ตราสารหนี้ขาขึ้นพลวัต 2017

นักวิเคราะห์ทั่วโลก ต่างมีมุมมองตรงกันว่า ถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด 2 ครั้งต่อรัฐสภาอเมริกันล่าสุด มีลักษณะที่เด็ดเดี่ยวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้า โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า ในการประชุมเดือนมีนาคมของเฟดนี้ อาจจะมีการประเมินดูว่า การจ้างงานและเงินเฟ้อยังคงปรับตัวสอดคล้องกับการคาดการณ์หรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นต่อไปก็จะมีความเหมาะสม


วิษณุ โชลิตกุล

 

นักวิเคราะห์ทั่วโลก ต่างมีมุมมองตรงกันว่า ถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด 2 ครั้งต่อรัฐสภาอเมริกันล่าสุด มีลักษณะที่เด็ดเดี่ยวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้า โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า ในการประชุมเดือนมีนาคมของเฟดนี้ อาจจะมีการประเมินดูว่า การจ้างงานและเงินเฟ้อยังคงปรับตัวสอดคล้องกับการคาดการณ์หรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นต่อไปก็จะมีความเหมาะสม

คำพูดดังกล่าวเป็นมากกว่าระเบิดเวลา เพราะมันเป็นการประกาศเป็นทางการว่า ช่วงเวลาของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Reflation Stage (ดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างอ่อน) ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ

ที่ผ่านมา นางเยลเลน ได้ชื่อว่าเป็น “สายพิราบ” ในคณะกรรมการเฟดเสมอมา เพราะรีรอหรือเลื่อนการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยมาตลอดสองปีนี้หลายครั้ง แม้ว่าจะเผชิญกับแรงกดดันจากสายเหยี่ยวต่อเนื่องมาตลอด

นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวแถลงรอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรส โดยมีสาระสำคัญว่า เฟดยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐได้ฟื้นตัวขึ้นเร็วกว่าทางยุโรป โดยที่ระยะหลังเฟดได้ใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งช่วยปกป้องสถาบันการเงิน และหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้การขาดดุล และการยึดทรัพย์จำนองได้เริ่มลดน้อยลง แต่ก็เตือนว่า หากรัฐบาลทำการตัดสวัสดิการสังคม โดยจะกระทบต่อครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ขณะที่สวัสดิการว่างงานจะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง

ประเด็นที่น่าสนใจมากกว่าคำพูดของนางเยลเลนอยู่ที่ข้อเท็จจริงต่อมาที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนมกราคมปีนี้  เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ หลังจากเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนธันวาคมปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แม้ว่ายอดขายรถยนต์ดิ่งลงก็ตาม และหากเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 5.6%

การขยายตัวของมูลค่าค้าปลีก ทำให้ดัชนีเงินเฟ้อ CPI พุ่งขึ้น 0.6% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 ปี แต่ที่น่าสนใจมากคือ  CPI พุ่งขึ้น 2.5% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าระดับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และเป็นการเพิ่มขึ้นรายปีมากที่สุดในรอบ 5 ปี

คำพูดที่นางเยเลนพูดถึง “กระบวนการทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวกลับสู่ระดับปกติ” ก็เข้าใจกันได้โดยปริยายว่า เป็นการปิดฉากยุคของดอกเบี้ยต่ำติดพื้นอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าสู่ยุคใหม่

เช่นเดียวกันกับคำว่า “จะขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป” อันคุ้นเคยจากปากของนางเยลเลน ที่ชินหูนักลงทุน ก็เป็นแค่สร้อยของการปลอบโยนตลาดให้หายจากอาการตื่นตระหนก (ทั้งที่เป็นเรื่องที่ตลาดไม่ชอบเท่านั้น)

การขึ้นและลงของอัตราดอกเบี้ยของเฟด มีความหมายมากกว่าแค่การขจัดเงินเฟ้อ แต่มีความหมายแทรกซ้อนอื่นๆ เพราะดังที่ทราบกันดี อัตราดอกเบี้ยของเฟด ในหลายทศวรรษมานี้ ได้กลายเป็นตัวกำหนดค่าเงินสกุลเปรียบเทียบของแต่ละประเทศทั่วโลก ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว และเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมการไหลเวียนของทุนข้ามประเทศทางตรงและอ้อมของแต่ละประเทศโดยปริยาย

ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ธนาคารกลางแต่ละประเทศต้องทำหน้าที่มากกว่าการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศอย่างเดียว แต่ต้องดูแลค่าเงินสกุลของประเทศไม่ให้แข็งเกิน หรืออ่อนเกิน จนกระทบต่อการค้าและการลงทุน

อัตราดอกเบี้ยโดยเปรียบเทียบที่แพงกว่าชาติรอบข้าง จะทำให้เงินทุนไหลเข้าจากการทำแครี่เทรดของกองทุนเก็งกำไร จนค่าเงินแข็งมากเกินขนาด แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป จะทำให้ทุนไหลออก และค่าเงินอ่อนเกินไป ส่งผลเสียต่อการลงทุนภาคการผลิต ต่อตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ของประเทศขนาดเล็ก แต่ทั้งนี้ ล้วนแล้วแต่มีเฟดเป็นตัวกำหนดสำคัญยิ่งโดยผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ เฟด ฟันด์ เรต

เฟด ฟันด์ เรต ที่ต่ำมากของสหรัฐหลังวิกฤตซับไพรม์นานถึง 8 ปี ทำให้เกิดยุคสมัยของดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำติดพื้น หรือดอกเบี้ยติดลบ หรือเงินฝืดตามมาจนถึงปัจจุบัน  แล้วยังทำให้นักลงทุนย้ายเงินออมจากตลาดเงินไปยังตลาดทุน โดยเฉพาะตลาดหุ้น ไม่เพียงทำให้ดัชนีดาวโจนส์ และ S&P 500 ของตลาดหุ้นนิวยอร์ก เป็นขาขึ้นยาวไม่เคยหยุดพักจริงจัง 6 ปีเศษ นานที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์วอลล์สตรีท รวมทั้งยังทำให้ราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ วิ่งเป็นขาขึ้นยาวนานสวนทาง

วันนี้ เมื่อสถานการณ์ ย้อนกลับสู่ปกติ” คือ ช่วงเวลาของดอกเบี้ยขาขึ้น ยุครุ่งเรืองของตลาดตราสารหนี้ และตลาดทุนเฉพาะที่เป็นตราสารหนี้กำลังจะกลับมา สวนทางกับยุคของตลาดหุ้นที่ผันผวนหาทิศทางชัดเจนไม่ได้ กำลังจะเกิดขึ้น นักลงทุนทั้งหลาย พึงเข้าใจสัญญาณอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์

Back to top button