เรื่องงงๆ ‘คำขอทุเลา’ทายท้าวิชามาร

เมื่อวันอังคาร ฟังวิทยุรายการข่าวเศรษฐกิจ พูดถึงคดีกระทรวงพาณิชย์ออกคำสั่งให้บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวก ชดใช้ค่าเสียหายขายข้าวจีทูจี 2 หมื่นล้านบาท แต่ศาลปกครองยกคำร้องขอทุเลา ฟังแล้วรู้สึก “ปวดตับ” ว่านักข่าวไม่เข้าใจประเด็นกฎหมายที่ตัวเองกำลังทำข่าวเลย


ใบตองแห้ง

 

เมื่อวันอังคาร ฟังวิทยุรายการข่าวเศรษฐกิจ พูดถึงคดีกระทรวงพาณิชย์ออกคำสั่งให้บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวก ชดใช้ค่าเสียหายขายข้าวจีทูจี 2 หมื่นล้านบาท แต่ศาลปกครองยกคำร้องขอทุเลา ฟังแล้วรู้สึก “ปวดตับ” ว่านักข่าวไม่เข้าใจประเด็นกฎหมายที่ตัวเองกำลังทำข่าวเลย

เช่นใช้คำพูดผิดว่า “ศาลปกครองยกคำร้องขอทุเลาคำสั่งศาลปกครองยึดทรัพย์” (ที่จริงคือคำสั่งทางปกครอง) แต่กลับอ้างความเห็นนักกฎหมายที่ไหนไม่ทราบว่าอันที่จริงพาณิชย์ยังต้องใช้เวลาอีกนาน บุญทรงกับพวกไม่น่ายื่นคำร้องขอทุเลา กลายเป็นเร่งให้รีบยึดทรัพย์

ไม่ยื่นแล้วจะทำไงล่ะครับ เมื่อกระทรวงพาณิชย์มีหนังสือบังคับ เป็นคำสั่งทางปกครอง ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 ชดใช้ 2 หมื่นล้าน โดยให้ตอบรับหรือโต้แย้งใน 30 วัน หากเพิกเฉยจะส่งหนังสือเตือนรอบ 2 ต้องตอบกลับใน 15 วัน หากเพิกเฉยอีกจะส่งเรื่องให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์

นี่เป็นคำสั่งชัดเจน ประสาชาวบ้านยังฟังออกว่า “บังคับให้จ่าย” ไม่จ่ายจะยึด ฉะนั้นบุญทรงกับพวกก็ต้องไปฟ้องศาลปกครอง ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด พร้อมกับขอทุเลาการบังคับ

เข้าใจตรงกันนะครับ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด ให้อำนาจฝ่ายบริหาร ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาลอาญาในคดีทุจริต แต่เมื่อเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งอาจใช้อำนาจโดยพลการหรือกลั่นแกล้งกันได้ กฎหมายจึงให้ศาลปกครองตรวจสอบตัดสินอีกชั้น โดยให้ผู้ถูกเรียกค่าเสียหายฟ้องค้าน เช่นคดีนี้บุญทรงฟ้องนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้แทน

ในขณะเดียวกัน ผู้ฟ้องคดียังมีสิทธิยื่นคำร้องขอทุเลาคำสั่งบังคับ ไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด แม้บุญทรงกับพวกถูกสื่อกระหน่ำจนสังคมเชื่อว่าโกงก็ต้องเคารพกระบวนการยุติธรรม รอฟังคำพิพากษาโดยเปิดใจกว้าง ศาลอาจตัดสินว่าไม่ต้องจ่าย จ่ายเต็ม หรือจ่ายบางส่วน หรือจ่ายบางคนเป็นไปได้ทั้งนั้น

ในการยื่นคำขอทุเลา ผู้ฟ้องคดีก็จะอ้างเงื่อนไขตามกฎหมาย เช่น คำสั่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหากยึดไปก่อน แล้วศาลพิพากษาอีกอย่าง จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง (เช่น ยึดกิจการจนธุรกิจเสียหาย ยึดบ้านที่ดินมรดกขายทอดตลาด เป็นมูลค่าที่ไม่อาจชดใช้ภายหลัง)

กระนั้น ประเด็นที่น่าสนใจคือ คำสั่งยกคำร้องขอทุเลาครั้งนี้  ศาลยังไม่ได้บอกว่าให้ทุเลาหรือไม่ให้ทุเลาเลยนะครับ แต่ศาลกลับบอกว่า “ศาล (ยัง) ไม่มีอำนาจ” เพราะรัฐบาลยังไม่ได้ใช้มาตรการบังคับทางปกครอง

ตรงนี้ต่างหากที่นักกฎหมายควรงง กระทรวงพาณิชย์มีคำสั่งบังคับ แต่ศาลบอกว่ายังไม่ใช้มาตรการบังคับ รัฐมีคำสั่งทางปกครองแล้ว แต่ศาลบอกว่ายังไม่มีมาตรการ

การที่ศาลสั่งเช่นนี้ แปลว่าถ้ามีมาตรการเมื่อไหร่ ค่อยไปยื่นขอทุเลาใหม่ใช่หรือไม่ ถ้าเช่นนั้น ต้องรอถึงเมื่อไหร่จึงจะถือว่ามีมาตรการบังคับ กรมการค้าต่างประเทศทำหนังสือถึงกรมบังคับคดี ถือว่ามีมาตรการแล้วหรือไม่ รอให้กรมบังคับคดีทำหนังสือถึงศาลจึงค่อยร้องขอทุเลาหรือขั้นตอนไหนแน่ ที่ศาลจะถือว่ามีมาตรการบังคับ หรือต้องยื่นไปเรื่อยๆ จนกว่าศาลจะชี้ขาดว่ารับไม่รับ

เหล่านี้เป็นคำถาม ที่ต้องรอดูว่าศาลจะวางบรรทัดฐานอย่างไร

 

Back to top button