โดมิโน และ ม.44พลวัต2015
หุ้นเกี่ยวข้องกับสายการบิน โดยเฉพาะบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ถูกถล่มขายหนักเมื่อวานนี้ ทำให้ดัชนีหุ้นไทยที่มีอาการทำท่าจะรีบาวด์กลับเพราะเข้าเขตขายมากเกินไป ไปไม่รอด และส่งสัญญาณว่าจะต้องลงไปที่แนวรับทางทฤษฎี 1,440 จุด เป็นไปได้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่
หุ้นเกี่ยวข้องกับสายการบิน โดยเฉพาะบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ถูกถล่มขายหนักเมื่อวานนี้ ทำให้ดัชนีหุ้นไทยที่มีอาการทำท่าจะรีบาวด์กลับเพราะเข้าเขตขายมากเกินไป ไปไม่รอด และส่งสัญญาณว่าจะต้องลงไปที่แนวรับทางทฤษฎี 1,440 จุด เป็นไปได้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่
ตลาดหุ้นไทยที่ทำท่าจะวาย ก็อาจจะวายเข้าจริงๆ เพียงเพราะความห่วยของใครบางคน (จะโทษใครแบบเอ่ยชื่อคงไม่ได้ เพราะขืนเอ่ยชื่อ จะถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท)
ความเสียหายจากการที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมมาตรฐานการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับการบินพลเรือนในระดับสากล ลดอันดับมาตรฐานการบินของไทย จนถึงขั้นที่ถูกญี่ปุ่นสั่งห้ามสายการบินของไทย 4 สาย คือ การบินไทย การบินไทยสมายล์ นกสกู๊ต และไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ถูกห้ามเพิ่มขนาดของเครื่องบิน และจำนวนเที่ยวบินในช่วงไฮซีซั่น รวมทั้งห้ามเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ ไฟลท์) ของสายการบินทั้ง 3 บินไปญี่ปุ่น เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจริงจังหลายทาง
เรื่องลุกลามถึงขั้นที่รมว.คมนาคม พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ระบุว่าเป็น “โดมิโน” เพราะอาจจะถูกชาติอื่นๆ ออกคำสั่งแบบเดียวกัน เพราะล่าสุดจีนกับเกาหลีใต้ก็เลียนแบบญี่ปุ่นทันควัน
ความเสียหายนั้น ไม่ได้กระทบเฉพาะเที่ยวบินขาออกไปประเทศเป้าหมายเท่านั้น แต่อาจจะรวมถึงเครื่องบินขาเข้าจากประเทศต่างๆ ด้วย ชนิดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุถึงขั้นว่า ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาประเทศ ก่อนจะสายเกินไป
ข้อมูลที่ประชาชนทราบจากปากของนายกรัฐมนตรีคือ ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เกิดมาตั้งแต่ปี 2548 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งสมัยนั้นมีเที่ยวบินเข้าออกน่านฟ้าไทยปีละ 3 แสนเที่ยว แต่เจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องมาตรฐานการจราจรทางอากาศกลับมีเพียงแค่ 12 คน
ครั้งนั้น ICAO ได้ทำการตรวจ และสั่งการให้ไทยแก้ไขโดยด่วน โดยต้องการให้กระจายการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างคือ แยกงานด้านนโยบาย งานกำกับดูแล และปฏิบัติการ ออกจากกันให้ชัดเจน และปรับปรุงกฎหมายทั้งหมด ให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งหมายถึงต้องเพิ่มบุคลากรและงบประมาณ ทั้งปริมาณและคุณภาพ
วันที่ 19-30 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ ICAO คำสั่งดังกล่าวถูกเพิกเฉยเสมือนเป็นเรื่องไม่สำคัญ จนกระทั่งเดือนมกราคมปีนี้ ICAO เข้ามาตรวจอีกครั้ง และพบว่าทุกอย่างยังไม่ได้รับการแก้ไขเลย
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ICAO ได้ทำการแจ้งเป็นการภายในให้กรมการบินพลเรือน รับทราบถึงข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (SSC) แล้วหลังจากนั้นก็มีข่าวลือออกมาว่า 28 สายการบินพาณิชย์ของไทย อาจถูกสั่งห้ามบินไปหลายประเทศ เนื่องจากไม่ได้ทำตามมาตรฐาน ทำให้นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) ออกชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่ยอมรับว่า มีการแจ้งเตือนแล้ว และจะเผยแพร่คำเตือนไปทั่วโลกทางเว็บไซต์ภายในวันที่ 30 พฤษภาคมที่จะถึง หากไทยแก้ไขไม่ได้ตามแผน
ตอนนี้ก็คงไม่ต้องรอให้ ICAO ขึ้นเว็บไซต์อีกแล้ว เพราะรู้ไปทั่วโลกแล้วว่า มาตรการการควบคุมดูแลน่านฟ้าของไทย เลวร้ายแค่ไหน
เรื่องร้ายแรงที่เกิดขึ้นนี้ มีเหตุทำให้นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ สบช่องทดลองใช้ ม. 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นครั้งแรกเสียเลย โดยให้เหตุผลว่าเป็นการใช้ “อย่างสร้างสรรค์” โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหากรณีนี้ หรือปรับโครงสร้างต่างๆ รวมทั้งแก้ไขกฎหมาย ไม่ต้องรอผ่านขั้นตอนปกติ
ขั้นตอนปกติของระบบราชการไทยในการเสนอแก้ไขกฎหมาย คือ จะต้องส่งร่างแก้ไข พ.ร.บ. เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. จากนั้นก็เสนอให้ สนช. ใช้เวลาพิจารณา ซึ่งนายกรัฐมนตรีว่าล่าช้าเกินไป ไม่ทันการ
เหตุผลที่ต้องเร่งแก้คือ จากเดิมที่มี 300,000 เที่ยวบินพาณิชย์ต่อปีเมื่อตรวจเจอปัญหา แต่ตอนนี้เพิ่มเป็น 600,000 เที่ยวบินต่อปี ก็ยังใช้มาตรฐานดูแลเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง อธิบดีกรมการบินพลเรือน บอกว่า ได้เคยเสนอขอปรับโครงสร้าง แก้กฎหมายเพิ่มกำลังคนและเพิ่มงบประมาณ แต่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ จึงเป็นแบบนี้ตลอด
ข้อมูลจากปากนายกรัฐมนตรี ดูผิดประหลาด เพราะในทางปฏิบัติ กรมการบินพลเรือนเองก็ยอมรับว่า การแยกโครงสร้าง 3 ส่วนออกจากกัน อาจจะดีในการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยาก เพราะสนามบินภูมิภาค 28 แห่งของไทยมีปัญหาในตัวเองเพราะเจ้าของมาจากหลายหน่วยงาน และมีสนามบินที่ทำกำไรได้น้อยมาก นับมือได้ เช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี อุดรธานี ที่เหลือจะมีปัญหาเพราะขาดทุน ไม่สามารถหางบประมาณเลี้ยงตัวได้
เรื่องของ ICAO ก็เลยสบช่องนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ที่คันไม้คันมืออยากใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าพอดี เรียกว่า ฉวยจังหวะได้ดี เรียกว่าใช้ให้คุ้นมือ เพราะไหนๆ ก็เขียนกฎหมายมาแล้ว ก็ต้องใช้
หากว่าเรื่องของ ICAO ทำได้สำเร็จสวยงาม เรื่องจะเอามาตรา 44 มาใช้แทนกฎอัยการศึก ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะของมันเคยมือเสียแล้ว
มีครั้งแรกได้ ก็ต้องมีครั้งต่อๆ ไป ครบสูตร