สถานการณ์ตั๋วบี/อีลูบคมตลาดทุน

จะว่าไปแล้ว ขณะนี้การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี ถือว่าไม่ได้มากนัก


ธนะชัย ณ นคร

 

จะว่าไปแล้ว ขณะนี้การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี ถือว่าไม่ได้มากนัก

มีการเปรียบเทียบว่า การ Default หรือผิดนัดของตั๋วบี/อี ที่เกิดขึ้น เมื่อเทียบกับมูลค่าของตั๋วบี/อี ที่ออกสู่ตลาด

จัดเป็นเปอร์เซ็นต์น้อยมาก

และเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจมีการผิดนัดที่อาจเกิดขึ้นได้บ้าง

เพียงแต่ประเด็นอยู่ที่ “ความมั่นใจ” ของนักลงทุน ที่จะต้องไม่ให้อยู่ในภาวะถดถอย

เพราะนั่นจะยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งดูแย่ลง

วานนี้ สมาคมตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA มีการเปิดเผยเกี่ยวกับตัวเลขของตั๋วบี/อี ทั้งระบบ

และยังบอกด้วยว่า มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แห่งไหนบ้างที่ผิดนัด และจ่ายแล้ว รวมถึงยังคงค้างจ่าย

ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธ.ค.59 มูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ภาคเอกชน อยู่ที่ 3,083,486 ล้านบาทครับ

ในจำนวนนี้เขาแบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 411,869 ล้านบาท คิดเป็น 13.4% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชน

และตราสารหนี้ระยะยาว 2,671,617 ล้านบาท คิดเป็น 86.6% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชน

มาถึงตราสารหนี้ระยะสั้น (บี/อี) กันบ้าง

บี/อี ที่ว่านี้ แบ่งออกเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีเรตติ้ง 98,631 ล้านบาท

มีเรตติ้ง 313,238 ล้านบาท

ออกโดยสถาบันการเงิน 149,870 ล้านบาท และกลุ่มอื่นๆ 261,999 ล้านบาท

ตราสารหนี้เหล่านี้ ออกโดยบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 237,644 ล้านบาท หรือ 154 บริษัท

และบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 174,225 ล้านบาท หรือ 309 บริษัท

ขณะเดียวกันมีตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตราสารหนี้ 326,524 ล้านบาท และไม่ได้ขึ้นทะเบียน 85,345 ล้านบาท

ส่วนบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว บี/อี ในช่วงที่ผ่านมา คือ 1.บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ถูก Default  จำนวน 1 รุ่น จำนวน 50 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.59 ซึ่งชำระครบแล้วเมื่อ 22 ธ.ค.59

  1. บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ถูก Default 1 รุ่น จำนวน 200 ล้านบาท เมื่อ 12 ม.ค.60 และชำระครบแล้วเมื่อ 13 ม.ค.60
  2. บริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC ถูก Default 3 รุ่น รวม 210 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.59 จำนวน 210 ล้านบาท 5 ม.ค.60 จำนวน 40 ล้านบาท และ 19 ม.ค.60 จำนวน 40 ล้านบาท

ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้รายเดียวกันทั้งหมด

และมีการนำทรัพย์สินมูลค่ากว่า 360 ล้านบาท มาค้ำประกัน

  1. บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ RICH ผิดชำระหนี้ธนาคารประมาณ 800 ล้านบาท เป็นสาเหตุให้ Cross default ตราสารหนี้ระยะยาว 3 รุ่น รวม 1,230 ล้านบาท

กรณีนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นตัวแทนเจรจากับผู้ออกตราสารหนี้

ขณะเดียวกันทางริช เอเชียฯ ได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นในวันนี้ (7 ก.พ.)

กรณี RICH มีตั๋วบี/อี ที่ไม่ขึ้นทะเบียนรวม 145 ล้านบาท

แต่บริษัทมีสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง มากกว่าหนี้สิน กว่า 1,000 ล้านบาท

และ 5.บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ถูก Default 1 รุ่น จำนวน 400 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.59

เฉพาะบี/อี รุ่นนี้ชำระครบแล้วเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.59 แต่ถูก Default อีก 3 รุ่น รวม 500 ล้านบาท

IFEC ยังมียอดตั๋วบี/อี ที่จะครบกำหนด 2,576 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว 3,000 ล้านบาท ในปี 60

แต่บริษัทมีสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง มากกว่าหนี้สินกว่า 1,000 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่ากรณีของ NMG และ EFORL เป็นปัญหาทางเทคนิคเล็กน้อย

ส่วนกรณีของ IFEC ก็อย่างที่รับทราบกันไปแล้วว่ามาจากปัญหาภายใน จนลามไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย

มีเพียงของ  RICH และ KC เท่านั้น ที่มาจากปัญหาด้านการเงินของบริษัท

และหากดูมูลค่าของทั้ง RICH และ KC ที่มีการผิดนัดตั๋วบี/อี รวมกันกว่า 645 ล้านบาท

ก็ถือว่าน้อยมากครับ

เมื่อเทียบกับบี/อี ทั้งระบบกว่า 4.1 แสนล้านบาท

 

 

 

 

                

Back to top button