ปรองดองเก่าขัดแย้งใหม่ ทายท้าวิชามาร

สัปดาห์แห่งความรัก ถือฤกษ์ชวนพรรคการเมืองไปปรองดอง แต่จ้องยึดทรัพย์ยิ่งลักษณ์โดยไม่รอคำพิพากษาของศาล ใช้ ม.44 บุกธรรมกายเอิกเกริก แต่จับธัมมชโยไม่ได้ ล่องหนหายตัว คนถูกจับกลายเป็น ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร กับแกนนำ “คนไม่เอาถ่าน” ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน


ใบตองแห้ง

 

สัปดาห์แห่งความรัก ถือฤกษ์ชวนพรรคการเมืองไปปรองดอง แต่จ้องยึดทรัพย์ยิ่งลักษณ์โดยไม่รอคำพิพากษาของศาล ใช้ ม.44 บุกธรรมกายเอิกเกริก แต่จับธัมมชโยไม่ได้ ล่องหนหายตัว คนถูกจับกลายเป็น ม.ล.รุ่งคุณ กิติยากร กับแกนนำ “คนไม่เอาถ่าน” ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ทั้งสัปดาห์ แทนที่คนจะสนใจ “ปรองดอง” กลับสนใจข่าว 7 สนช.ทหาร ข้าราชการ โดยเฉพาะน้องชายนายกฯ (อีกแล้ว) ล่องหน เข้าประชุมลงมติน้อยที่สุด 6 ครั้งจาก 453 ครั้ง ทั้งที่รับเงิน 2 ทาง

คสช.จะปรองดองไปสู่การเลือกตั้งอย่างสงบได้จริงๆ หรือ ปรองดองแปลว่าอะไร อังคณา นีละไพจิตร ถาม ถ้าความขัดแย้งเกิดจากรัฐประหาร รัฐบาลจะปรองดองอย่างไร

ปรองดองของ คสช.ไม่ใช่สะสางอดีตอย่างยุติธรรม แล้วสร้างอนาคตที่ความเห็นต่างอยู่ร่วมกันได้ ปรองดองของ คสช.คือสังคมไทยต้อง “รู้รักสามัคคี” อยู่ใต้รัฐราชการ ที่มีกองทัพเป็นแกนกลาง มีเลือกตั้งเป็นพิธีกรรม แล้วเคลื่อนย้ายระบอบอำนาจปัจจุบันไปใส่เสื้อฟอร์ม “เลือกตั้ง”

การปรองดองจึงมุ่งไปที่พรรคการเมือง สร้างกระแสชักนำว่านักการเมืองคือตัวปัญหา ทหารคือความถูกต้อง เป็นกลาง ทำทุกอย่างเพื่อชาติและสถาบันสำคัญ สร้างกระแสบีบคั้นให้พรรคการเมืองสยบยอมต่อระบอบอำนาจในร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ปัญหาของ คสช.คือสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว พรรคการเมืองไม่ใช่คุมมวลชนได้แบบซ้ายหันขวาหัน พูดให้สุดๆ สมมติ คสช.นิรโทษกรรม ดึงเพื่อไทยมาเข้าข้าง ผู้รักประชาธิปไตยที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ หรือมวลชนที่ถูกกระทำทั้งเมื่อปี 53 และหลังรัฐประหาร ก็พร้อมตั้งพรรคใหม่ นี่ยังไม่พูดถึงฝั่งตรงข้าม

ในขณะเดียวกัน การสถาปนาอำนาจรัฐราชการเป็นใหญ่ ตัดสินใจจากด้านบน แบบทหาร แบบราชการ ก็สร้างความขัดแย้งกับประชาชนคนเล็กคนน้อย ไม่ว่าการจัดระเบียบต่างๆ หรือการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ความขัดแย้งกับ “ภาคประชาชน” กลุ่มที่เคยเป่านกหวีด shutdown กรุงเทพฯ ไม่เอาเลือกตั้งจนเกิดรัฐประหาร ไม่ใช่ความบังเอิญ เป็นทิศทางที่เดินมาตลอด เช่นก่อนหน้านี้ก็มีเรื่อง ม.44 กำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยกเว้นกฎหมายผังเมือง

โดยวิถีที่รัฐราชการเป็นใหญ่ รัฐมีอำนาจมาก สามารถตัดสินใจโดยไม่ฟังผู้คัดค้าน ก็จะขัดแย้งกับภาคประชาสังคม ไม่ต่างจากยุคทักษิณ เพียงแต่กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีผู้คัดค้านกว้างขวาง รัฐจึงกลับลำทบทวนรายงาน EIA ทั้งที่ใช้คำสั่ง คสช.จับแกนนำการชุมนุมไปแล้ว

ถ้าไล่ดูพลังต่างๆ ในสังคมวันนี้ พรรคการเมืองถูกบีบให้ปรองดอง แต่ก็ใช่จะยุติขัดแย้ง  มีช่องให้แทงกลับเมื่อไหร่ ก็พร้อมทุกเมื่อ ภาคประชาชน ผู้รักประชาธิปไตย นักเคลื่อนไหวทั้งสองสี แม้ไม่สามารถแสดงพลัง แต่ทิศทางก็คือไม่ยอมรับอำนาจรัฐทหาร

รัฐบาลอาจมีฐานคนชั้นกลางในเมือง คนระดับบน คนมั่งมี แต่ความเชื่อมั่นกำลังถูกกัดกร่อน ทั้งเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน การแก้ไขเศรษฐกิจ ทั้งเรื่อง “ไม่โกง” แต่ตรวจสอบไมได้ และมีอภิสิทธิ์ชน เช่น 7 สนช.

กรุงเทพโพลล์เปิดผลสำรวจ 2 ปี 6 เดือน รัฐบาลมีคะแนนนิยมลดลงทุกด้าน เฉลี่ย 5.83 จาก 6.19 ตอนครบ 2 ปี มีดีอย่างเดียวคือขยัน แต่… ปัญหาเดิมๆ ที่คนยังเรียกร้องคือเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่ง ดร.โกร่งเพิ่งเขียนบทความ “สัญญาณเศรษฐกิจขาลง” ทำให้สงสัย แล้วการเมืองจะเป็นขาขึ้นได้ไง

คิดไปก็เป็นตลกร้าย คสช. สนช. กรธ. กกต. ฯลฯ อุตส่าห์เข็นร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แต่ยังไม่สามารถไปสู่เลือกตั้งอยู่ดี ติดกับอยู่อย่างนี้ ไม่รู้ลงได้เมื่อไหร่

 

Back to top button