ทางตันพลังงาน ขี่พายุ ทะลุฟ้า

ออกตัวมาทรงเดียวกันเลยกับการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่21 นั่นก็คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่


ชาญชัย สงวนวงศ์

 

ออกตัวมาทรงเดียวกันเลยกับการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่21 นั่นก็คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่า ก๊าซธรรมชาติจะหมดไปจากอ่าวไทยภายในเวลาไม่ถึง 10 ปีนับจากนี้ เริ่มแรกก็ดูท่ารัฐบาลทหารจะกล้า “หักดิบ” เอ็นจีโอ แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องกลับลำ

ต้องกลับไปทบทวนเรื่อง “แบ่งปันผลผลิต” ตามข้อเสนอของเอ็นจีโอ ซึ่งไม่เคยมีผลการศึกษาใดรองรับเลยว่าจะเป็นระบบที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่าระบบสัมปทาน

หากก๊าซหมดไปจากอ่าวไทย จะเกิดผลกระทบใหญ่หลวงทั้งการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งการนำเข้าจะมีราคาที่แพงกว่ามาก

ค่าไฟฟ้า ค่าโดยสารรถสาธารณะก็ต้องแพงขึ้น และต้นทุนประกอบการปิโตรเคมี ซึ่งมีโครงสร้างใหญ่โตมโหฬารก็ต้องสูงขึ้น

ใครจะรับผิดชอบหากวันนั้นมาถึง!

โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นี่ก็แรงต้น แต่ก็ต้องถอยหลังกลับไม่เป็นกระบวน หลังม็อบส่งกำลังประชิดทำเนียบ

ให้ตายเถอะ บ้านเมืองไทยนี่มันอะไรกันนักหนา เรียกร้องคุณภาพชีวิตที่สูงส่งชนิดต้องอยู่ในโลกที่ใสสะอาด และปราศจากมลพิษสภาวะ

แต่ค่าไฟก็ต้องถูกและต้องใช้พลังงานที่สะอาด

ในความเป็นจริง โรงงานไฟฟ้าอะไรก็หาเรื่องต่อต้านมันดะไปเสียทุกเรื่องนั่นแหละ

โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำก็ไม่เอาเพราะต้องเสียพื้นที่ป่า แต่ไม่คิดมุมกลับกันบ้างหรือไงว่า เมื่อมีน้ำ ป่าก็กลับฟื้นคืนสภาพได้ และอ่างเก็บน้ำก็เป็นทั้งแหล่งอาหาร และการชลประทานที่ช่วยได้ทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง

โรงไฟฟ้าชีวมวลนี่ก็ถูกต่อต้านว่าไปบุกรุกพื้นที่ป่า ไฟฟ้าจากขยะยิ่งถูกต่อต้าน หรือไฟฟ้าจากแกลบนี่ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการปล่อยฝุ่นละออง

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี่ก็เลิกพูดกันไปได้เลย ทั้งที่เป็นพลังงานสะอาดและต้นทุนไฟราคาถูก แต่คนไทยถูกฝังหัวเต็มสมองไปแล้วว่าเป็นพลังงานที่น่ากลัวที่สุด

โรงไฟฟ้าพลังงานลมก็เจอปัญหาพื้นที่ส.ป.ก.เข้าไปอีก กระทั่งโรงไฟฟ้าก๊าซก็เถอะ การลงมือสร้างไม่ใช่จะทำได้ง่ายดาย

ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ต่อต้านกันอย่างเอิกเกริกมาก นิทานปรัมปราเรื่อง “แม่เมาะสะอื้น” 40 กว่าปีมาแล้ว ยังเป็นฝันร้ายตามหลอกหลอนไม่เลิก

แม้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จะใช้เงิน 3 หมื่นล้านบาทลงทุนติดตั้งเครื่องจับโลหะหนักและก๊าซพิษอันตราย อาทิ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และฝุ่นละอองจนคุณภาพอากาศสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานแล้ว

แต่ “แม่เมาะสะอื้น” ก็ยังขายได้จนไม่มีโรงงานไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ใด แจ้งเกิดได้เลย

คนญี่ปุ่น คงจะไม่กลัวโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นสมองเหมือนกับคนไทย เพราะขนาดริมอ่าวโตเกียว ก็ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเปิดดำเนินการ โดยไม่มีการต่อต้านคัดค้านใดๆ เลย

กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนอยู่ในระบบปิดหมด ตั้งแต่ลำเลียงถ่านหินขึ้นจากเรือ ผ่านสายพานลำเลียงที่มีฝาปิดมิดชิดจนกระทั่งเข้าเตาเผา

โรงงานก็เรียบร้อยสะอาดดี ไม่มีกลิ่นกำมะถันออกมา ควันที่ขึ้นจากปล่อง ที่คนไทยบางส่วนไปจับผิดว่าเป็นฝุ่นควันมลภาวะ แท้จริงก็เป็นไอน้ำ ซึ่งอากาศที่ปล่อยออกไปก็เป็นอากาศที่ค่อนข้างบริสุทธิ์แน่นอน

ผมเคยไปเห็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สวิตเซอร์แลนด์ของกลุ่มโฮลซิมที่เข้ามาซื้อปูนกลาง นั่นแหละเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่ใจกลางเมืองซูริคเลย ธรรมดาซะที่ไหน

นอกจากนี้ ยังมียางรถยนต์เก่าเป็นเชื้อเพลิงเสริม แต่ไม่เห็นจะมีกลิ่น ฝุ่นหรือควันออกมาเพ่นพานทำลายชีวิตปกติสุขของชาวเมืองซูริคเลย

เมืองซูริคเป็นเมืองศูนย์กลางการเงิน การค้า และการท่องเที่ยวที่สำคัญระดับโลก แต่ไม่ยักจะกลัวโรงไฟฟ้าถ่านหินแฮะ ก็แปลกดี!

หนทางตีบตันจริงๆ เรื่องพลังงานประเทศไทย ที่เอาแต่ต่อต้านเทคโนโลยีอย่างไม่ลืมหูลืมตา รวมทั้งไม่เจียมตัว

Back to top button