ถอดรหัสทรัมป์(อีกครั้ง)พลวัต 2017

ถึงวันนี้ กลุ่มทุนที่เคยดันราคาหุ้นจนกระทั่งดัชนีดาวโจนส์ของตลาดหุ้นนิวยอร์กทะลุ 20,000 จุดไปได้สำเร็จหลังจากชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยความเชื่อว่า ทรัมป์จะนำเอามาตรการเศรษฐกิจแบบเรแกนโนมิกส์มาใช้ใหม่ และมีนโยบายต่างประเทศ ที่จะทำให้สหรัฐกลับมาเป็นมหาอำนาจเดี่ยวอีกครั้ง คงจะต้องได้เวลาทบทวนท่าทีเสียใหม่ เมื่อพฤติกรรมของทรัมป์และพวก เริ่มคาดเดาได้ยากขึ้นทุกขณะ


วิษณุ โชลิตกุล

 

ถึงวันนี้ กลุ่มทุนที่เคยดันราคาหุ้นจนกระทั่งดัชนีดาวโจนส์ของตลาดหุ้นนิวยอร์กทะลุ 20,000 จุดไปได้สำเร็จหลังจากชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยความเชื่อว่า ทรัมป์จะนำเอามาตรการเศรษฐกิจแบบเรแกนโนมิกส์มาใช้ใหม่ และมีนโยบายต่างประเทศ ที่จะทำให้สหรัฐกลับมาเป็นมหาอำนาจเดี่ยวอีกครั้ง คงจะต้องได้เวลาทบทวนท่าทีเสียใหม่ เมื่อพฤติกรรมของทรัมป์และพวก เริ่มคาดเดาได้ยากขึ้นทุกขณะ

ที่แน่นอนคือ ทรัมป์นั้นอาจจะไม่เอาทั้ง เรแกนโนมิกส์ และไม่เอาทั้งนโยบายแบบมหาอำนาจเดี่ยวมาใช้ แต่จะเอาอะไรนั้น คงต้องหาคำนิยามกันใหม่

การลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเพื่อระงับการเข้าสหรัฐของพลเมืองจาก 7 ชาติมุสลิมเป้าหมาย เป็นเวลา 90 วัน และห้ามผู้ลี้ภัยจากทุกประเทศเข้าสหรัฐ เป็นเวลา 120 วัน อ้างเพื่อปกป้องชาวอเมริกันจากการก่อการร้าย  คือจุดเริ่มต้นของคำถามว่า ทรัมป์และพวกกำลังไปไกลกว่าที่ทุกคนคาดคิด

กลุ่มทุนที่เคยเชื่อว่าทรัมป์กำลังจะกลับมารื้อฟื้นความเชื่อมั่นต่อการถือสินทรัพย์ในสหรัฐว่าปลอดภัยกว่าที่อื่นในโลก จำต้องกลับมาทบทวนว่า นโยบายกีดกันทางการค้าโดยเฉพาะกับจีนและเม็กซิโก  รวมทั้งนโยบายต่อต้านมุสลิม นโยบายบ่อนทำลายเอกภาพของยุโรป และนโยบายคบรัสเซียเพื่อลดทอนพลังจีน มีโอกาสทำให้ทรัพย์สินในสหรัฐ ไม่เป็นที่ปลอดภัยอีก

หนึ่งในคนที่คิดและตะโกนออกมาดังๆ คือ นายมาร์ก เฟเบอร์ นักวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุนพอร์ตโฟลิโอระดับโลก อันโด่งดังกับรายงาน The Gloom, Doom & Boom Report ซึ่งทรงอิทธิพลต่อผู้จัดการกองทุน ออกมาระบุว่า มาตรการของทรัมป์ จะทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐย่ำแย่ลง โดยปี 2017 อาจจะเป็นปีแห่งความผิดหวัง พร้อมแนะให้นักลงทุนขายดอลลาร์ และหุ้นสหรัฐ ขณะที่เข้าซื้อหุ้นในตลาดเกิดใหม่แทน

คำชี้แนะดังกล่าว สะท้อนว่า ปรากฏการณ์ “ความเคลิบเคลิ้มในทรัมป์” ของนักลงทุนที่พากันแสดงความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่า ทรัมป์และทีมงานจะมาสร้างความคึกคักให้กับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจสหรัฐโดยเฉพาะนโยบายการคลังทุ่มเงินสร้างสาธารณูปโภค เป็นห่วงโซ่เศรษฐกิจเต็มที่หลายทอด

แนวทางดังกล่าว เคยประสบความสำเร็จในยุคของประธานาธิบดี โรนัลด์เรแกนมาแล้ว ที่เรียกกันว่าเรแกนโนมิกส์ก่อนที่จะทิ้งปัญหาตามหลังให้แก้มากมายรวมทั้งสร้างความปั่นป่วนให้ชาวโลกจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งมีคนเปรียบเทียบว่าเสมือนนิทานเก่าแก่ของพวกยุโรปเรื่อง “ข้อตกลงกับปีศาจ

สิ่งที่ทรัมป์และพวกกระทำ อาจจะไม่ใช่การย้อนกลับมาของเรแกนโนมิกส์  เพราะเป้าหมาย การทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง การทำสงครามการค้ากับจีนและเม็กซิโก หรือการลดภาษีธุรกิจและคนรวย (แต่อ้างว่าลดให้คนชั้นกลางเป็นหลัก)อาจจะไม่มีอะไรคล้ายคลึงกับเรแกนโนมิกส์เลย

คนที่พยายามย้อนรำลึกว่า ในช่วงแรกของเรแกนโนมิกส์นั้นดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นภาวะกระทิงนานนับปีก่อนที่ดอลลาร์ซึ่งแข็งค่ารุนแรงเทียบกับเงินสกุลอื่นทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง นานถึง 5 ปี เข้าสู่สภาวะขั้นอันตราย อาจจะไม่เกิดขึ้นอีก เมื่อเจอเข้ากับมาตรการทางการเมืองระหว่างประเทศอันแสนจะสุ่มเสี่ยงของทรัมป์

วาระซ่อนเร้นของทรัมป์และพวกที่ถูกเก็บซ่อนเอาไว้มิดชิด ทำให้การคาดเดาถึงยุทธศาสตร์ระยะยาวของการเมืองระหว่างประเทศในยุคทรัมป์ทำได้ยุ่งยาก เพราะเต็มไปด้วยท่าทีที่สับสน อาจจะทำให้นักลงทุนหลงทางและตัดสินใจผิดพลาดได้โดยเฉพาะตัวแปรสำคัญคือ 

–          การแต่งตั้งหรือปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกลางจำนวนมากในช่วง 2 สัปดาห์แรกของทรัมป์ สะท้อนให้เห็นความสับสน และไร้ทิศทางของนโยบายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในประธานาธิบดีคนก่อนๆ หน้า ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน

–           นโยบายมหภาคที่ทรัมป์กล่าวในที่สาธารณะหรือผ่านสื่อออนไลน์ส่วนตัว มักจะมีความคุลมเครือ เปิดช่องให้คนใกล้ชิดของเขา ออกมาตีความให้รายละเอียด ซึ่งหลายครั้งมีข้อมูล หรือสาระที่ต่างออกจากที่ทรัมป์พูดมาก หรืออาจจะตรงกันข้ามด้วยซ้ำ

–          ถ้อยแถลงที่ “ยากจะคาดเดาความหมายที่แท้จริง” ทำให้ไม่มีใคร (รวมทั้งคนในพรรครีพับลิกันทั้งหลาย) รู้ว่าทรัมป์ต้องการนำสหรัฐไปสู่จุดใดแน่ เป็นอันตรายอย่างยิ่งของการครอบงำพื้นที่สาธารณะและบั่นทอนบรรยากาศการลงทุนอย่างรุนแรง

–          มุมมองที่อันตรายสุดคือ มุมมองเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศที่ทรัมป์และพวก แสดงให้เห็นตลอดมาว่า ประเทศในโลกนี้มีแค่ 3 ชาติหลักเท่านั้นที่เป็นแกนของอำนาจ คือ สหรัฐ รัสเซีย และจีน ในขณะที่ชาติอื่นๆ เป็นแค่เบี้ยบนกระดานเท่านั้น

มุมมองสุดท้ายที่คับแคบ เห็นได้ชัดว่า ทรัมป์และพวกได้หยิบเอานโยบายระหว่างประเทศของยุคริชาร์ด นิกสันมาใช้อย่างกลับหัวกลับเท้า จากเดิมที่สหรัฐเอาจีนมาลดทอนความสำคัญของสหภาพโซเวียตที่เป็นศัตรูหลัก มาเป็นการเอารัสเซียมาลดทอนอิทธิพลของจีนที่ปัจจุบันถือเป็นศัตรูหลัก

มุมมองดังกล่าวนอกจากคร่ำครึพ้นยุคไปแล้ว ยังมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า บทบาทและอิทธิพลของรัสเซียในโลกปัจจุบัน สูงมากกว่าโซเวียตในยุคสงครามเย็นมาก โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เช่นกันกับจีนที่เริ่มแผ่อิทธิลพเข้ามาในเอเชียแปซิฟิกอย่างช้าๆ แต่มั่นคง แต่ที่สำคัญผลประโยชน์ร่วมระหว่างจีนกับรัสเซียในปัจจุบันและอนาคตรอบด้าน มากกว่ายุคสงครามเย็นมาก ยากที่จะทำให้สหรัฐบรรลุยุทธศาสตร์ได้ง่ายๆ

สีสันของนโยบายและมาตรการของทรัมป์ที่แสดงออกมาอย่าง “ติดกระดุมเม็ดแรกผิด” ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของตลาดลงไปอย่างรุนแรง ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ที่ร่วงลงมาหลุด 20,000 จุดมีโอกาสเป็นไปได้ที่สามารถลบช่วงขาขึ้นแรงที่ผ่านมา 2 เดือนเศษได้ง่ายดาย ไม่พึงประมาท

 

Back to top button