ปกป้องสถาบัน ขรก.ทายท้าวิชามาร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาพูดคล้ายๆ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ว่าต้องแยกคนดีออกจากคนไม่ดี อย่าเหมารวมองค์กรเสียหาย ทั้งข้าราชการ ทั้งตำรวจ และทหารที่ถามว่ามีไว้ทำไม เห็นไหม น้ำท่วม ฝนแล้ง ใช้ทหารทั้งนั้น
ใบตองแห้ง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาพูดคล้ายๆ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ว่าต้องแยกคนดีออกจากคนไม่ดี อย่าเหมารวมองค์กรเสียหาย ทั้งข้าราชการ ทั้งตำรวจ และทหารที่ถามว่ามีไว้ทำไม เห็นไหม น้ำท่วม ฝนแล้ง ใช้ทหารทั้งนั้น
ชัดเจนว่าท่านกำลังปกป้องสถาบันข้าราชการ จากกรณีรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งก็ใช่ละ ข้าราชการมีทั้งดีและไม่ดี แต่นักการเมืองก็มีทั้งดีไม่ดี ทำไมไม่พูดบ้าง ที่ทุจริตคดโกง ก็นักการเมืองร่วมมือกับข้าราชการทั้งนั้น
เกือบ 3 ปีในยุค คสช. ได้ปลุกพลัง “รัฐราชการ” ขึ้นมีอำนาจปกครองบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น ซ้ำตามร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะยึดครองทั้งอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรถูกทำให้อ่อนแอ ไม่ต้องพูดถึงอำนาจกองทัพ ที่คงไม่มีใครแตะต้องได้ไปอีกนาน
“รัฐราชการเป็นใหญ่” จะมาแทนที่นักการเมือง ภายใต้ภาพลักษณ์ “ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน ต้องเป็นคนดีคนเก่ง” โดยมี ม.44 รับประกัน เพราะข้าราชการที่เป็นเสี้ยนหนามโดน ม.44 ไปหมดแล้ว
คำถามคือ ระบบราชการได้เอื้อให้คนดีมีคุณธรรมขึ้นสู่ตำแหน่งสูง จริงหรือ ระบบราชการได้สร้างคนเก่ง สร้างการทำงานที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่างบประมาณ จริงหรือ ระบบราชการได้หลุดพ้นจากระบบอุปถัมป์ วัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนาย หิ้วกระเป๋าเอาใจ จริงๆ หรือ
สถาบันอนาคตไทยศึกษา เคยเปรียบเทียบให้เห็นว่า ในรอบ 10 ปี จาก 2547-2557 กำลังคนภาครัฐเพิ่มจาก 1.5 เป็น 2.2 ล้านคน ข้าราชการซี 9 ขึ้นไปเพิ่ม 2 เท่า งบบุคลากรภาครัฐเพิ่ม 3 เท่า คิดเป็น 7% ของจีดีพี สูงอันดับต้นๆ ของเอเชีย เทียบกับสิงคโปร์แค่ 3% ขณะที่ประสิทธิภาพลดลง การทุจริตเพิ่มขึ้น
นั่นตัวเลขปี 58 ซึ่งเชื่อได้ว่างบบุคลากรไม่ลดลง มีแต่เพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานใต้รัฐบาลทหาร ดูเหมือนสั่งงานเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ได้ผลจริงหรือ การทุจริต แน่ละ คตร.สตง.ปปช.เข้มงวดไล่จับ แต่ก็ทำให้ข้าราชการไม่กล้าตัดสินใจ จนต้องใช้ ม.44 ยุบ คตร.
ไม่ปฏิเสธเลยนะครับ ระบบราชการในอดีต มักได้คนดีคนเก่ง แต่ตั้งแต่กลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา เมื่อภาคธุรกิจเติบโต ให้ค่าตอบแทนสูงกว่าเยอะ คนดีคนเก่งที่รักอิสระ ไม่อยากเข้าระบบล้าหลัง ก็ทิ้งระบบราชการเกือบหมด จนหลังวิกฤติ 2540 ที่ภาคเอกชนเจ๊งระนาว แต่ข้าราชการมั่นคง ไม่ต้องดิ้นรนก็ขึ้นเงินเดือน จึงดึงคนแห่กลับสู่ระบบ ซึ่งกว่าจะพ้นยุครัดเข็มขัดรับคนใหม่ก็ราวๆ 2544-45
หลังจากนั้นก็เป็นยุคทองของข้าราชการ มีการปฏิรูประบบราชการเพิ่มกระทรวงเพิ่มกรม เพิ่มตำแหน่ง รวมทั้งเพิ่มองค์กรอิสระ องค์การมหาชน ซี 9 หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดเดินชนกันขวักไขว่ ซี 10 เมื่อก่อนแต่ละกรมมีอธิบดีคนเดียว เดี๋ยวนี้เพิ่มเก้าอี้จุใจ ไม่นับกองทัพซึ่งมีนายพลเทียบเท่าซี 10 ขึ้นไปถึง 1,600 นาย นายพลตำรวจอีกหลายร้อย
ทุกวันนี้ ข้าราชการที่มีเงินเดือนรวมเงินประจำตำแหน่งเกินแสนขึ้นไป ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ผู้พิพากษา อัยการ องค์กรอิสระ น่าจะมีหลายพันคน ยังไม่นับพวกที่เป็น สนช.สปท. หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจยุครัฐประหารแทนนักการเมือง
30-40 ปีที่ผ่านมา ระบบราชการอาจใส่ใจบริการดีขึ้น ไม่เป็นเจ้านายประชาชนเหมือนอดีต แต่นั่นก็เพราะเราเป็นประชาธิปไตยมานาน มีอำนาจเลือกตั้งมาคาน มีการตรวจสอบทางสังคม
แต่ถ้ากลับสู่ยุคราชการเป็นใหญ่ นอกจากปัญหาความใส่ใจ ก็ยังต้องถามถึงประสิทธิภาพ ความสามารถ ว่าภายใต้ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ระบบราชการยังเก่งและดี จนอยู่เหนือประชาชนได้จริงหรือ