กังหันลมบนที่ส.ป.ก.ขี่พายุ ทะลุฟ้า
สังคมไทยป่วยหรือเปล่า มักจะมีอะไรย้อนแย้งเกิดขึ้นเสมอ สื่อสารมวลชนในบ้านเมืองก็เอาแต่เฮละโลตามกระแส พึ่งไม่ได้ทางสติปัญญาสักเท่าไหร่
ชาญชัย สงวนวงศ์
สังคมไทยป่วยหรือเปล่า มักจะมีอะไรย้อนแย้งเกิดขึ้นเสมอ สื่อสารมวลชนในบ้านเมืองก็เอาแต่เฮละโลตามกระแส พึ่งไม่ได้ทางสติปัญญาสักเท่าไหร่
เป็นสังคมที่ชอบรุมประณามสาปแช่งคนโกงทุจริต โดยเฉพาะในยุคเว้นวรรคประชาธิปไตยกว่า 2 ปีมานี้ มีทั้งหน่วยงานปราบโกงของรัฐยุ่บยั่บทั้งป.ป.ช. สตง. ปปง. และหน่วยงานปราบโกงภาคเอกชน
แต่ดัชนีชี้วัดการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ประชาคมโลกมองเข้ามา กลับเลวลงๆ ทุกที ไม่สมกับกระแสต้านโกงอันดังกระหึ่มไปทั่วประเทศเลย
มีแต่ความตื่นตัวต้านโกง แต่ขาดการมองปัญหาเชิงลึก เอาแต่ยึดมั่นในระบบ “บุคลาธิษฐาน” คือหวังพึ่งคนดีมาปราบโกงมากเกินไป
ไม่สนใจการจัดวางระบบปราบโกงอันเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและมีความยั่งยืนมากกว่า
ประการสำคัญที่สุดก็คือ เอาแต่ว่าร้ายคนอื่นที่ไม่ใช่พวก แต่ผ่อนปรนให้กับพวกและวงศาคณาญาติตนเองพฤติกรรม “โจรร้องจับโจร” ก็มีให้เห็นอยู่ดาษดื่น
มันลักลั่น ลูบหน้าปะจมูก และตลบแตลงที่แสร้งเป็นคนดีร้องจับโจรเช่นนี้นี่เล่า งานปราบปรามการคดโกงทุจริตในประเทศไทย ถึงไม่มีทางก้าวหน้าไปถึงไหน
มีแต่เลวลงๆ ไปทุกเมื่อเชื่อวัน
ส่วนเรื่องที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจ.ชัยภูมิที่ให้บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม เช่าใช้พื้นที่ส.ป.ก.เพื่อดำเนินกิจการกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าในอ.เทพสถิต เนื่องจากเป็นการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์หลักของการปฏิรูปที่ดินนั้น
ถ้ามองแต่ผิวเผินหรือใช้จินตนาการแบบเดียวกับรุกที่ส.ป.ก.ทำรีสอร์ต ก็อาจจะมองประเด็นไขว้เขวไปว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือเอกชนผลิตไฟฟ้าเข้าไปรุกที่ดินส.ป.ก.ได้
ซึ่งความจริงเรื่องนี้ก็มีระเบียบกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติได้ และก็ไม่มีเรื่องของนายทุนบุกรุกที่ดินส.ป.ก.โดยเด็ดขาด
พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังเปิดช่องให้เอาที่ดินส.ป.ก.ไปใช้ใน “กิจการอื่น” ที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคมได้
ครับ กังหันลมเพื่อการผลิตไฟฟ้ามันก็ใช้พื้นที่เพื่อการตั้งเสาไม่เกิน 1 ตารางเมตรนั่นแหละ และแต่ละเสาก็มีระยะห่างกันพอสมควร ฉะนั้น จึงยังมีพื้นที่เหลือเฟือสำหรับการเพาะปลูกหรือการปศุสัตว์ได้
หาใช่ตั้งเสากังหันแบบเต็มพื้นที่จนไม่สามารถจะใช้พื้นที่ทำการเกษตรได้เสียเมื่อไหร่
เกษตรกรสามารถมีรายได้จากค่าเช่าตั้งเสากังหันเพิ่มเติมจากรายได้ในการทำเกษตรกรรม นอกจากนั้นก็ยังมีเงินกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอีกด้วย
กรณีโรงไฟฟ้าเทพสถิต วินด์ฟาร์ม อาจเป็นกรณีเฉพาะรายที่ไม่เป็นการทั่วไปว่า โรงไฟฟ้ากังหันลม ไม่สามารถจะตั้งบนที่ดินส.ป.ก.ได้
เนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟหรือ PPA และก็ไม่มีทางจะผลิตไฟฟ้าไปขายใครได้เป็นอันขาด ก็จึงไม่มีเงินกองทุนไฟฟ้าไปพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า
ผมว่าเอกชนเขาก็ไม่อยากเสี่ยงทำผิดกฎหมายหรอก ถ้ามีทางเลือกอื่นไปใช้พื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิเช่น ส.ค.1 น.ส.3 ก. หรือโฉนด แต่นี่ก็มีกฎหมายเปิดช่องในเรื่องของ “กิจการอื่น” ให้ทำได้ เพียงแต่การตีความ อาจจะแตกต่างกันไป
นอกจากนั้นก็อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของทำเลที่ตั้ง ซึ่งที่ดินส.ป.ก.นั้นอาจจะเป็น “ช่องทางลม” ก็เป็นไปได้ ส่วนที่ดินมีเอกสารสิทธิอาจไม่อยู่ใน “ช่องทางลม”
โรงไฟฟ้าพลังงานลมถือเป็นพลังงานบริสุทธิ์ทั้งแท่ง หากต้องถูกสกัดกั้นด้วยการตีความกฎหมายแบบคับแคบ หรือกระแสสงสัยดะไปหมดว่าต้องมีการทุจริตคอร์รัปชั่นไปเสียทุกเรื่อง ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและน่าเสียใจอย่างยิ่ง
ผมเองไม่เคยเชื่อว่าภูมิอากาศที่ไม่มีความต่างระดับกันมากอย่างเมืองไทย จะสามารถทำโรงไฟฟ้าพลังงานลมเหมือนในประเทศเมืองหนาวได้ แต่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถเอาชนะขีดจำกัดทางธรรมชาติได้แล้ว
สิ่งดีงามจะมาถูกทำลายลงเพราะความคับแคบหรือกระแสบ้าคลั่ง จึงเป็นเรื่องทั้งน่าเสียดายและน่าเสียใจ