พาราสาวะถี อรชุน
เป็นเรื่องที่คนในรัฐบาลต้องรีบชี้แจงตอบโต้ ต่อรายงานบทวิเคราะห์เรื่อง “ประเทศใดที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2560?” ของเว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ ซึ่งเขียนโดยไมเคิล ดี.วอร์ด และแอนเดรส บีเกอร์ โดยปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 จากการจัดอันดับประเทศทั่วโลก 161 ประเทศ เป็นรองแค่บุรุนดีเท่านั้น
เป็นเรื่องที่คนในรัฐบาลต้องรีบชี้แจงตอบโต้ ต่อรายงานบทวิเคราะห์เรื่อง “ประเทศใดที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2560?” ของเว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ ซึ่งเขียนโดยไมเคิล ดี.วอร์ด และแอนเดรส บีเกอร์ โดยปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 จากการจัดอันดับประเทศทั่วโลก 161 ประเทศ เป็นรองแค่บุรุนดีเท่านั้น
ส่วนเหตุและปัจจัยที่ทำให้บทวิเคราะห์นี้ยกให้ไทยอยู่ในอันดับ 2 ของความเสี่ยงที่จะเกิดการรัฐประหารมากที่สุดก็คือ ปัจจุบันยังคงมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเรือนนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยมีการผ่านร่างรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อปี 2559 และคาดว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปีนี้ แต่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า การเลือกตั้งมักจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นที่จะทำให้เกิดความพยายามในการก่อรัฐประหาร
รูปแบบของการคาดการณ์ว่าจะเกิดความพยายามก่อรัฐประหารนั้น ในบทวิเคราะห์ระบุว่า ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ต้นเหตุของการก่อรัฐประหารที่แท้จริงคืออะไร แต่ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงส่วนใหญ่เกิดจากความไม่มีเสถียรภาพ โดยบทสรุปของบทวิเคราะห์ชี้ว่า สำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงลำดับต้นๆ ของปีนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด
แน่นอนว่า คงไม่มีใครอยากจะให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนั้น ขณะที่ผู้มีอำนาจโดยกระบอกเสียงก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเหลวไหล ยิ่งไปกว่านั้นหากมองไปยังร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกค่อนขอดว่าได้ทำการรัฐประหารด้วยกฎหมายสูงสุดของประเทศไปแล้ว จึงไม่มีโอกาสที่ประเทศไทยจะเกิดการรัฐประหารโดยใช้กำลังอีก ก็เป็นสิ่งที่น่าจะทำให้ฝ่ายกุมอำนาจกล้าที่จะบอกกล่าวกับประชาชนว่า เรื่องเหล่านี้ไร้สาระ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าประเทศไทยจะปราศจากการรัฐประหารคงขึ้นอยู่กับ 2 กรณีที่สำคัญคือ มีการจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปที่ได้ประกาศไว้หรือไม่ และกระบวนการสร้างความปรองดองภายใต้การขับเคลื่อนของป.ย.ป. ด้วยเหตุและปัจจัยหลายอย่างตามที่เคยได้บอกไว้ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โอกาสของความสำเร็จนั้น ไม่มีใครตอบได้ มิหนำซ้ำ ยังมองไปในทิศทางที่เป็นลบเสียด้วยซ้ำ
น่าสนใจ คงเป็นบทสัมภาษณ์ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองกระบวนการสร้างความปรองดองในครั้งนี้ว่า การปรองดองของไทยมันดูไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จ หรือเกิดมรรคผล เพราะถ้าเราดูประเทศอื่นๆ การปรองดองมันเกิดขึ้นเมื่อสังคมพร้อมจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย คือประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขขั้นพื้นฐาน เวลาเราพูดถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เราหมายถึง การเปลี่ยนผ่านที่เปลี่ยนจากสังคมเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย
ถ้าเป็นบริบทที่อยู่ภายใต้เผด็จการโดยที่ยังไม่มีการปรับตัว หรือมีแนวโน้มที่จะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง มันจะปรองดองกันได้อย่างไร ในเมื่ออีกฝ่ายยังไม่มีสิทธิอะไรทั้งสิ้น กระทั่งสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น ขอให้เข้าใจว่ามันเป็นการปรองดองแบบไทยๆ หรือเป็นเพียงพิธีกรรมที่ไม่มีความหมาย เพราะว่าการปรองดองที่มีความหมายมันต้องผูกกับสองสิ่งคือ ความจริงกับความยุติธรรม
คำถามสำคัญของสังคมไทยอีกประการคือ ใครคือคนกลางในกระบวนการปรองดอง หรือกระบวนการจัดการความขัดแย้ง ในแต่ละประเทศ ส่วนใหญ่จะมีกรรมการอิสระขึ้นมา มีกรรมชุดหนึ่ง แล้วนำโดยคนที่เป็นที่ยอมรับจากทั้งสองฝ่าย บางประเทศในละตินอเมริกาจะนำโดยคนที่ได้รับการยอมรับจากสังคม และไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงมากนัก ซึ่งในสังคมเหล่านั้นพอจะมีกวี นักเขียน นักวิชาการอาวุโส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้นๆ
แต่ในประเทศไทย ถามว่าเรามีคนประเภทนี้หลงเหลืออยู่หรือไม่ คนที่เสนอชื่อออกมาแล้วคนทุกฝ่ายในสังคมจะยอมรับว่าอย่างน้อยเขาไม่ได้เลือกข้างอย่างสุดโต่ง หรือเห็นว่าจะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างซื่อสัตย์จริงใจ เป็นคำถามที่โยนทิ้งเอาไว้ แต่แน่นอนที่สุดทหารไม่ใช่คนที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะมาทำเอง ผู้ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะเข้ามาทำเองไม่ได้
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ทหารไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะเป็นคนกลางได้ เพราะทหารเองก็อยู่ในความขัดแย้ง และถ้าเราดูจากบทเรียนของต่างประเทศทหารจะมาทำหน้าที่เป็นคนกลางตรงนี้ไม่ได้ แต่เมื่อบริบทของการสร้างความปรองดองมันสวนทางกับสิ่งที่ประจักษ์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ ย่อมตามมาด้วยปุจฉามากมาย
สิ่งที่เราเห็นอยู่มันเลยทำให้อดคิดไม่ได้ว่า การปรองดองครั้งนี้ มันคือการจัดระเบียบทางการเมืองใหม่แค่นั้นเอง และเป็นการทำให้ชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ และภาคประชาชนไม่ว่ากลุ่มใดก็ตามต้องยอมศิโรราบ และเงียบเสียง ความหมายมันอาจจะมีแค่นี้ เพราะจริงๆ แล้วเขาก็อาจจะยังกลัวว่าระเบียบทางการเมืองใหม่ที่เขาจัดไว้ เมื่อถึงเวลาหนึ่งมันอาจจะมีคนลุกขึ้นมาต่อต้าน คัดค้านอีก
การปรองดองของเขาก็เป็นการกำราบล่วงหน้า ว่าต่อไปนี้อย่าก่อปัญหาอีก และให้ทุกคนมาอยู่ภายใต้กติกาที่ข้าพเจ้ากำหนด เล่นไปตามบทที่ข้าพเจ้าวางไว้ให้ ถ้าเรามองว่านี่คือการปรองดอง ซึ่งเป็นการปรองดองที่ไม่รวมประชาชนเข้าไปอยู่ในกระบวนการใดๆ ทั้งสิ้น มันก็เป็นได้เพียงแค่การหลอกตัวเองชั่วคราวเท่านั้นเอง
สอดคล้องต้องกันกับความเห็นประจักษ์คือ บทความของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่ระบุว่า สังคมไทย เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง แทนที่จะแก้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยหรือระบบรัฐสภา ชนชั้นนำไทยก็ผลักดันให้กองทัพทำรัฐประหาร ล้มกระบวนการทั้งหมด ใช้อำนาจกวาดล้างจับกุมประชาชนที่มีความคิดต่าง แล้วกลับจะมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปรองดองและยอมรับกระบวนการที่ฝ่ายทหารกำหนด
มีการเรียกร้องให้นักการเมืองรักกัน สามัคคีกัน ให้ประชาชนหลายฝ่ายไม่ขัดแย้งกัน ปรองดองกัน กระบวนเหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องตลก และไม่อาจเป็นจริงไปได้เลย กระบวนการปรองดองที่ดีที่สุดที่สรุปบทเรียนมาแล้วทั่วโลกก็คือ การฟื้นคืนประชาธิปไตย คืนอำนาจให้ประชาชนในการตัดสินอนาคตของตัวเอง กองทัพกลับกรมกองไปทำหน้าที่ป้องกันประเทศ และเลิกแทรกแซงทางการเมือง จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการปรองดองที่ดีที่สุด และยังเป็นการใช้วิธีการอันเป็นอารยะ โน้มไปทางสันติวิธีที่สุด
การฟื้นฟูประชาธิปไตยจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการปฏิรูปทางการเมืองที่แท้จริง ไม่ใช่การปฏิรูปแบบลวงที่ปราศจากความหมาย และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สังคมไทยแก้ปัญหาของตนเองตามระบบ ไม่ต้องใช้อำนาจนอกระบบกันต่อไปอีก นี่คือกระบวนการปรองดองที่เป็นจริง แต่ดูเหมือนว่าคำตอบของท่านผู้นำจะสวนทางกันโดยสิ้นเชิง ถึงขั้นบอกว่าอย่าพูดแค่เลือกตั้ง ประชาธิปไตย ปรองดองและสิทธิ เสรีภาพ แค่นี้ก็ชี้ให้เห็นแนวคิดแล้วว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่