พาราสาวะถี อรชุน

ถูกต้องที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะโยนเรื่องการขาดประชุมของสมาชิกสนช. 7 คนให้เป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมาย หากใครมาร่วมประชุมและลงมติไม่ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ก็สมควรที่จะถูกถอดชื่อพ้นสภาพการเป็นผู้ทำหน้าที่แทนทั้งส.ส.และส.ว.ของประเทศไปเสีย จะได้ไม่ต้องเปลืองงบประมาณที่ต้องจ่ายเงินเดือนให้คนเหล่านั้นถึง 2 ทาง


ถูกต้องที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะโยนเรื่องการขาดประชุมของสมาชิกสนช. 7 คนให้เป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมาย หากใครมาร่วมประชุมและลงมติไม่ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ก็สมควรที่จะถูกถอดชื่อพ้นสภาพการเป็นผู้ทำหน้าที่แทนทั้งส.ส.และส.ว.ของประเทศไปเสีย จะได้ไม่ต้องเปลืองงบประมาณที่ต้องจ่ายเงินเดือนให้คนเหล่านั้นถึง 2 ทาง

ขณะเดียวกันประเด็นการตรวจสอบเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เพราะมีชื่อ พลเอกปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของหัวหน้าคสช.แล้วทำให้เป็นข่าวแต่อย่างใด หากลองไปพิจารณาผลการตรวจสอบของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ ก็พบข้อมูลอันน่าสนใจและตกใจ โดยมีสมาชิกสนช.อย่างน้อย 7 คนมาร่วมประชุมลงมติไม่ถึงหนึ่งในสามของการลงมติแต่ละรอบ

เนื่องจากสถานะของบุคคลทั้ง 7 อันประกอบไปด้วย พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการกฤษฎีกา สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ได้รับการเลือกแล้วว่าเป็นคนดี มีศีลธรรมสูงส่งกว่าคนทั่วไป

ดังนั้น สิ่งที่ไม่ควรกระทำก็คือละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญ ทำไมถึงต้องเรียกร้องขนาดนั้น เพราะจากข้อมูลของไอลอว์ที่ตรวจสอบวงรอบการประชุม พบว่า รอบวันที่ 1 มกราคม 2559 ถึง 31 มีนาคม 2559  มีการลงมติทั้งหมด 250 ครั้ง จำนวนหนึ่งในสามของการลงมติทั้งหมด คือ 84 ครั้ง พล.ร.อ.พัลลภ มาลงมติ 55 ครั้ง สมศักดิ์ มาลงมติ 81 ครั้ง ดิสทัต มาลงมติ 4 ครั้ง  สุพันธุ์ มาลงมติ 57 ครั้ง พล.อ.ปรีชา มาลงมติ 5 ครั้ง

รอบวันที่ 1 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2559 มีการลงมติทั้งหมด 203 ครั้ง จำนวนหนึ่งในสามของการลงมติทั้งหมดคือ 68 ครั้ง พล.ร.อ.พัลลภ ไม่มาลงมติเลย พล.อ.ปรีชา มาลงมติ 1 ครั้ง พล.อ.อ.จอม มาลงมติ 63 ครั้ง และ พล.ร.อ.ณะ มาลงมติ 1 ครั้ง

สำหรับบทลงโทษเกี่ยวกับการขาดประชุมของสมาชิกสนช.นั้น ไอลอว์ ระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 9 (5) กำหนดว่า ถ้าสมาชิกไม่มาแสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม ให้สมาชิกภาพการเป็นสนช.สิ้นสุดลง 

โดยมีการกำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสนช. พุทธศักราช 2557 ข้อ 82 ว่า สมาชิกที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนครั้งที่มีการแสดงตนเพื่อลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลาเก้าสิบวัน ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง กรณีที่สมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติตามวรรคหนึ่งเนื่องจากได้ลาการประชุม มิให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นไม่แสดงตนเพื่อลงมติ

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับตามข้อบังคับกำหนดให้สมาชิกต้องมาลงมติอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุกรอบ 90 วัน แต่การที่มีสมาชิกอย่างน้อย 7 คน ที่ขาดประชุมเป็นประจำ อาจจะเป็นเหตุให้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกสนช. เว้นแต่ได้ยื่นใบลาต่อประธานสภา ตรงนี้แหละที่น่าสนใจ ว่าด้วยใบลาของสมาชิกจำนวนดังกล่าว ลาอะไรกันมากมายขนาดนั้น

เข้าใจว่าแต่ละคนมีภารกิจหน้าที่กรณีที่เป็นข้าราชการประจำ ส่วนคนเกษียณอายุราชการไปแล้วข้ออ้างอาจน้อยกว่า ทว่าข้อห่วงใยเหล่านี้เคยมีการท้วงติงมาแล้วนับตั้งแต่การแต่งตั้ง แต่ท่านผู้นำก็ยืนยันว่า คนเหล่านั้นสามารถบริหารจัดการเวลามาร่วมประชุมได้ แล้วเป็นอย่างไร ท่าทีของ พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ยืนยันว่าทุกคนลาถูกต้องตามระเบียบ เพื่อความโปร่งใสก็ต้องเปิดเผยให้สังคมรับรู้ ไม่ใช้อ้างว่า “ข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ”

ท่วงทำนองดังกล่าว เชื่อแน่ว่าคนส่วนใหญ่เกิดความเคลือบแคลงกันอยู่ไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงออกโรงเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมที่จะยื่นให้มีการตรวจสอบกรณีนี้ พร้อมระบุว่าท่าทีดังกล่าวของประธานสนช. เป็นความพยายามช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการการันตีว่ามีการยื่นใบลาแล้วทุกคน แต่เนื่องจากพฤติการณ์และการกระทำของ 7 สนช.หรือมากกว่านั้นเข้าข่ายความผิดหรือขัดหรือแย้งต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกรรมาธิการ พุทธศักราช 2558 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 14 ข้อ 16 ข้อ 17 และข้อ 21 โดยชัดแจ้ง

โดยเฉพาะ ข้อ 14 ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องอุทิศเวลาให้แก่การประชุม โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน จุดที่น่าจะเป็นการจี้ใจดำของท่านผู้มีอำนาจเป็นอย่างยิ่ง หากท่านจะกรุณาให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ นั่นก็คือ การกระทำของ 7 สนช.ถือเป็นการขัดต่อค่านิยมหลัก 12 ประการของหัวหน้าคสช.ข้อ 12 ที่ว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเองด้วย

จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะดำเนินการไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการจริยธรรมของสนช. เพื่อให้เกิดการไต่สวน สอบสวนและลงโทษ เพราะกรณีดังกล่าวไม่ควรให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อสังคมไทย เยาวชนไทย ในยุคที่กำลังเดินหน้าปฏิรูปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ แน่นอนว่า หลังการรับเรื่องคงจะไม่มีการออกลีลายึดยื้อ ดึงเวลา หรือมีการลูบหน้าปะจมูกเกิดขึ้น

ความจริงเรื่องนี้ไม่ควรที่จะให้มีใครมาตรวจสอบจนพบความผิดปกติ แล้วต้องคอยออกมากางปีกปกป้อง หากยึดตามแนวทางของหัวหน้าคสช.คือ ทุกคนต้องเสียสละ มาด้วยใจ ทุ่มเทเพื่อประเทศชาติอย่างเต็มที่ นำพาบ้านเมืองก้าวเดินไปข้างหน้าให้ได้ ใครที่ไม่พร้อมจะทำงานก็เปลี่ยนตัวเสียด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ต้องมาตกเป็นขี้ปากว่าคอยอุ้มพวกไร้ความรับผิดชอบ เสียคะแนนนิยม เสียรังวัดเปล่าๆ ปลี้ๆ คิดให้ลึกจะกลายเป็นได้ไม่คุ้มเสียไปเสียฉิบ

Back to top button