พาราสาวะถี อรชุน
อุตส่าห์ออกคำสั่งไปยังสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัด ให้ประชาสัมพันธ์ไปยังพระภิกษุสามเณรในทุกจังหวัดให้งดการเดินทางมาร่วมชุมนุมขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ วัดพระธรรมกายและบริเวณโดยรอบ เนื่องจากจะมีความผิดตามกฎหมาย แต่ท้ายที่สุด พนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือพศ.ก็ไม่รอด ถูกมาตรา 44 ย้ายพ้นตำแหน่งไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี
อุตส่าห์ออกคำสั่งไปยังสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัด ให้ประชาสัมพันธ์ไปยังพระภิกษุสามเณรในทุกจังหวัดให้งดการเดินทางมาร่วมชุมนุมขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ วัดพระธรรมกายและบริเวณโดยรอบ เนื่องจากจะมีความผิดตามกฎหมาย แต่ท้ายที่สุด พนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือพศ.ก็ไม่รอด ถูกมาตรา 44 ย้ายพ้นตำแหน่งไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี
กลายเป็นว่า มาตรายาวิเศษที่นำไปใช้บังคับกับวัดพระธรรมกายยังไม่เห็นผลแต่กลับมีคนโดนมาตราดังว่าเล่นงาน คงไม่ต้องไปอ้างเหตุอื่นใด งานนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากบทบาทของพศ.ต่อการสนับสนุนการเข้าตรวจค้นของดีเอสไอแน่นอน เนื่องจากผู้มีอำนาจจดจ้องมองผอ.พศ.มานับตั้งแต่ปัญหาสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญแล้ว
อย่างที่บอกปมธรรมกายและธัมมชโย ลำพังมาตรา 44 ที่ใช้ควบคุมพื้นที่โดยหวังเปิดทางให้ดีเอสไอเข้าตรวจค้นได้สะดวกโยธิน อย่างที่เห็นเมื่อเจอกับโล่มนุษย์ที่เป็นพระและลูกศิษย์ที่มีความเชื่อ ศรัทธาอย่างแรงกล้า ก็ไปกันไม่เป็น เว้นเสียแต่จะใช้ความเด็ดขาดคือทหารเข้าไปจัดการ แต่ก็อีกนั่นแหละ นั่นย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสีย ซึ่งผู้มีอำนาจคงไม่พึงประสงค์จะเป็นผู้นำมือเปื้อนเลือดอย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนั้นก็คงต้องยื้อกันอย่างนี้ต่อไป
สรุปมาแล้วพร้อมกับการกางสถิติโดย วรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา ถึงปมการขาดการลงมติของ 7 สมาชิกสนช. แต่ก็ไม่รู้ว่าผู้ทำหน้าที่เลขาฯสนช.จะหลงลืม รีบร้อนเพื่อปกป้องกันจนเกินไปหรือเปล่า หรือว่าเราอ่านข้อกฎหมายกันไม่เข้าใจ เพราะสถิติที่ท่านรวบยอดกันทั้งปีแล้วบอกว่ามีการขาดลงมติเกินว่า 1 ใน 3 ของจำนวนการลงประชามติทั้งหมดนั้น เป็นการรวบยอดทั้งปี
เพราะเมื่อไปดูข้อกำหนดที่ระบุไว้ในข้อบังคับการประชุมสนช. พุทธศักราช 2557 ข้อ 82 ระบุว่า สมาชิกที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาเกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนครั้งที่มีการแสดงตนเพื่อลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลา 90 วัน ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง กรณีที่สมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติตามวรรคหนึ่งเนื่องจากได้ลาการประชุม มิให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นไม่แสดงตนเพื่อลงมติ
นั่นหมายความว่า การขาดความเป็นสมาชิกภาพต้องพิจารณากันในแต่ละไตรมาส ไม่ใช่ไปรวมทั้งปีแล้วคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 นี่เขาเรียกว่าการตีความแบบศรีธนญชัยหรือเปล่า ประเด็นตรงนี้ ศรีสุวรรณ จรรยา มีการตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจ กรณีของ 7 สนช. หากไปดูในจำนวนการลงมติทั้งหมดของสนช.ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2559 ซึ่งมี 203 ครั้ง บางคนมาลงมติ 0 ครั้ง เท่ากับว่า ไม่ได้มาประชุมในช่วงนั้น เหตุใดจึงไม่มีการเรียกมาตักเตือน
ด้วยเหตุนี้ศรีสุวรรณจึงลั่นที่จะเดินหน้าตรวจสอบต่อ เพราะมองว่าสิ่งที่สนช. ตรวจสอบมาไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้น ในสัปดาห์นี้จะไปยื่นเรื่องต่อสำนักงานป.ป.ช.ให้ตรวจสอบสนช. ทั้ง 7 คน กรณีเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ เพราะไม่มาร่วมประชุมลงมติการพิจารณาต่างๆ ของสนช. รวมทั้งให้ตรวจสอบ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. และ เลขาธิการวุฒิสภาด้วย
เนื่องจากเชื่อว่า ดำเนินการช่วยเหลือ 7 สนช. เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ประธานสนช.จะอนุญาตให้ลา โดยไม่มีข้อจำกัดและไม่เรียกมาตักเตือน เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ทั้งหมดแล้ว เข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ เพราะได้รับเงินเดือนเป็นแสนบาท แต่ไม่ยอมมาปฏิบัติหน้าที่ โดยที่ประธานสนช.คอยเอื้อประโยชน์ให้ ต้องมีความผิดตามไปด้วย
นอกจากนี้ จะไปยื่นเรื่องต่อเลขาธิการวุฒิสภาให้เปิดเผยบันทึกการเข้าประชุม และใบลาลงมติของ 7 สนช.ว่า ยื่นใบลาถูกต้องหรือไม่ มีสาเหตุลาเนื่องจากอะไร และมีลายเซ็นประธานสนช.กำกับจริงหรือไม่ เพราะเป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถเปิดเผยได้ ยืนยันว่า ข้อมูลที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์เปิดเผยถูกต้องแล้ว เพราะระบุว่า เป็นการลาลงมติในช่วง 90 วัน ไม่ใช่การลาประชุม
ด้วยเหตุจากข้อกังขาเช่นนี้ ศรีสุวรรณจึงอยากให้องค์กรอิสระอื่นมาทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้แทนสนช. เพราะถ้าให้สนช.ตรวจสอบกันเอง จะลูบหน้าปะจมูก สังคมไม่เชื่อถือ ประเด็นดังกล่าวใช่จะมีเพียงแต่ศรีสุวรรณที่เดินหน้าตรวจสอบมาตั้งแต่เห็นข้อมูลของไอลอว์ ล่าสุด วีระ สมความคิด ก็ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการการทำหน้าที่ของเลขาธิการวุฒิสภาด้วยเช่นกัน
โดยวีระเห็นว่า สถิติที่เปิดออกมานั้นจริงแค่ไหนไม่รู้ ทำไมไม่เปิดให้รู้ตั้งแต่ต้นที่ไอลอว์ออกมาแฉ ที่ผ่านมาทำไมเงียบ จนทำให้สังคมเข้าใจว่า คุณไปเตรียมหลักฐานมาแก้ต่างหรือไม่ เพราะตอนที่ไอลอว์เปิดข้อมูลก็ยืนยันชัดว่า ได้ขอหลักฐานการแสดงใบลา ทำไมตอนนั้นสภาไม่ให้ไปถ้ามีใบลาจริง แล้ววันนี้กลับมาบอกว่าข้อมูลไม่ตรงกัน ทำไมถึงหาข้อมูลนานขนาดนั้น
หากเป็นตนมีหลักฐานครบ จะแสดงทันทีไม่ต้องรอ กรณีแบบนี้ปรากฏมานับไม่ถ้วนแล้ว พอหน่วยงานรัฐมีความไม่โปร่งใสแล้วขอให้แสดงหลักฐาน กลับไปแก้ไขเอกสารเพื่อที่จะช่วยเหลือกัน ประเด็นนี้วีระยืนยันว่า ไม่ได้กล่าวหาลอยๆ แต่ขอตั้งข้อสังเกตในวันที่ถูกแฉประธานสนช.ออกมาอุ้มทันที โต้ทันควันบอกว่าไม่มีกระทำความผิด แต่ดันไม่ยอมโชว์ใบลา อย่างนี้เขาเรียกว่าปกป้องกันเอง
วันนี้การตรวจสอบกันเองของสนช.สังคมไม่เชื่อแล้ว ควรแก้ไขข้อบังคับการประชุมสนช.ไปเลยว่า ต่อจากนี้ในสมัยประชุมหนึ่ง สมาชิกต้องมาประชุมอย่างน้อย 90 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามาไม่ถึง 1ใน 3 ต้องหมดสมาชิกภาพ ไม่ต้องมีคำว่า ส่งใบลาครบลาตามจำนวนได้ เพราะกรณีนี้มันหมายถึงความเสียหายของงบประมาณแผ่นดิน ถ้าไม่มีเวลาทำงานก็ไม่ต้องมาทำ ยังมีคนอื่นอีกมากที่มีเวลาทำ
หรือหากประธานสนช.จะแถโดยหากกฎระเบียบอะไรก็ตาม ลองเอาสถิติที่เปิดเผยมาไปคิดหน่อยว่า กรณีที่มีคนได้รับอนุญาตลาลงมติตั้งแต่เกือบ 900 ครั้งไปจนถึงเกือบ 1,100 ครั้ง มันเป็นตัวเลขที่สมควรกับการต้องจ่ายเงินเดือนหลักกว่าแสนบาทอย่างนั้นหรือ จะอ้างว่าคนเหล่านั้นมีภารกิจอื่นที่ต้องไปทำเพื่อประเทศชาติเหมือนกัน ถ้าอย่างนั้นก็ให้รับเงินเพียงแห่งเดียว เพื่อแสดงให้เห็นว่าเสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริงดีไหม งานนี้มองมุมไหนต่อให้ไม่ผิดกฎหมายแต่ในแง่ความเหมาะสมหากเป็นคนที่ไม่ใช่อย่างหนาน่าจะต้องพิจารณาตัวเอง