี้ ต้องย้อนกลับไปยึดแนวทางของนักลงทุนเน้นคุณค่าเป็นสำคัญ นั่นคือ กลับสู่สามัญ หรือ back to basics
กุญแจของการกลับสู่สามัญในการลงทุน หนีไม่พ้นเรื่องของผลประกอบการ เพราะผลประกอบการเท่านั้นจะยืนยันได้ดีที่สุดว่า ราคาหุ้นมีความสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน ตามสูตรที่ชื่อว่า let profit run
เพื่อให้เข้าใจหลักการดังกล่าว นักลงทุนควรต้องย้อนไปศึกษาเบนจามิน แกรห์ม และ วอร์เรน บัฟเฟตต์เสมอในฐานะต้นแบบของการลงทุนที่ไม่แยแสต่อหรือตามตลาด
เบนจามิน แกรห์มปรมาจารย์แห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ผู้นำเสนอทฤษฎีดังกล่าวในยุคที่ทุกคนต่างมองหุ้นเป็นการเก็งกำไร ด้วยทฤษฎีการลงทุนที่ตัวเองคิดค้นขึ้น หลังจากที่เล่นตามตลาดแล้วขาดทุนป่นปี้
หัวใจของทฤษฎีการลงทุนของแกรห์มอยู่ที่ การใช้เหตุผลในการลงทุน โดยให้คว้าโอกาสความผิดพลาดของตลาด อย่าไปบ้าคลั่งตามมัน โดยให้พิจารณาว่าพฤติกรรมของตลาด ที่เขาสร้างเป็นบุคลาธิษฐานขึ้นมาว่าเป็น
“คุณตลาด” ที่มีพฤติกรรมแปรปรวน บางวันก็ตื่นกลัวจนไร้สติ บางวันก็อารมณ์ดีเกินเหตุ ซึ่งนักลงทุนต้องรู้จักหาประโยชน์จากความไม่มีเหตุผลของเพื่อนสนิทที่ว่านี้ให้ได้ ไม่ตกเป็นเหยื่อ
วิธีเอาชนะ “คุณตลาด” ของแกรห์มคือ ในการเข้าลงทุนเพื่อซื้อหุ้นหรือหลักทรัพย์ ควรมี “ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย” ราคาหุ้นที่เข้าไปซื้อ ต้องต่ำกว่า “Intrinsic Value” หรือ “มูลค่าโดยเนื้อแท้” ของบริษัท เพื่อเป็นเกราะป้องกันความเสียหายจากการลงทุนหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
การเลือกดังกล่าวจะเกิดได้ต้องมอง “หุ้น” เป็นส่วนหนึ่งของ “ธุรกิจ” โดยถือว่าการ “เข้าซื้อหุ้น” คือการ “เข้าซื้อธุรกิจ” ไม่ใช่เพียงเพราะหวังว่าราคาของมันจะสูงขึ้นไป โดยไม่สนใจพื้นฐานใดๆ ไม่สนใจว่าบริษัททำธุรกิจอะไร อย่างไร
หลักการลงทุนของแกรห์มจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเข้มงวด และอนุรักษนิยมจนเกินไป ทั้งยังเน้นหนักแต่ตัวเลขและงบการเงิน นักลงทุนอาจสูญเสียโอกาสในการลงทุนงามๆ มากมาย แต่มันไม่เคยทำให้นักลงทุนขาดทุนชนิดล้มหงายตึงเลย
นักลงทุนที่มีคุณสมบัติตามสูตรของแกรห์ม ต้องมีพฤติกรรมและอุปนิสัยดังนี้
- มีความอดทน และมีวินัยในการลงทุน
- ขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ
- ศึกษาและทำความเข้าใจกิจการอย่างละเอียดรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นๆ
- ควบคุมอารมณ์ไม่ให้มาก้าวก่ายเหตุผลได้เป็นอย่างดี
ความถูกต้องของ แนวทาง กลับสู่สามัญของแกรห์ม ได้รับการตอกย้ำรุนแรง โดยผ่านความสำเร็จของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ลงทุนด้วยวิธีของแกรห์มอย่างเคร่งครัด และปรับใช้กับหลักการบางส่วนของฟิลลิป ฟิชเชอร์ โดยเพิ่มคำว่า “คุณภาพของกิจการ” มากขึ้น กลายเป็นนักลงทุนผู้มั่งคั่งที่สุดในโลกร่วมสมัย
บัฟเฟตต์เป็นนักลงทุนที่มีปรัชญาและความคิดที่ค่อนข้างจะสุดโต่งในหลายๆ ด้าน เขาไม่เคยมีจอคอมพิวเตอร์ไว้ดูราคาหุ้นนาทีต่อนาที อย่างที่นักลงทุนมืออาชีพทั้งหลายทำกัน และมีมุมมองว่าบริษัทที่มีคุณภาพน่าซื้อลงทุนนั้นมีไม่มาก เขาจึงเลือกลงทุนในหุ้นจำนวนไม่มากนัก แต่หุ้นที่บัฟเฟตต์ซื้อไว้ถือจะลงทุนในสัดส่วนที่สูงมาก
เมื่อลงทุนไปแล้ว ราคาหุ้นจะผันผวนแค่ไหนตามตลาด บัฟเฟตต์จะไม่ขาย แต่ปล่อยให้บริษัทเติบโตไปเรื่อยๆ เรียกว่าทำตัวเหมือนเจ้าของบริษัท แต่จะไม่สนใจและไม่เข้าไปบริหารกิจการแบบวันต่อวัน เขาเพียงนั่งในฐานะกรรมการของบริษัทคนหนึ่งเท่านั้นเพื่อควบคุมกระบวนการตัดสินใจ
หลักการของบัฟเฟตต์ คือ
- ต้องเป็นธุรกิจที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก หากไม่รู้แน่ชัดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทนั้นจะเป็นอย่างไร จะไม่ซื้อหุ้นนั้น จึงไม่ซื้อหุ้นไฮเทค หรือคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ หรือสายการบิน
- บริษัทเป้าหมาย จะต้องมีผลการดำเนินงานสม่ำเสมอ ปีแล้วปีเล่า เพื่อจะสามารถคำนวณราคาที่ควรจะเป็นได้ง่าย
- ธุรกิจจะต้องมีอนาคตที่สดใส ไม่ถูกคู่แข่งมาทำลายได้ง่าย
- การซื้อหุ้นคือการลงทุนทำธุรกิจ ดังนั้นธุรกิจที่ดีจะต้องให้ผลตอบแทนในรูปมาร์จิ้นหรือกำไรเมื่อเทียบกับยอดขายสูง และมูลค่าของหุ้นจะต้องชัดเจนว่า ราคาที่ควรจะเป็นของธุรกิจที่เขาจะซื้อนั้นเป็นเท่าไร เพื่อหาส่วนต่างแห่งความปลอดภัยให้ได้
การกลับสู่พื้นฐานตามแนวของแกรห์มและบัฟเฟตต์นี้ อาจจะดูคร่ำครึ และยาก แต่สำหรับคนที่รู้ค่าของความยากจน และขาดทุนได้ดี ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้แล้ว