ค่าโง่กังหันลม? ทายท้าวิชามาร
ในฐานะที่ติดตามคดีศาลปกครองสูงสุดสั่งยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ ส.ป.ก.ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้ามาตลอด ขอบอกว่าประหลาดใจยิ่งกับกระทรวงเกษตรฯ ที่เชื่อรายงาน ส.ป.ก.ว่า สัญญาที่ทำกับ 17 บริษัท ไม่ผิดเงื่อนไขและไม่เข้าข่ายความผิดฐาน “ไม่ทำประโยชน์แก่เกษตรกรโดยตรง” เพียงขยายเวลาตรวจสอบอีก 45 วัน ขณะเดียวกันก็สั่งยกเลิกสัญญากับเทพสถิต วินด์ฟาร์ม ราวกับเอกชนเป็นฝ่ายทำผิด รัฐไม่ต้องรับผิดชอบเลย
ใบตองแห้ง
ในฐานะที่ติดตามคดีศาลปกครองสูงสุดสั่งยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ ส.ป.ก.ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้ามาตลอด ขอบอกว่าประหลาดใจยิ่งกับกระทรวงเกษตรฯ ที่เชื่อรายงาน ส.ป.ก.ว่า สัญญาที่ทำกับ 17 บริษัท ไม่ผิดเงื่อนไขและไม่เข้าข่ายความผิดฐาน “ไม่ทำประโยชน์แก่เกษตรกรโดยตรง” เพียงขยายเวลาตรวจสอบอีก 45 วัน ขณะเดียวกันก็สั่งยกเลิกสัญญากับเทพสถิต วินด์ฟาร์ม ราวกับเอกชนเป็นฝ่ายทำผิด รัฐไม่ต้องรับผิดชอบเลย
เลขาธิการ ส.ป.ก.อ้างว่า 17 บริษัท ทำสัญญาจ่ายค่าเช่าให้ ส.ป.ก. ไร่ละ 35,000 บาทต่อปี จ่ายให้เกษตรกรคนละ 1 แสนบาทต่อปี พร้อมทำถนนในโครงการ น่าจะถือว่าทำประโยชน์แก่เกษตรกรโดยตรง แต่จะถามศาลอีกครั้ง ว่าตีความอย่างไร
ถามหน่อยสิครับ หนึ่ง เทพสถิต วินด์ฟาร์มไม่จ่ายเงินให้เกษตรกรหรือไร สอง ลองสมมติใหม่ ถ้ามีใครขอแบ่งที่ดินเกษตรเช่าทำรีสอร์ท โดยจ่ายค่าเช่า ส.ป.ก.ไร่ละ 5 หมื่น จ่ายเกษตรกร 2 แสนต่อปี ศาลจะชี้ว่าผิดไหม คำตัดสินของศาลชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดิน ไม่รู้จะดิ้นไปทำไม
แต่ตลกร้ายอีกด้านคือ สตง.ทำหนังสือขอตรวจสอบ ส.ป.ก.ว่าการอนุมัติวินด์ฟาร์ม ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เอื้อเอกชนหรือไม่ ไม่ทราบมีจุดประสงค์อะไร หรือฉลามได้กลิ่นเลือด ก็ว่ายมาทันที
ถ้าย้อนดูเรื่องนี้ จะพบว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธาน ลงมติอนุมัติตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. 2552 แล้ว ส.ป.ก.กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ก็เสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อนุมัติและกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดินเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2553
พูดอย่างนี้ไม่ใช่จะโทษรัฐบาลมาร์ค แต่จะบอกว่ามันเป็นนโยบายต่อเนื่องมาทุกรัฐบาล กระทั่ง NGO สายพลังงานยังสนับสนุน เรื่องทั้งหมดไม่มีใครตั้งใจทำผิด ไม่มีใครจงใจเอื้อเอกชน เพียงแต่ “สอบตก” วิชากฎหมาย ไม่ดูว่ามันกลายเป็นการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ผิดวัตถุประสงค์ จนโดนฟ้องศาล ซึ่งก็ว่าศาลไม่ได้อีกเช่นกันเพราะตัดสินไปตามหลักกฎหมาย
ในขณะเดียวกัน เอกชนก็ไม่ได้ทำอะไรผิด เขาผิดตรงไหน ในเมื่อมีมติ กพช. มติ คปก. อนุมัติให้เช่าที่ดินได้ ใครมันจะคิดว่าเช่าไปแล้ว ลงทุนไปแล้ว เป็นหมื่นล้าน กลับถูกเพิกถอน
ลักษณะอย่างนี้ วิชากฎหมายปกครองเรียกว่า “ความเชื่อถือไว้วางใจที่เอกชนมีต่อรัฐ” ซึ่งต้องได้รับความคุ้มครอง เอกชนจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายได้โดยชอบธรรม (พูดภาษาบ้านๆ คือรัฐชวนไปทำผิด จะให้เอกชนรับกรรมคนเดียวได้อย่างไร)
คำถามคือ ถ้าไม่มีใครผิด แต่ดันเกิด “ค่าโง่” ขึ้น แล้วจะทำไง จะใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดไปไล่เบี้ย กพช.คปก.ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ไหม แต่เอาผิดกันวินาศสันตะโรก็ไม่ช่วยอะไรกับความเสียหาย ทางที่ดี ฝ่ายกฎหมายรัฐบาลควรหาทางแก้ด้วยวิชากฎหมายดีกว่า
ลองปรึกษาเนติบริกรสิครับ น่าจะมีทางหนีทีไล่ เช่น ประกาศเพิกถอนที่ดิน ส.ป.ก.ตรงนั้น เปลี่ยนเป็นที่ดินของรัฐประเภทอื่น ที่ทำกังหันลมได้ เกษตรกรทำกินได้ “อุ้มที่ดินหนีกฎหมาย” ดื้อๆ นี่แหละ เนติบริกรถนัดนัก
วิธีแบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด จำคดีทวงคืน ปตท.ได้ไหม ศาลปกครองสูงสุดนัดพิพากษาวันที่ 14 ธ.ค.2550 สนช.ออก พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานมีผลบังคับใช้ 11 ธ.ค.2550 ศาลถือเป็นสาระสำคัญข้อหนึ่งซึ่งทำให้ ปตท.ไม่ต้องออกจากตลาดหุ้น