ปัจจัยกดดัน AOTลูบคมตลาดทุน
ราคาหุ้น AOT น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบไปอีกสักระยะ
ธนะชัย ณ นคร
ราคาหุ้น AOT น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบไปอีกสักระยะ
ถามว่าถึงช่วงเวลาไหน
คำตอบก็จะอยู่ที่ข้อตกลงระหว่างกรมธนารักษ์ กับ AOT นั่นแหละ
การจับเข่าคุยครั้งล่าสุด แม้จะมีความคืบหน้าบ้าง แต่ก็ยังไม่ใช่ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ธนารักษ์จะใช้วิธีการจัดเก็บค่าเช่าที่ดินจาก AOT อย่างไรกันแน่
ปัจจุบัน AOT มีสนามบินที่อยู่ภายใต้การบริการอยู่ 6 แห่ง
ไล่มาตั้งแต่สุวรรณภูมิ ดอนเมือง หาดใหญ่ ภูเก็ต เชียงใหม่ และเชียงราย
ค่าเช่าที่ AOT จ่ายให้กับธนารักษ์เฉลี่ยต่อปีนั้น อยู่ที่ประมาณ 2,200-2,300 ล้านบาท
แต่มูลค่าของค่าเช่าทั้งหมดนี้ จะเป็นในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิประมาณ 1,500 ล้านบาท
ที่ผ่านมา การคิดค่าเช่านั้น จะมีการคิดแบบการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ หรือ Revenue Sharing ที่จะมีการจัดเก็บไม่เกิน 5% และต่อมามีการเสนอให้จัดเก็บแบบใหม่คือ Return on Asset หรือ ROA
เหตุผลก็เพื่อ ให้สอดคล้องกับราคาประเมินที่ดินใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนสนามบินของ AOT
ที่ดินราชพัสดุ เป็นผู้ให้สัมปทานสนามบินสุวรรณภูมิเป็นระยะเวลา 30 ปี มาตั้งแต่ปี 2545
ต่อมาได้มีการขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนจากการใช้ที่ดินเมื่อครบอายุสัญญา 10 ปี
โดยจะมีการเพิ่มค่าเช่าจากเดิมเก็บจากส่วนแบ่งรายได้ 5% เปลี่ยนเป็นเก็บจากส่วนแบ่งรายได้ 5% และเก็บเพิ่มจากมูลค่าสินทรัพย์อีก 5%
แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของวันเริ่มต้นสัญญา
อย่างที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในภายใต้การบริหารของธนารักษ์
เขาเริ่มนับจากปี 2545
แต่ AOT เริ่มนับตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิเปิดทำการนั่นคือปี 2549
และทำให้วันครบสัญญาของ 2 หน่วยงานนี้แตกต่างกัน
หากยึดตามที่ราชพัสดุระบุ ก็หมายความว่าได้ครบกำหนดแล้วเมื่อปี 2555
ส่วนในมุมของ AOT จะครบกำหนดในปี 2559
และเหตุนี้เอง ทำให้ที่ดินราชพัสดุเรียกร้องค่าเสียหายย้อนหลังระหว่างปี 2555-2559 รวมเงินกว่า 2.07 หมื่นล้านบาท
และนั่นทำให้ราคาหุ้น AOT ร่วงทันทีในช่วงอาทิตย์ก่อนหน้านี้
ล่าสุดการหารือระหว่าง AOT กับธนารักษ์ เรื่องของการจัดเก็บค่าเช่านั้น ก็มีเสนอมาในรูปแบบ คือ 1.ส่วนแบ่งรายได้ หรือ Revenue Sharing ในอัตรา 5% สำหรับรายได้ทั้งหมดในพื้นที่ Aero
และ 2.การจ่ายค่าเช่าแบบผลตอบแทนเปรียบเทียบกับมูลค่าทรัพย์สิน หรือ ROA ในอัตรา 3% ของทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการการบิน (Non-aeronautical asset)
พื้นที่ส่วนที่ 2 ก็เช่น ร้าน King Power และพื้นที่เชิงพาณิชย์อื่นๆ
พื้นที่ส่วนนี้ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ราว 32,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็นเพียง 0.1% บนพื้นที่ 20,000 ไร่ ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ทั้งหมดนี้ ได้มีการให้ AOT ไปดีดลูกคิดอีกครั้งครับ
ถามว่าเพราะอะไร
คอตอบก็คือ ก็ให้ไปดูว่า หากใช้รูปแบบนี้ แล้วจะต้องจ่ายเพิ่มเท่าไหร่ กระทบกับผู้โดยสารหรือไม่
หรือหากสูงเกินไป ก็มาเจรจาต่อรองกันได้อีก
เรื่องการคิดค่าเช่านี้ยังมีเวลาหารือกันอีกพอสมควร
เพราะไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร รูปแบบใหม่นี้ ก็จะถูกนำมาให้ในปีงบของ AOT ในรอบปีหน้า หรือเดือนกันยายน 60–ตุลาคม 61
ส่วนเรื่องค่าเช่าจะคิดย้อนหลังหรือไม่นั้น ก็ต้องมาหารือกันใหม่อีก
ในด้านของนักวิเคราะห์เองนั้นเขาก็มีการคำนวณไว้ให้แล้วว่า หากออกมาสูตรไหน แล้ว AOT ต้องจ่ายอย่างไร และกระทบราคาหุ้นแค่ไหน
หรือบางทีอาจจะไม่กระทบเลยก็ได้
แต่หากยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน
ราคาหุ้น AOT ก็ยังขึ้นๆ ลงๆ ไปแบบนี้
เว้นแต่จะมีสตอรี่เจ๋งๆ ใหญ่ๆ เข้ามาช่วยดันหุ้นนั่นแหละ