หุ้นพลังงานลมลูบคมตลาดทุน
ส่วนตัวนั้นไม่ค่อยจะเชื่อว่ามีเหตุทุจริตในการตั้งโรงผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลม
ธนะชัย ณ นคร
ส่วนตัวนั้นไม่ค่อยจะเชื่อว่ามีเหตุทุจริตในการตั้งโรงผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลม
หรือแม้แต่โซลาร์ฟาร์ม
เพราะการสร้างโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือกทั้ง 2 ประเภท ไม่ใช่ว่า นึกอยากจะไปสร้างบนพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ก็จะเข้าไปสร้างได้ทันที
ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลม ก่อนที่จะลงทุนและก่อสร้างนั้น
ผู้ประกอบการจะต้องมีการสำรวจแหล่งลม ทิศทางการพัด และลมที่พัดมีค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปีเป็นอย่างไร
คือ จะมีการศึกษากันมาหลายปี
หรือ ในส่วนของโซลาร์ฟาร์มก็เช่นกัน
ก็ต้องเลือกแหล่ง เลือกพื้นที่ที่มีแดดที่ดีครับ
ไม่ใช่ ฝนแปด แดดสี่ ที่เป็นสโลแกนของบางจังหวัด หรือบางพื้นของประเทศไทย
เขาก็จะมีทีมสำรวจของเขา
ส่วนปัญหาของ “เทพสถิต วินด์ฟาร์ม” ที่เพิ่งถูกศาลปกครองเพิกถอนการอนุญาต
ในพื้นที่ตรงนี้ ก็พบว่าเป็นแหล่งที่มีลมพัดที่ดีสุดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
ขณะเดียวกัน เรื่องของพลังงานทางเลือก ก็เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแหล่งพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กลุ่มองค์กรเอ็นจีโอก็ต้องการเช่นนั้น
ที่เทพสถิต วินด์ฟาร์ม นั้น ทาง ส.ป.ก. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐก็เป็นฝ่ายอนุญาตให้เข้าไปสร้าง ซึ่งเอกชน ก็ดำเนินการถูกต้องตามคำแนะนำของรัฐทุกอย่าง
คำถาม คือ การที่ศาลปกครองเพิกถอนการอนุญาต และความเสียหายตกอยู่กับเอกชน
กรณีเช่นนี้ ทางฝ่ายรัฐจะต้องเข้าไปช่วยรับผิดชอบอย่างไร
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่องโดยสุจริตของ ส.ป.ก.หรือไม่ เพราะศาลฯ เอง ท่านมองว่า เกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์
นี่ยังดีว่า มีการตีความออกมาว่า กรณีคำสั่งศาลนี้ใช้เฉพาะที่ เทพสถิต วินด์ฟาร์ม เท่านั้น ไม่รวมในฟื้นที่ ส.ป.ก.อื่นๆ ที่มีการอนุญาตให้เอกชนเข้าไปตั้งโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือกได้
ล่าสุดเอง ทาง ส.ป.ก.ก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีก 18 บริษัท ที่มีโรงผลิตไฟฟ้าฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ ส.ป.ก. โดยอยู่ในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ นครราชสีมา 7 บริษัท เนื้อที่ประมาณ 280 ไร่
และจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 11 บริษัท เนื้อที่ประมาณ 341 ไร่
ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวต่างมีพลังงานลมที่ดีในการผลิตไฟฟ้า
โดย 18 บริษัทที่ว่านี้ ก็จะมีการตรวจสอบเอกสารสัญญาทั้งหมด ว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไร
และการพิจารณา ก็จะดูถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนร่วมด้วย เช่น บริษัทใดที่ผลิตให้การไฟฟ้าฯ และจ่ายไฟให้ประชาชนได้ใช้แล้ว หากหยุดกิจการ จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
จะเห็นว่า ทาง ส.ป.ก.เองก็ไม่ได้ตื่นตูมมากนัก
หรือถึงกับต้องล้มโต๊ะ และทำให้ผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง
ในด้านของหุ้นพลังงานลมเอง เช่น EA หรือ พลังงานบริสุทธิ์
ราคาหุ้นก็ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น หลังนักลงทุนได้รับข้อมูลทั้งจากภาครัฐ และของ EA เอง
ต่างจากในช่วงแรกๆ ที่ตื่นตกใจ ก็ต้องขายทิ้งกันไปก่อน
ราคาหุ้น EA เมื่อวันจันทร์ลงไปปิดค่อนข้างลึกที่ 23.20 บาท หรือลงกว่า 3.30 บาท
ก่อนจะค่อยๆ ดีดตัวขึ้นในวันถัดมาและปิดตลาดที่ 24.10 บาท
ส่วนวานนี้ ก็ดีดขึ้นมาอีกนิดหน่อย ปิดที่ 24.50 บาท
มีเพียงหุ้น DEMCO ที่ยังไม่ฟื้น โดยในช่วง 10 วันทำการที่ผ่านมา ราคาหุ้นลงไป 9 วัน และบวก เพียงวันเดียว
วานนี้ราคาปิด 6.40 บาท ส่วนก่อนหน้าที่จะเกิดข่าวกับเทพสถิต วินด์ฟาร์ม ราคาหุ้นเคยอยู่ที่ 8.55 บาท หรือปรับลงไปกว่า 25% แล้ว
แต่ยังไงก็เชื่อว่า ในส่วนของหุ้นพลังทางเลือกต่างจะมีทางออกของตนเองที่ดี
และรัฐเองก็ต้องเข้าไปช่วยให้เต็มที่
ก่อนหน้านี้ หุ้นที่ใช้พลังงานฟอสซิล ก็ถูกต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ที่มีกลุ่มเอ็นจีโอไปหนุนหลัง
นี่หากพลังงานทางเลือกมามีปัญหาแบบนี้อีก
คงได้จุดตะเกียงอยู่กันแน่ๆ