พาราสาวะถี อรชุน

ไม่รู้เป็นอะไร ทำไมถึงหงุดหงิดทุกเรื่องที่ถูกถาม อาการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเดิมวันทำงานของสัปดาห์นี้ด้วยความโมโหโกรธา ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องขี้ปะติ๋วไปจนถึงประเด็นสำคัญ เริ่มจากคำถามหมอดูทักว่าดวงกำลังตก คำตอบที่ได้คือ ตกก็ตก แล้วจะให้ทำอย่างไร ก่อนจะตามมาด้วย ปัดโธ่!ถามคำถามงี่เง่าอย่างนี้อย่ามาถามผม ไปถามหมอดูเอาเอง


ไม่รู้เป็นอะไร ทำไมถึงหงุดหงิดทุกเรื่องที่ถูกถาม อาการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเดิมวันทำงานของสัปดาห์นี้ด้วยความโมโหโกรธา ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องขี้ปะติ๋วไปจนถึงประเด็นสำคัญ เริ่มจากคำถามหมอดูทักว่าดวงกำลังตก คำตอบที่ได้คือ ตกก็ตก แล้วจะให้ทำอย่างไร ก่อนจะตามมาด้วย ปัดโธ่!ถามคำถามงี่เง่าอย่างนี้อย่ามาถามผม ไปถามหมอดูเอาเอง

ยิ่งพอมาถึงเรื่องรัฐบาลถังแตก เหมือนเป็นการจุดระเบิดในตัวท่านผู้นำ ฟังคำอธิบายเรื่องความจำเป็นในการใช้เงิน เปรียบเทียบกับการใช้เงินของรัฐบาลก่อนหน้า และปัญหาเร่งด่วนที่จำเป็นจะต้องใช้เงิน ทำให้เห็นวิสัยทัศน์ได้อย่างชัดเจน วิสัยทัศน์ที่ว่า ใช้เงินมือเติบอย่างเดียว แต่การจะหามาเติม นอกจากรีดภาษีแล้ว ไม่รู้จะทำยังไง

คงไม่มีใครตำหนิรัฐบาลหากใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน กรณีเงินคงคลังมันมีขึ้นมีลงเป็นเรื่องปกติธรรมดาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการขึ้นลงนั้นมันเป็นไปโดยสมเหตุสมผลหรือไม่ นั่นก็อีกเรื่อง ส่วนที่ สรรเสริญ แก้วกำเนิด กระบอกเสียงรัฐบาลและนั่งรักษาการอธิบดีกรมกร๊วกมาอธิบายเรื่องรัฐบาลไม่ถังแตกนั้น ก็มีคนนำตัวเลขมาแย้งเพื่อรอการอธิบายจากกระทรวงการคลัง

นั่นก็คือ เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คว่า ขออนุญาตช่วยท่านโฆษกชี้แจงเพิ่มเติม ตอนเดือนกันยายน 2557 หลังจากรัฐบาลคสช. เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ตอนนั้นรัฐบาลมีเงินคงคลัง 495,747 ล้านบาทหรือเกือบห้าแสนล้านบาท ผ่านไป 2 ปีกว่า เงินคงคลังของรัฐบาลเหลืออยู่ 74,907 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

เพราะฉะนั้นรัฐบาลยังไม่ถังแตก แค่มีเงินคงคลังลดลงไป 420,840 ล้านบาทเท่านั้นเอง ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมว่า ในระหว่างเดือนกันยายน 2557 จนถึงธันวาคม 2559 รัฐบาลคสช.ได้กู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 744,187 ล้านบาท นึกไม่ออกเลยจริงๆ ว่า ถ้าได้รับโอกาสบริหารประเทศไปอีก 15 ปี ฐานะการคลังของประเทศจะเป็นอย่างไร

เห็นอาการของบิ๊กตู่พร้อมคำอธิบายเที่ยวนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปถึงการโวยวายเรื่องภาวะการลงทุนของประเทศที่เจ้าตัวแสดงความไม่พอใจหาว่าสื่อบิดเบือน ไปเชื่อแต่ฝ่ายการเมืองที่เอาแต่ตั้งป้อมโจมตี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เพิ่งบ่นน้อยใจออกมาดังๆ เรื่องมาตรการกระตุ้นการลงทุนแต่ปรากฏว่านักธุรกิจกลับเมิน

หากจำกันได้เสียงของปลัดคลังระบุว่ากระทรวงการคลังน้อยใจมาก ที่เอกชนไม่ลงทุนเมื่อปีที่แล้ว ให้มาตรการภาษีแบบไม่เคยให้มาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย อ้อนวอน ประชาสัมพันธ์ก็แล้ว แต่เอกชนบอกว่าเราอ่อนประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เราเป็นแพะ เราก็ยอม เราไม่เข้าใจว่าทำไมเอกชนไม่ลงทุน แต่เราพอใจว่ามันเป็นอุปสงค์ อุปทาน ถ้าไม่มีความมั่นใจก็จะไม่ลงทุน

ยอมรับกันเห็นๆ แต่ไม่รู้ว่าบิ๊กตู่ใช้ชุดข้อมูลแบบไหนจึงแถลงแสดงความหงุดหงิดพร้อมพยายามอธิบายไปอีกทาง นี่ต่างหากที่เป็นความหวังดีของสื่อซึ่งเตือนท่านผู้นำว่าให้ใจเย็นๆ นั่นคงเพราะเป็นห่วงต่อไปว่า อาการเช่นนี้มันจะส่งผลกระทบไปต่อภาพของการสร้างความปรองดองที่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่ เมื่อผู้นำไม่นิ่งมันย่อมทำให้เกิดแรงกระเพื่อมตามมา

จะว่าไปแล้วภาวะความกดดันของท่านผู้นำในพ.ศ.นี้ น่าจะน้อยกว่า พลเอกสนธิ บุญยรัตนกลิน หัวหน้าคมช. ที่วันก่อนไปยอมรับกับนักข่าวก่อนให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมาธิการวิเคราะห์ สังเคราะห์ นำไปสู่การปรองดองของสปท.ว่า ในห้วงเวลาที่ทำงานเรื่องการปรองดอง ที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเป็นช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองยังสูงอยู่

ไม่เพียงเท่านั้น ในเวลานั้น ผลสำรวจยังพบว่าสังคมกว่า 30 เปอร์เซ็นต์รับได้กับการโกงและปัญหาคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงทำให้บิ๊กบังทำงานโดยแบกรับความอึดอัดเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงได้เสนอแนวทางสำหรับผู้ที่ทำงานด้านความปรองดองในปัจจุบันว่า ต้องมีความรู้จริง ตั้งใจสูงและเป็นกลาง ความปรองดองต้องอาศัยความเป็นกลางของคนเป็นสำคัญ

ไม่รู้ว่าต้องการสื่อสารไปถึงใครหรือเปล่าในเรื่องของความเป็นกลาง ไม่เพียงเท่านั้นคำถามของ จาตุรนต์ ฉายแสง ล่าสุดก็ชวนให้คิดต่อไม่น้อย ป.ย.ป.มีไว้ทำไม หลายสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 1–2 สัปดาห์มานี้ แสดงให้เห็นว่าทั้งการปฏิรูป การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปรองดอง ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมาไปไม่ถึงไหนและยังส่อเค้าว่าจะล้มเหลว ทั้งเรื่องอันดับโปร่งใสตกต่ำ

แสดงให้เห็นว่า ที่คสช.อวดอ้างจะเข้ามาปราบการคอร์รัปชั่นนั้น เอาเข้าจริงไม่ได้สร้างระบบการต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพขึ้นได้ ซ้ำร้ายยังแย่ลงเสียด้วย รวมถึงเรื่องสินบนและการบินไทย การปฏิรูปสื่อสุดท้ายกลายเป็นการวางแผนควบคุมสื่อเสียมากกว่า การปรองดองเป็นเพียงข้ออ้างที่ไม่เคยพยายามทำให้เกิดขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนั้น ทั้ง ป.ปฏิรูป ย.ยุทธศาสตร์ชาติ และ ป.ปรองดอง ไม่มีวี่แววว่าจะเกิดมรรคเกิดผลอะไร ถ้าอยากให้เกิดผลอะไรบ้างมีทางเดียวคือ ผู้มีอำนาจต้องรับฟังความเห็นฝ่ายต่างๆ ให้มากขึ้น ถ้ายังทำกันอยู่แบบไม่ฟังใครเช่นนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะมีป.ย.ป.ไปเพื่ออะไร หัวใจสำคัญคือ ความเป็นกลาง ยังเป็นเครื่องหมายที่อธิบายภาพไม่ได้สำหรับผู้มีอำนาจ

ย้อนกลับไปเรื่องหมอดูทักว่าดวงตก ถ้าท่านผู้นำจะบอกว่าไม่เชื่อก็คงจะเป็นประเด็นย้อนแย้งไปอีก เพราะเพิ่งเคยบอกว่าเปิดตำราโหราศาสตร์มาอธิบายกับนักข่าวเป็นคุ้งเป็นแควไปเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่หากจะไม่เชื่อเรื่องดวง ถ้าเช่นนั้นก็คงเป็นเรื่องของคะแนนนิยมตกมากกว่า โดยมองอย่างเป็นเหตุเป็นผลก็คือ เนื้องานของรัฐบาลไม่เป็นที่ปรากฏให้ประชาชนประทับใจ

ส่วนประเด็นการขู่ฆ่าบิ๊กตู่กับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หากถือเป็นเรื่องจริงจังต้องบอกว่าประเทศนี้อยู่ยากแล้ว เพราะคนหนึ่งถืออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับอีกคนหนึ่งดูแลงานด้านความมั่นคง ถ้าสองคนนี้ไม่ปลอดภัย ไม่สามารถจะการันตีเรื่องความเชื่อมั่นต่อประชาชนได้ แล้วบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร ส่วนพวกมือบอนที่โพนทะนาผ่านโซเชียลมีเดีย หน่วยงานด้านความมั่นคงก็นำข้อมูลมาเปิดเผยให้ชัดๆ ว่ามันเป็นใคร อยู่ที่ไหน หากทำไม่ได้ก็จะเกิดปุจฉาว่าแล้วที่เล่นงานพวกต่อต้านรัฐบาลอยู่นั้น ใช้วิธีอะไรดำเนินการ

Back to top button